เกษตรกรโคราช ที่อ.เสิงสาง หันมาตัดอ้อยสดขายโรงงานในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวอ้อย ชี้ตัดสดได้ราคาดีกว่าอ้อยเผา ได้อ้อยที่มีคุณภาพ ลดฝุ่น PM 2.5 เพราะอ้อยเผามาจะหัก 90 บาทต่อตันเอาไปโปะให้อ้อยที่ตัดสด อีกทั้งตอนนี้รถตัดอ้อยเริ่มเยอะ ลดต้นทุนแรงงานคน ประหยัดเวลา

เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เนื่องจากพื้นที่อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา มีการปลูกอ้อยเป็นจำนวนมาก เมื่อถึงช่วงการเก็บเกี่ยว เมื่อก่อนเกษตรกรมักจะใช้วิธีการเผา แล้วจึงเก็บเกี่ยวผลผลิตไปขายโรงงาน แต่หลังจากที่ทางโรงงานและหลายหน่วยงานร่วมกันรณรงค์ให้ใช้วิธีการตัดอ้อยสดแทนการเผาอ้อยไปส่งโรงงาน เพื่อจะลดปัญหามลภาวะและลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 เกษตรกรจึงหันมาใช้วิธีตัดอ้อยสดขายกันมากขึ้น ซึ่งจะได้อ้อยที่มีคุณภาพ และยังขายได้ราคาดีกว่าอ้อยที่เผาไฟอีกด้วย

นายบุญเหลียน ผาสุข อายุ 51 ปี เกษตรกรปลูกอ้อยในตำบลบ้านราษฎร์ อำเภอเสิงสาง กล่าวว่า ปัจจุบันชาวไร่อ้อยพยายามลดการเผา เน้นการตัดอ้อยสดขายส่งโรงงานแทน เพราะจะได้ราคาดีกว่าอ้อยที่เผาไฟ ซึ่งหากเอาอ้อยที่เผาไฟไปขาย ทางโรงงานจะหักเงิน 90 บาทต่อ 1 ตัน แต่ถ้าเป็นอ้อยตัดสดจะขายได้ราคามากกว่า ซึ่งเงินที่บวกเพิ่มมานี้ ก็คือเงินที่หักมาจากอ้อยเผาไฟนั่นเอง

...

เกษตรกรปลูกอ้อยในตำบลบ้านราษฎร์ กล่าวต่อว่า ถ้าเกษตรกรนำอ้อยตัดสดไปขาย โรงงานจะให้สิทธิ์ได้ลงอ้อยก่อน ไม่ต้องไปรอต่อคิว ทำให้ไม่เสียเวลา อีกทั้งหากใช้รถตัดอ้อยแทนแรงงานคน ก็จะช่วยลดต้นทุนได้มากกว่าด้วย ซึ่งปัจจุบัน รถตัดอ้อยเริ่มมีจำนวนมาก ทำให้เกษตรกรประหยัดเวลาและยังมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าใช้แรงงานคนหลายเท่า

นายบุญเหลียน กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม การทำอ้อยไม่เผาไฟ เกษตรกรจะต้องวางแผนตั้งแต่แรกก่อนปลูก ต้องดูพื้นที่และวางแนวปลูกต้นอ้อย เว้นระยะห่างให้เหมาะสม เพื่อที่รถตัดอ้อยจะเข้าไปตัดอ้อยในพื้นที่ได้ แต่หากพื้นที่ใดที่รถตัดอ้อยเข้าไม่ได้ ก็จำเป็นต้องใช้แรงงานคนเข้ามาตัดแทน จึงอยากจะฝากไปถึงเพื่อนเกษตรกรปลูกอ้อย ช่วยกันรณรงค์ตัดอ้อยสด ลดการเผาเพื่อลดฝุ่นมลพิษ PM 2.5.