สมาชิกสหกรณ์นิคมด่านช้าง ปลื้มปลูกมะขามเทศจากอาชีพเสริม สู่รายได้หลัก พลิกชีวิตให้ชาวเกษตรกร อยู่ดี กินดี ส่งผลให้พ่อค้าตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง วิ่งมารับซื้อถึงที่
เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 67 นางสาวบุษยพรรณ อินยา ผู้จัดการสหกรณ์นิคมด่านช้าง จำกัด กล่าวว่า มะขามเทศพืชเศรษฐกิจท้องถิ่น ที่ชาวบ้านปลูกเป็นอาชีพเสริมรายได้ ปัจจุบันได้กลายเป็นพืชหลักทำรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำให้กับชาวบ้านที่อาศัยในพื้นที่นิคมสหกรณ์ห้วยขมิ้น จ.สุพรรณบุรี โดยการสนับสนุนของสหกรณ์นิคมด่านช้าง จำกัด ภายใต้โครงการส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาอาชีพแก่เกษตรกรสมาชิก ส่งผลทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกสหกรณ์ฯ ที่มีอยู่กว่า 2,000 รายดีขึ้นตามลำดับ
ปัจจุบันสหกรณ์นิคมด่านช้าง จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 2/1 ม.3 ต.หนองมะค่าโมง อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี ภายในนิคมสหกรณ์ห้วยขมิ้น ครอบคลุมพื้นที่ใน 3 อำเภอของ จ.สุพรรณบุรี คือ ด่านช้าง หนองหญ้าไซและเดิมบางนางบวช ซึ่งพื้นที่นี้เดิมอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติอยู่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ และบางส่วนถูกบุกรุกกลายเป็นป่าเสื่อมโทรม ต่อมาได้มีการจัดตั้งนิคมสหกรณ์ห้วยขมิ้นขึ้น โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฎรที่อาศัยอยู่ในนิคมฯ รายละไม่เกิน 50 ไร่ พร้อมรวมกลุ่มจัดตั้งสหกรณ์นิคมด่านช้าง จำกัด เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมด้านอาชีพและสวัสดิการต่างๆ สมาชิกส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำไร่ ทำนา ปลูกอ้อยข้าวโพด มันสำปะหลัง และทำสวนมะขามเทศ ผลผลิตเกือบทั้งหมดจะส่งพ่อค้าที่ตลาดไทและสี่มุมเมือง
...
ถึงแม้พืชเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างมะขามเทศจะสร้างรายได้ดีให้แก่เกษตรกรสมาชิก แต่ด้วยสภาพภูมิประเทศที่แห้งแล้งกันดาร ต้องเจอปัญหาขาดแคลนน้ำเข้าถึงแปลงปลูก โดยเฉพาะช่วงหน้าแล้ง ทำให้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่หลังจากกรมส่งเสริมสหกรณ์มีนโยบายสนับสนุนระบบน้ำในไร่นาแก่สมาชิกสหกรณ์ทั่วประเทศเมื่อปี 2563-64 โดยปล่อยสินเชื่อเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำร้อยละ 1 แก่สถาบันเกษตรกรผ่านกองทุนพัฒนาสหกรณ์ (กพส.) เพื่อนำไปปล่อยกู้ให้แก่สมาชิก ซึ่งปี 2563 สหกรณ์ฯ ได้ขอกู้มาเป็นจำนวนเงิน 1.5 ล้านบาท เพื่อมาปล่อยกู้กับเกษตรกรสมาชิก นำไปใช้เจาะบ่อน้ำ ขุดสระและพัฒนาระบบน้ำในแปลงเกษตรกรรม จากนั้นก็กู้ต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันเฉลี่ยปีละ 1.5-2 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาส่งคืน 4 ปี ซึ่งสหกรณ์ได้ปล่อยกู้ไปทั้งหมดรวมทุกโครงการ เป็นเงิน 37.7 ล้านบาท
"เงินที่สมาชิกกู้ไปนั้นส่วนใหญ่นำไปพัฒนาแหล่งน้ำ ถ้าไม่มีแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้ โดยเฉพาะในฤดูแล้งพืชผลจะได้รับความเสียหาย คณะกรรมการฯ สหกรณ์เห็นความสำคัญตรงจุดนี้ ทำให้การขับเคลื่อนการส่งเสริมอาชีพแก่สมาชิกจึงมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาแหล่งน้ำเป็นหลัก นอกจากการสนับสนุนเงินกู้ปีต่อปีของส่งเสริมสหกรณ์ฯ แล้ว สำนักงานสหกรณ์จังหวัดสุพรรณบุรีก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่มาให้คำแนะนำ ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านต่างๆ อีกด้วย มะขามเทศที่นี่จะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตตั้งแต่พ.ย.-มี.ค. โดยมีพ่อค้าจากตลาดไทและตลาดสี่มุมเมืองเข้ามารับซื้อถึงที่ในราคา กก.ละ 50-60 บาท" นางสาวบุษยพรรณกล่าว และว่า นอกจากนี้สหกรณ์ฯ ยังให้บริการลานมัน โดยประสานกับลานตากเอกชนเพื่อรองรับผลผลิตของสมาชิก ก่อนส่งโรงงานแปรรูป ปัจจุบันสหกรณ์ดำเนินธุรกิจด้านต่างๆ ประกอบด้วย ธุรกิจสินเชื่อปล่อยกู้ ซึ่งทำรายได้หลัก ธุรกิจรับฝากเงิน ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค ปุ๋ยยาและของใช้ทั่วไป ธุรกิจรวบรวมผลผลิตทางการเกษตร ตลอดจนธุรกิจปั๊มน้ำมัน (ดีเซล).