เลขาธิการสมาพันธ์ชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย ระบุ รัฐอัดฉีดเงิน 4.2 พันล้าน ช่วยลดดอกเบี้ยสมาชิกสหกรณ์การเกษตร แค่แก้ปัญหาระยะสั้น เสนอใช้นโยบายประกันรายได้เกษตรกรจะเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนกว่า

จากกรณีที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมสหกรณ์สำรวจข้อมูลหนี้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร เพื่อเสนอ ครม.พักหนี้สมาชิกสหกรณ์การเกษตร ที่มีมูลหนี้รวมไม่เกิน 3 แสนบาท จำนวนสมาชิกกว่า 7 แสนราย รวมมูลหนี้กว่า 8.8 หมื่นล้านบาท โดยจะขอความเห็นชอบรัฐบาลช่วยจ่ายเงินชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่สหกรณ์และกลุ่มเกษตรแทนสมาชิก ในอัตราร้อยละ 4.5 ต่อปี เป็นเวลา 3 ปี โดยคาดว่า จะต้องใช้เงินงบประมาณ 4,296 ล้านบาท เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึง 30 กันยายน 2569 นั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2566 นายธีระชาติ เสยกระโทก เลขาธิการสมาพันธ์ชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ขณะนี้ เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังส่วนใหญ่จะพากันออกจากการเป็นสมาชิกของสหกรณ์การเกษตร เพื่อเข้าไปเป็นสมาชิกของ ธ.ก.ส. จำนวนมาก ทำให้เกษตรกรที่เป็นกลุ่มสมาชิกสหกรณ์การเกษตรเหลือน้อยมาก โดยที่ จ.นครราชสีมา เสมือนเมืองหลวงแห่งมันสำปะหลัง มีเกษตรกรที่ลงทะเบียนเป็นผู้ปลูกมันสำปะหลัง จำนวน 73,350 ครัวเรือน มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง ประมาณ 1.5 ล้านไร่ ผลผลิตแต่ละปีประมาณ 5.4 ล้านตัน แต่เป็นสมาชิกของสหกรณ์การเกษตรแค่ 5%

...

เลขาธิการสมาพันธ์ชาวไร่มันฯ กล่าวต่อว่า ส่วนอีก 95% เป็นสมาชิกของ ธ.ก.ส.กันหมด เนื่องจากสหกรณ์การเกษตรให้วงเงินกู้ที่จำกัด เพียงคนละไม่เกิน 80,000 บาท และยังมีเงินดอกเบี้ยที่สูงกว่า ธ.ก.ส.อีกด้วย ปัจจุบันดอกเบี้ยสหกรณ์ฯ คิดอัตราร้อยละ 8 บาท แต่ ธ.ก.ส.ร้อยละ 4 บาทเท่านั้น และคนที่เป็นสมาชิกของสหกรณ์การเกษตร ก็ไม่สามารถไปกู้ ธ.ก.ส.ได้ ทำให้เกษตรกรออกจากการเป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตร ไปเป็นสมาชิก ธ.ก.ส.กันหมด เพราะส่วนใหญ่เกษตรกรต้องการกู้วงเงินประมาณ 2-3 แสนบาท ไปลงทุนเพาะปลูกพืช

นายธีระชาติ กล่าวอีกว่า กรณีที่ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เสนอแนวทางการช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์การเกษตรดังกล่าว ตนมองว่า ดีในระดับหนึ่ง เพราะจะช่วยให้สหกรณ์การเกษตร ลดอัตราดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรลงบ้าง แต่เป็นการช่วยเหลือในระยะสั้นแค่ 3 ปีเท่านั้น ไม่ใช่การช่วยเหลือระยะยาว เพราะสิ่งที่เกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลังอยากจะให้ช่วยเหลือ ก็คือ การประกันรายได้ต่อไร่ด้วย เช่น ฤดูเพาะปลูกมันสำปะหลังปี 66/67 ซึ่งจะเริ่มเพาะปลูกกันในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2567 ขอให้รัฐบาลช่วยประกันรายได้เกษตรกรต่อไร่ ว่า เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตจะได้ไร่ละกี่บาท

...

เลขาธิการสมาพันธ์ชาวไร่มันฯ กล่าวด้วยว่า ถ้าได้ประกันรายได้ 14,000 บาทต่อไร่ ซึ่งเป็นการคิดเฉลี่ยจากผลผลิตต่อไร่ ไร่ละ 5 ตัน ในอัตราราคาหัวมันสำปะหลัง กิโลกรัมละ 2.80 บาท ซึ่งถ้าปีนั้น เกษตรกรขายหัวมันสำปะหลังได้ไม่ถึงไร่ละ 14,000 บาท รัฐบาลก็จ่ายส่วนต่างดังกล่าวให้เกษตรกร จะเป็นการช่วยเหลือทำให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยระหว่างนั้นรัฐบาลก็ควรที่จะมาส่งเสริมเรื่องของการเพิ่มผลผลิตให้กับเกษตรกรอย่างต่อเนื่องด้วย โดยนี่คือแนวทางการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง.