ชาวสวนที่บ้านหนองหูลิง อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี ได้เฮฝนตกต่อเนื่อง เริ่มฤดูกาลเพาะปลูกผัก เอาไปขายตามตลาดนัดกำละ 10 บาท มีเงินเข้าบ้านไม่หยุด แถมมีพ่อค้ามารับซื้อถึงสวน รวมถึงร้านหมูกระทะก็รายได้งดงาม
นางศรีนวล พักแย้ม อายุ 55 ปี ชาวบ้านหมู่ 9 บ้านหนองหูลิง ตำบลเมืองการุ้ง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี เปิดเผยว่า สถานการณ์แล้งนั้นยาวนานมาก และได้หยุดปลูกผักไปเพื่อลดความเสี่ยง หากฝืนปลูกก็มีแต่ผักนั้นตาย พอเข้าต้นฤดูฝนในช่วงปลาย พ.ค. ที่ผ่านมา ฝนที่เริ่มตกจนถึงต้นเดือน มิ.ย. ทำให้ผืนดินเริ่มชุ่มชื้น สามารถปลูกผักได้ โดยตัวเองมีพื้นที่ 10 กว่าไร่ ปลูกผักแทบทุกอย่างที่นิยมนำไปทำอาหาร หรือประกอบอาหาร เช่น โหระพา กะเพรา ตะไคร้ ต้นหอม มะเขือยาว ผักบุ้งจีน ถั่วฝักยาว มะเขือเจ้าพระยา มะเขือเปราะ ผักคะน้า ผักกาดหอม ผักชี
...
ชาวบ้านหมู่ 9 บ้านหนองหูลิง เจ้าของสวนผัก กล่าวต่อว่า ผลผลิตที่ได้ทางสวน ไม่ได้ขายเป็นกิโลกรัมเหมือนสวนผักอื่น แต่นำผักเหล่านี้มามัดขายเป็นกำละ 10 บาท และผักสมุนไพร เช่น โหระพา และกะเพราขายกำละ 5 บาท พอเก็บผักในช่วงเช้าตรู่เสร็จก็จะนำไปขายในตลาดนัดตามแหล่งชุมชนต่างๆ และยังมีพ่อค้าที่ขายผักด้วยกันมารับซื้อ เพื่อนำไปขายตามตลาดนัดเหมือนกันอีกด้วย รวมถึงร้านหมูกระทะที่เปิดกันทั่วทุกอำเภอ ก็นำรถกระบะมาซื้อกันถึงที่เลย สำหรับผักของที่นี่ไม่ใช้สารเคมีเลย เป็นการปลูกแบบปลอดสาร โดยใช้น้ำหมักชีวภาพ และปุ๋ยอินทรีย์ หากใช้สารเคมีนั้นก็ห่วงคนที่นำไปกิน และเป็นการสิ้นเปลืองทุนที่ใช้ปลูกผักโดยเปล่าประโยชน์ แถมยังทำลายดินและสุขภาพของคนที่กิน
นางศรีนวล กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน ส่วนตัวชื่นชอบการปลูกผักมาก เพราะเป็นอาชีพที่เลี้ยงดูครอบครัวโดยไม่ต้องเดือดร้อนเลย ได้สามีเป็นคนช่วยการปลูก และยังลงแรงขับรถไถเองหว่านเอง และมีเพื่อนบ้านมาทำงานรับจ้างหยอดเมล็ดผัก และถอนวัชพืช เช่น หญ้าในแปลงผัก ในร่องผัก เท่ากับเป็นการสร้างงาน หารายได้ให้กับคนชุมชนอีกด้วย สาเหตุของการขายผักกำละ 10 บาทนั้นก็เพราะว่า ขายออกเร็วกว่าขายเป็นกิโลกรัม ซึ่งจากการที่แลกผักมานั้นสามารถสร้างรายได้อย่างงดงามมากในช่วงฤดูฝนไปจนถึงฤดูหนาวประมาณ 5-6 เดือน ส่วนช่วงแล้งก็หยุดปลูกไป
ชาวบ้านหมู่ 9 บ้านหนองหูลิง เจ้าของสวนผัก กล่าวด้วยว่า แหล่งน้ำสำรองของทางสวนที่นี่ก็มีการขุดบ่อไว้ และเดินท่อระบบรดน้ำแบบสปริงเกอร์ไว้รอบสวน ไว้ในกรณีที่ฝนไม่ตก โดยเป็นการวางแผนไว้ล่วงหน้านั่นเอง โดยไม่ใช่แต่เพียงปลูกขายอย่างเดียว หากเพื่อนบ้านในหมู่บ้านนั้นมาเที่ยวที่บ้านหรือมาหาก็จะแจกผักสดไปกินกันอีกด้วย ซึ่งเป็นวิถีแบบชาวบ้านอย่างแท้จริง ในการแบ่งปันน้ำใจหรือผูกมิตรภาพไว้ แถมรายได้ยังไม่ขาดมือเลยมีเงินเหลือเก็บพอที่จะดูแลสามีและตัวเองรวมถึงคนในครอบครัวไว้ใช้ในยามแก่ชราเลยก็ว่าได้.