ไปชมสวนทุเรียนที่บ้านโคกกลางพัฒนา อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ เกษตรจังหวัดหนุนขยายพื้นที่ปลูก หลังโกยรายได้รวม 300 ล้าน จากผลผลิต 1,700 ไร่ ขณะที่ตัวแทนล้งการันตีรับซื้อ กก.ละ 140-150 บาท เพราะตลาดจีนชอบ ต้องการสูง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศูนย์เครือข่าย ศูนย์เรียนรู้การปลูกทุเรียน นายยม คำยอด หมู่ที่ 13 บ้านโคกกลางพัฒนา ต.ศรีชมภู อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ นายจุมพฏ วรรณฉัตรสิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ พบปะสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียน และล้งที่มารับซื้อทุเรียน ตลอดทั้งเกษตรกรผู้สนใจที่จะปลูกทุเรียน โดยการจัดกิจกรรมในครั้งนี้สำนักงานเกษตรจังหวัดบึงกาฬ พร้อมด้วยหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เห็นถึงความสำคัญของทุเรียนที่สร้างรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันก็มีเกษตรกรที่สนใจจะปลูกทุเรียนมากขึ้นด้วย จึงจัดกิจกรรมครั้งนี้ขึ้นเพื่อเป็นการเรียนรู้แลกเปลี่ยนระหว่างกัน รวมถึงถ่ายทอดองค์ความรู้จากเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จให้กับเกตรกรที่สนใจ ตลอดทั้งเป็นการร่วมบูรณาการผลักดันในเชิงนโยบาย จากผู้บริหารระดับจังหวัด อำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน รวมถึงเกษตรกรทั่วไปมีรายได้ที่มากขึ้นจากการปลูกพืชทางเลือก

...

ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า รสชาติของทุเรียนบึงกาฬที่สวนแห่งนี้ไม่ได้ด้อยกว่าทุเรียนที่อื่นเลย แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าทางสวนได้มีล้งมารับซื้อไว้ทั้งหมดแล้ว แต่ทางอำเภอโซ่พิสัยจะมีการเก็บไว้ส่วนหนึ่งเพื่อจัดงานผลไม้ต่อไป ในด้านนโยบายนั้นจังหวัดบึงกาฬปลูกยาง 60% แต่ราคายางมีการขึ้นลงไม่ค่อยแน่นอน ดังนั้นในพื้นที่สวนยางสามารถปลูกพันธุ์ไม้อื่นๆ แซมได้ เช่น ที่สวนพ่อยมแห่งนี้มีทุเรียนด้วย เรียกว่าเป็นสวนทุเรียนเงินล้านได้เลย เพราะฉะนั้นแนวคิดของจังหวัดก็คือ ไม่อยากให้ปลูกพืชชนิดใดชนิดหนึ่ง อยากให้มีทั้งทุเรียน มีทั้งยาง มีทั้งอย่างอื่น เช่น การเลี้ยงผึ้ง หรือการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ดังนั้นจึงมีโอกาสแน่นอนสำหรับเกษตรกรที่จะมีรายได้มากขึ้น โดยในปีนี้คาดว่า บึงกาฬ จะมีรายได้จากการจำหน่ายทุเรียนประมาณ 300 กว่าล้านบาท

ด้านตัวแทน ล้งเพชรศิริ กล่าวว่า ล้งรู้จักทุเรียนของจังหวัดบึงกาฬ จากเพจเฟซบุ๊กซื้อขายทุเรียนคุณภาพ ซึ่งมีสมาชิกในจังหวัดบึงกาฬเข้าไปโพสต์ไว้ ล้งก็ลงมาดูพื้นที่เมื่อปีที่แล้ว มีการมาตรวจเช็กเนื้อทุเรียน ปรากฏว่าทุเรียนที่นี่มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาดจีน เป็นทุเรียนหนามเขียว มีเนื้อสีเหลือง เนื้อแห้งเป็นครีม ไม่แฉะน้ำ คือเวลาสุกจะไม่เละเป็นปลาร้า มีความหอมละมุนอ่อนๆ เป็นเอกลักษณ์ มีความโดดเด่นของพื้นที่ ไม่แพ้พื้นที่ในภาคอื่นๆ ซึ่งรสชาติหวาน มัน กลมกล่อม

ขณะที่ นายกฤษฎา พลสิทธิ์ เกษตรจังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า จังหวัดบึงกาฬ ได้มีการส่งเสริมด้านการเกษตรโดยมอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัดบึงกาฬได้ส่งเสริมพืชหลากหลายชนิดโดยเฉพาะพืชที่มีมูลค่าสูง โดยเฉพาะทุเรียนบึงกาฬ ที่วันนี้ถือว่าสร้างรายได้ให้กับพี่น้องชาวจังหวัดบึงกาฬ โดยในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬมีพื้นที่ปลูกทุเรียนที่เกษตรกรขึ้นทะเบียนไว้ประมาณ 3,000 ไร่ แต่ยังไม่ขึ้นทะเบียนประมาณ 5,000 ไร่ โดยภาพรวมมีเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนประมาณ 800 รายเศษ ฉะนั้นในพื้นที่ของทุเรียนบึงกาฬบ้านเราปีนี้มีพื้นที่ที่คาดว่าจะให้ผลผลิตประมาณ 1,700 ไร่ เฉลี่ยอยู่ที่ไร่ละประมาณตันครึ่ง ซึ่งเราจำหน่ายในราคาเฉลี่ยประมาณ 140-150 บาท/กิโลกรัม สามารถทำรายได้ให้พี่น้องเกษตรกรประมาณ 350 ล้านบาทเศษในปีนี้

...

เกษตรจังหวัดบึงกาฬ กล่าวต่อว่า ในด้านการตลาดไม่มีปัญหา เพราะเรามีล้งมาคอยรับซื้อถึงที่โดยผ่านส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง โดยขณะนี้ ทุเรียนบึงกาฬยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด และผู้บริโภค โดยทิศทางการปลูกทุเรียนของบึงกาฬ เราก็พยายามส่งเสริมให้กับพี่น้องเกษตรกรได้ปลูกทุเรียนมากยิ่งขึ้น โดยคำนึงถึงเรื่องความเสี่ยงด้วย ไม่ใช่เราจะส่งเสริมอย่างเดียว ทางเกษตรจังหวัดบึงกาฬพยายามมองถึงทิศทางการตลาดว่าพืชตัวไหนสามารถสร้างรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกร ไม่ใช่เรื่องทุเรียนอย่างเดียว ส่วนหนึ่งคือกล้วยหอมทองที่เราส่งออกไปต่างประเทศด้วย เพื่อไม่ให้เกษตรกรมีความเสี่ยงด้านการผลิต

...

นายกฤษฎา กล่าวอีกว่า สำหรับทิศทางในอนาคตนอกจากจะขยายพื้นที่ปลูกให้ได้ปีละ 5-10% แล้ว เรายังมีการส่งเสริมให้มีการจัดตั้งเป็นสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนจังหวัดบึงกาฬ โดยมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยมาให้ความรู้ รวมถึงตั้งเป็นทีมตรวจแปลงที่คอยดูแลกันและกัน และป้องกันการตัดทุเรียนอ่อนในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ ส่วนการปรับเปลี่ยนในการปลูกพืชทางเลือกนั้น ขณะนี้พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นยางพาราประมาณ 870,000 ไร่ การปรับจึงต้องค่อยปรับเปลี่ยน โดยให้เกษตรกรที่มีความสนใจได้เข้ามาเรียนรู้ในสวนทุเรียนที่ประสบความสำเร็จ เพราะต้นทุนการปลูกทุเรียนค่อนข้างสูง จึงต้องทำให้เกษตรกรมีความเสี่ยงน้อยที่สุดในการปลูกพืชทางเลือก

...

ส่วน นายยม คำยอด อายุ 72 ปี เกษตรกรเจ้าของสวนทุเรียน จ.บึงกาฬ กล่าวว่า ทุเรียนจำนวน 6 ไร่ แปลงนี้ปลูกเมื่อปี 24 เมษายน พ.ศ.2561 พันธุ์ทุเรียนซื้อมาจากปราจีนบุรี โดยได้มีการปลูกสับปะรดแซมทุเรียน ก็จะได้ผลผลิตสับปะรดก่อน และหลังจากสับปะรดหมดลูก เราก็เอาสับปะรดมาคลุมโคนทุเรียนเป็นปุ๋ย เรียกว่า Reborn Root รากทุเรียนก็จะขึ้นมาเป็นรากฝอย หาอาหารได้ดียิ่งขึ้น การเจริญเติบโตก็รวดเร็วสวยงาม โดยที่สวนปลูกทุกเรียนเอาไว้หลายสายพันธุ์ เช่น พันธุ์หมอนทอง นกกระจิบ หลงลับแล ก้านยาว และกระดุม รวมทั้งหมด 155 ต้น

เกษตรกรเจ้าของสวนทุเรียน จ.บึงกาฬ กล่าวต่อว่า ผลผลิตปีที่ผ่านมา ได้ประมาณ 900 ลูก จำหน่าย 800 ลูก กิโลกรัมละ 145 บาท ที่เหลือก็แจกลูกแจกหลานญาติพี่น้อง ปีที่แล้วพอจำหน่ายก็พอปลดล็อกต้นทุนได้ ปีนี้เช็กผลผลิตได้ 3,500 ลูก เฉลี่ยลูกละ 2.5 กิโลกรัม จำหน่ายกิโลกรัมละ 140 บาท แต่วันนี้มีล้งกำลังจะมาตัดแบบเหมาสวนทุกลูกในแปลง โดยเหตุผลที่ล้งมารับซื้อทั้งสวน เพราะปีที่แล้วเคยมารับไปแล้ว เขาบอกว่าเป็นทุเรียนที่หนามเขียว รสชาติใช้ได้ จึงคัดไปส่งเป็นเกรด A ที่ประเทศจีน 1,700 กิโลกรัม

นายยม กล่าวด้วยว่า ก่อนแปลงนี้ปลูกยางพารา หันมาปลูกทุเรียน เพราะได้ไปศึกษาดูงานที่ภาคตะวันออกบ้าง และภาคใต้บ้าง จึงมาลองปลูกที่สวนตัวเอง เพราะบางทียางก็ราคาตกต่ำ บางทีก็หาคนกรีดยาก จึงลองมาปลูกทุเรียน ให้มีหลายๆ ตัวเลือก แต่ก็ลงทุนสูงสักหน่อยสำหรับทุเรียน ส่วนทุนเอามาจากไหน ก็นำมาจากการเก็บสับปะรด เก็บกล้วย หรือพืชทุกชนิดที่ปลูกในแปลง ช่วงที่รอทุเรียนให้ผลผลิต พอขายได้ในระยะเวลาอันสั้น แล้วนำมาซื้อปุ๋ย และอื่นๆ ที่จำเป็น โดยหากเกษตรกรสนใจอยากศึกษา หรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้การปลูกทุเรียน ส่วนตัวพร้อมยินดีจะแนะนำให้จนสุดความสามารถ สามารถโทรมาก่อนได้ที่ 09-9739-5213.