นายกสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 6 เผย ผลผลิตปี 66 ลดลงคาดอ้อยทั่วประเทศจะเหลือ 73 ล้านตัน ชี้การที่ในประเทศตรึงราคา 25 บาท จะทำให้น้ำตาลทะลักออกนอก ส่วนการขึ้นราคาน้ำตาลรอผลสรุปจากประชุมภายในเดือน พ.ย.66 เพราะต้องประกาศราคาอ้อยก่อนโรงงานเปิดหีบ

เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา นายมนตรี เลาหศักดิ์ประสิทธิ์ นายกสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 6 จ.กำแพงเพชร เลขาธิการสหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และยังมีตำแหน่งเป็นคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ปีนี้ชาวไร่อ้อยเจอสถานการณ์ภัยแล้ง คาดการณ์ว่าผลผลิตอ้อยคงลดลงประมาณ 30% ปีที่แล้วทั่วประเทศมีอ้อยจำนวน 73 ล้านตัน แต่ปีนี้น่าจะเหลือไม่เกิน 75 ล้านตัน ด้วยสาเหตุเพราะราคาอ้อยทำให้ขาดทุน เกษตรกรบางส่วนเลิกปลูกอ้อย หันไปปลูกพืชชนิดอื่นแทน เกษตรกรบางรายหมดปัญหาเรื่องภัยแล้งของปีนี้ด้วย ทำให้ต้นอ้อยแคระแกร็น ลำต้นเล็กและไม่ยาว อย่างเช่นในพื้นที่ จ.กำแพงเพชร ปีที่แล้วได้ผลผลิตประมาณ 7 ล้านตัน แต่ปีนี้คาดว่าจะเหลือประมาณ 5 ล้านตันเศษเท่านั้น

นายกสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 6 กล่าวต่อว่า ในด้านราคาตลาดโลก ขณะนี้น้ำตาลทรายขาวขึ้นไปถึงกิโลละ 40-50 บาท บางประเทศขึ้นไปถึงเกือบ 100 บาทต่อกิโลกรัม สาเหตุเพราะอินเดียเกิดภัยแล้ง ประกาศไม่ส่งน้ำตาลออก นอกจากนั้นยังมีสงครามในหลายประเทศ ทำให้หลายประเทศไม่ส่งออกน้ำตาล ดังนั้นทั่วโลกจึงต้องพึ่งน้ำตาลจากประเทศไทย จึงน่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่ประเทศไทยจะปล่อยให้ราคาน้ำตาลลอยตัวตามตลาดโลก ซึ่งจะทำให้ชาวไร่อ้อยอยู่ได้ ปริมาณการปลูกอ้อยก็จะเพิ่มขึ้นด้วย

...

นายมนตรี กล่าวอีกว่า ขณะที่ไทยได้ขึ้นราคาน้ำตาลไป 4 บาท เพียง 2 วัน แล้วถูกประกาศให้เป็นสินค้าควบคุม จนต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาประชุมในเรื่องนี้ ซึ่งประกอบด้วยกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับตัวแทนชาวไร่อ้อย ตั้งเป็นคณะกรรมการสมดุลอ้อยและน้ำตาล ได้มีการประชุมไปแล้วเบื้องต้นเมื่อวันที่ 2 พ.ย. ครั้งแรก และมีการประชุมต่อมาในวันที่ 6 พ.ย. 66 ที่ผ่านมาเป็นครั้งที่ 2 โดยเป็นข้อเสนอแนวทางกว้างๆ และในวันที่ 10 พ.ย. จะมีการประชุมกันอีก โดยต่างฝ่ายจะนำข้อเสนอ นำเอกสาร กฎระเบียบข้อบังคับและข้อมูลของทุกฝ่ายมาพิจารณา และการประชุมต้องแล้วเสร็จ ได้ข้อสรุปก่อนสิ้นเดือน พ.ย.นี้ เนื่องจากต้องประกาศราคาอ้อยเบื้องต้น ก่อนที่โรงงานจะเปิดทำการหีบอ้อย

"สำหรับเหตุผลการขึ้นราคาน้ำตาลอีก 2 บาทนั้น เพื่อนำมาให้ชาวไร่อ้อย เนื่องจากต้นทุนการทำอ้อยตกตันละ 1,450 บาท เพราะมีต้นทุนต่างๆ มากมาย ทั้งค่าแรงตัด ค่าบรรทุก ค่าปุ๋ยยา และค่าดูแล ค่าน้ำมัน ทุกอย่างเป็นต้นทุนการเพาะปลูกทั้งสิ้น ถ้าได้ขึ้นค่าน้ำตาลอีกโลละ 2 บาท ก็จะนำมาช่วยลดต้นทุนของชาวไร่อ้อยได้อีกตันละ 30 บาท ซึ่งจะทำให้ชาวไร่อ้อยไม่ต้องขาดทุนมาก แต่ถ้าไม่ได้ขึ้นราคาน้ำตาลอีก 2 บาท ก็ขอให้รัฐบาลหาเงินมาช่วยเหลือชดเชยชาวไร่อ้อยก็ได้" นายกสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 6 กล่าว

สำหรับค่าฝุ่น PM 2.5 รวมทั้งเขม่าควันพิษต่างๆ จากการเผาอ้อยนั้น แต่เดิมกำแพงเพชรเป็นจังหวัดที่มีการเผาอ้อยมากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ คือ เผาอ้อยทั่วทั้งจังหวัดมากถึงกว่า 90% แต่ในระยะต่อๆ มา ชาวไร่อ้อยเห็นถึงปัญหาของสังคม จึงได้ร่วมมือกันลดการเผาอ้อยแล้วหันมาตัดอ้อยสด จนปีที่ผ่านมา ปริมาณการเผาอ้อยลดลงมาเหลือแค่ 5% เท่านั้น และในปีนี้คาดว่าการเผาอ้อยจะลดลงอีก ทั้งนี้ เรื่องฝุ่น PM 2.5 และควันพิษกับเขม่า ทางรัฐบาลต้องให้การสนับสนุนช่วยเหลือด้วย เนื่องจากเครื่องจักรในการตัดอ้อยสดค่อนข้างแพง ชาวไร่อ้อยขนาดกลางไม่สามารถหาซื้อได้.

...