คปภ.หนุนเกษตรกรที่ อ.เสิงสาง โคราช ผู้ปลูกกล้วยหอมทองส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น กว่า 1.2 พันไร่ มาเข้าระบบประกันภัยเพื่อใช้บริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ อันเป็นหลักประกันว่าจะได้รับการคุ้มครองและเยียวยาเมื่อเกิดเหตุ

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2567 ที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอเสิงสาง จ.นครราชสีมา นางสาวสุมดี วลีนนท์ รองเลขาธิการด้านกำกับคนกลางและประกันภัยภูมิภาค สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เป็นประธานเปิดโครงการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ประกันภัยเชิงรุกสู่ระดับภูมิภาคอย่างยั่งยืน ประจำปี 2567 โดยมี นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผวจ.นครราชสีมา หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชน ประชาชนร่วมกิจกรรมจำนวนมาก เพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นเข้าถึงระบบประกันภัย และสามารถนำระบบประกันภัยเข้ามาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงในชีวิตและทรัพย์สินได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะเกษตรกรที่มีความเสี่ยงในเรื่องของภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง ไฟไหม้ และลมพายุ ซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่เกษตรกรเป็นอย่างมาก

...

สำหรับกิจกรรมภายในงานได้มีการจัดการเสวนาในหัวข้อ ชาวสวนกล้วยหอมอุ่นใจ เมื่อมีประกันภัย การจัดบูธนำเสนอประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ประกันภัยและส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัย จากผู้แทนสมาคมประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงินจังหวัดนครราชสีมา โดยมีเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอมในพื้นที่อำเภอเสิงสางร่วมงานเป็นจำนวนมาก

นางสาวสุมดี วลีนนท์ รองเลขาธิการด้านกำกับคนกลางและประกันภัยภูมิภาค สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการลดภาระด้านงบประมาณและสร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพเกษตร ภาครัฐจึงเร่งพัฒนาระบบประกันภัยให้เกษตรกรเพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงผลกระทบที่เกิดจากภัยธรรมชาติ และกำหนดให้การประกันภัยเกษตรกรเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของการพัฒนาภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน

ด้าน นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า จากสถิติการเกิดภัยในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ปี 2566 เป็นภัยที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกร รวม 36,398 ไร่ ได้แก่ ภัยจากสัตว์ป่า เกิดใน 4 อำเภอ พื้นที่การเกษตรเสียหาย 49 ไร่ ภัยจากวาตภัย เกิดใน 31 อำเภอ พื้นที่การเกษตรเสียหาย 32 ไร่ ภัยจากอัคคีภัย เกิดใน 37 อำเภอ พื้นที่การเกษตรเสียหาย 251 ไร่ ภัยจากอุทกภัย เกิดใน 19 อำเภอ พื้นที่การเกษตรเสียหาย 36,066 ไร่ และภัยแล้ง เกิดใน 7 อำเภอ

...

ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวด้วยว่า ส่วนในพื้นที่อำเภอเสิงสางที่เป็นแหล่งปลูกกล้วยหอมที่มากที่สุดของจังหวัดนครราชสีมา มีเนื้อที่ปลูก 1,200 ไร่ มีปริมาณส่งออกไปสู่ตลาดญี่ปุ่นได้สูงสุด 8,000 ตัน และการปลูกกล้วยหอมมีความเสี่ยงได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ หากเกษตรกรได้นำระบบประกันภัยเข้าไปเป็นกลไกในการบริหารจัดการความเสี่ยงได้ อย่างน้อยจะเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรเป็นอย่างมาก.