ชาวนาที่บ้านแปะ โคราช ให้ความเห็นกรณีรัฐให้ 1,500 บาท/ตัน จูงใจชาวนาเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง 5-6 เดือน ตามโครงการชะลอขายข้าวเปลือก ความจริงแทบเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่มียุ้งฉาง และต้องรีบขายข้าวเอาเงินมาใช้หนี้ ถ้าจะให้ดีอยากให้รัฐช่วยค่าเก็บเกี่ยวดีกว่า

เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณลานวัดเจริญสามัคคี (วัดบ้านแปะ) นายแดง ปิตะแสง อายุ 64 ปี เกษตรกรชาวบ้านแปะ หมู่ที่ 8 ต.สีมุม อ.เมือง จ.นครราชสีมา พร้อมครอบครัว ได้นำข้าวเปลือกที่เพิ่งเก็บเกี่ยวจากนามาตากแดดเพื่อไล่ความชื้น ก่อนที่จะเก็บใส่กระสอบเพื่อนำไปเก็บไว้ในยุ้งฉาง สำหรับทำเป็นเมล็ดพันธุ์ และส่วนหนึ่งไว้บริโภคในครอบครัว แม้ว่าวันนี้ (7 พ.ย.) ทางรัฐบาล โดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เตรียมที่จะเสนอเข้าที่ประชุม ครม.ให้พิจารณาอนุมัติงบประมาณกว่า 1 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการสินเชื่อช่วยเกษตรกรชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี มีเป้าหมาย 3 ล้านตัน โดยจะช่วยค่าเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง 1-5 เดือน ตันละ 1,500 บาท ให้กับเกษตรกร เพื่อป้องกันราคาข้าวตกต่ำ

...

นายแดง ปิตะแสง กล่าวว่า ปีนี้ครอบครัวของตนเองปลูกข้าวหอมมะลิบนพื้นที่นาประมาณ 20 ไร่ ได้ข้าวเปลือกประมาณ 12 ตัน แต่ได้นำไปขายแล้วประมาณ 10 ตัน ที่เหลืออยู่ประมาณ 2 ตันนี้ ส่วนหนึ่งจะเก็บไว้ทำพันธุ์สำหรับการเพาะปลูกฤดูกาลหน้า และอีกส่วนหนึ่งไว้บริโภคในครอบครัว ทั้งนี้สำหรับโครงการให้เงินช่วยเหลือเกษตรกร ชะลอการขายข้าวเปลือกนั้น ตนเองก็สนใจอยู่ แต่ก็เหมือนกับเกษตรกรทั่วไป ที่ไม่สามารถเก็บข้าวเปลือกไว้ได้ เพราะเกษตรกรที่เป็นชาวนาส่วนใหญ่จะไปกู้ยืมเงินโรงสีมาก่อน เพื่อที่จะทำเป็นทุนในการลงทุนเพาะปลูกข้าวในแต่ละปี โดยมีการทำสัญญากับทางเจ้าหน้าเงินกู้คือโรงสีว่าจะนำเงินมาคืนในช่วงที่เก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ซึ่งจะนำไปขายให้กับโรงสี และหักหนี้ไปพร้อมกัน

เกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิโคราช กล่าวต่อว่า ส่วนข้าวเปลือกที่เหลือจากเงินกู้ก็จะเป็นผลกำไรของเกษตรกรที่จะนำไปใช้จ่ายในครอบครัว ขณะเดียวกันยุ้งฉางของตนเองก็ไม่ได้ใช้เก็บข้าวเปลือกมานานแล้ว ก็มีการผุพังไปเป็นธรรมดา จึงเหลือข้าวเปลือกใส่กระสอบไปตั้งไว้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น ดังนั้นการจะให้นำข้าวเปลือกไปเก็บไว้ในยุ้งฉางเป็นระยะเวลา 5-6 เดือนนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

นายแดง กล่าวด้วยว่า สิ่งที่เกษตรกรอยากให้รัฐบาลช่วยตอนนี้ก็คือการช่วยเหลือเรื่องค่าเก็บเกี่ยวมากกว่า เพราะทุกวันนี้ค่าเก็บเกี่ยวประมาณไร่ละ 600 บาท และค่าแรงก็สูงขึ้นเรื่อยๆ ถ้าได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลก็คงจะแบ่งเบาภาระเกษตรกรชาวนาได้เป็นอย่างมาก.