จังหวัดกาฬสินธุ์ จับมือหอการค้าไทย ขับเคลื่อนสินค้า "กุ้งก้ามกรามกาฬสินธุ์" ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI ลำดับที่ 4 ของจังหวัดฯ มุ่งสร้างรายได้เกษตรกร และเพิ่ม GDP ภาคการเกษตร พร้อมจัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านการตลาดอย่างเป็นระบบครบวงจร 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (19 มี.ค. 2567) ที่ห้องประชุมศาลาร่มโพธิ์ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว สำนักงานชลประทานที่ 6 ต.ลำคลอง อ.เมือง นายธวัชชัย รอดงาม รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมชี้แจงการจัดทำคำขอสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ จังหวัดกาฬสินธุ์ (สินค้ากุ้งก้ามกรามกาฬสินธุ์) กล่าวรายงานโดย นายบุญธง เภาเจริญ ประมงจังหวัดกาฬสินธุ์ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คณะทำงานพิจารณาคำขอ ตรวจสอบ ควบคุมคุณภาพ และแหล่งที่มาของสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ จังหวัดกาฬสินธุ์ (กุ้งก้ามกรามกาฬสินธุ์) ร่วมประชุม ได้แก่ ประมงจังหวัด พาณิชย์จังหวัด สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัด ผู้แทนนายอำเภอเมือง/ยางตลาด/ห้วยเม็ก/หนองกุงศรี และเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ นอกจากนี้ยังมี นายอดิศร์ กฤษณวงศ์ กรรมการบริหารหอการค้าแห่งประเทศไทย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) และนายฉัตร์ชัยย์ วิรุฬห์วรวุฒิ ประธานหอการค้าจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมคณะกรรมการหอการค้าจังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมประชุมฯ จัดประชุมโดย มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ นำโดย ผศ.ดร.กีรวิชญ์ เพชรจุล คณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร พร้อมคณะ มีผู้แทนจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ร่วมเป็นวิทยากร

...

ดร.นิรุจน์ อุทธา หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ และคณะทำงานพิจารณาคำขอ ตรวจสอบ ควบคุมคุณภาพ และแหล่งที่มาของสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ สินค้ากุ้งก้ามกรามกาฬสินธุ์ เปิดเผยว่า กุ้งก้ามกรามกาฬสินธุ์ เป็นสินค้าเกษตรที่มีอัตลักษณ์โดดเด่น มีชื่อเสียง และอยู่ในแผนการขับเคลื่อนยกระดับขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ในปีงบประมาณ 2567 โดยได้รับการสนับสนุนจาก กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ มอบหมายให้ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ เป็นที่ปรึกษาทางวิชาการ และ จัดทำคำขอ ตรวจสอบ ควบคุมคุณภาพ และแหล่งที่มาของสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (สินค้ากุ้งก้ามกรามกาฬสินธุ์) มีกรอบระยะเวลาดำเนินงาน 180 วัน

มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ โดยคณะเทคโนโลยีการเกษตร จึงได้จัดประชุมชี้แจงการจัดทำคำขอสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ กุ้งก้ามกรามกาฬสินธุ์ แก่คณะทำงาน และเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกราม เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการจัดทำคำขอ การขึ้นทะเบียน การตรวจประเมินคุณภาพทุก 2 ปี ประโยชน์ที่จะได้รับ การขอใช้ GI ในต่างประเทศ ตลอดจนการลงโทษผู้กระทำความผิด ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ. 2546 

นอกจากนี้ ผู้แทนหอการค้าแห่งประเทศไทย ยังได้แจ้งต่อที่ประชุมฯ ว่า การส่งเสริมพัฒนากุ้งก้ามกรามกาฬสินธุ์ให้เป็นสินค้า GI ถูกบรรจุไว้ในแผนยุทธศาสตร์ของ หอการค้าแห่งประเทศไทย (หนังสือปกขาว) ทำให้กุ้งก้ามกรามกาฬสินธุ์เป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางทั่วประเทศ ดังนั้น ณ วันนี้ กุ้งก้ามกรามในประเทศไทย จะมีเพียง 2 กลุ่ม คือ 1.กุ้งก้ามกรามทั่วไป และ 2.กุ้งก้ามกรามกาฬสินธุ์ จะช่วยทำให้ผู้บริโภคหรือนักท่องเที่ยวเดินทางมาซื้อกุ้งก้ามกรามที่จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยหอการค้าไทย จะทำแผนการตลาดหลังจากได้ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI แล้ว คาดว่าจะช่วยสร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจชุมชน เพิ่ม GDP ภาคการเกษตรให้จังหวัดกาฬสินธุ์ได้อย่างเป็นรูปธรรม

...

ทั้งนี้ ปัจจุบัน จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้รับการรับรองสินค้า GI แล้ว จำนวน 3 รายงาน ได้แก่ (1) ผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์ รับรองเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2550 (2) ข้าวเหนียวเขาวงกาฬสินธุ์ รับรองเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2552 และ (3) พุทรานมบ้านโพน รับรองเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 และในปี 2567 จังหวัดกาฬสินธุ์กำหนดแผนงานขึ้นทะเบียน สินค้า GI เพิ่มอีก 3 รายการ ได้แก่ กุ้งก้ามกราม มะม่วงมหาชนก และมะพร้าวน้ำหอมภูสิงห์.