4 องค์กรหลักกลุ่มชาวไร่อ้อยของไทย สรุปมาตรการเด็ดขาดจะปิดโกดังโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ 5 พ.ย. 66 กันน้ำตาล 70% ส่วนของเกษตรกร เพื่อดูความชัดเจนของรัฐบาล ต่อการช่วยเหลือการตัดอ้อยปี 2565/66 ว่าจะจ่ายชดเชยแก่เกษตรกร 8 พันล้านอย่างไร

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 นายมนตรี เลาหศักดิ์ประสิทธิ์ นายกสมาคมชาวไร่อ้อย เขต 6 กล่าวถึงกรณีจากการประชุมของคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอให้พิจารณาเรื่องการให้น้ำตาลทรายเป็นสินค้าควบคุม เพื่อป้องกันการกำหนดการขึ้นราคาหรือราคาจำหน่าย หรือกำหนดเงื่อนไขปฏิบัติอันไม่เป็นธรรม และกำกับดูแลสินค้าน้ำตาลทรายให้มีราคาที่เป็นธรรมและมีปริมาณเพียงพอ ซึ่งก่อนหน้านี้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สนอ.) ได้มีการปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายบริสุทธิ์หน้าโรงงาน กิโลกรัมละ 4 บาท ทำให้ราคาปลีกน้ำตาลต้องขยับขึ้นตามนั้น 

นายมนตรี กล่าวว่า จริงๆ แล้วการปรับขึ้นราคาน้ำตาล 4 บาท เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ที่ผ่านมานั้น เป็นมติความเห็นชอบของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล (กน.) ที่พิจารณาแล้วเห็นว่าสถานการณ์น้ำตาลโลกในปัจจุบันมีราคาที่สูงกว่าประเทศไทยจำนวนมาก ขณะที่เราจำหน่ายน้ำตาลในราคา 20-23 บาท แต่ราคาของตลาดโลกจำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 40-50 บาท และที่ผ่านมา เมื่อประมาณปี 2560/2561 ประเทศไทยได้ถูกประเทศบราซิล ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของโลก ได้ร้องในเรื่องของราคาน้ำตาลของประเทศไทย ที่รัฐบาลได้เข้าไปอุดหนุนราคาน้ำตาลช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย จนทำให้เกิดผลกระทบต่อการจำหน่ายน้ำตาลในตลาดโลก รัฐบาลจึงได้ปล่อยให้ราคาอ้อยและน้ำตาลลอยตัวมา 3-4 ปี ส่งผลให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยต้องแบกรับภาระการขาดทุนมาโดยตลอด

...

นายกสมาคมชาวไร่อ้อย เขต 6 กล่าวต่อว่า วันนี้การปรับราคาน้ำตาล 4 บาทนั้น เป็นการแบ่ง 2 ส่วนหลักๆ คือ ส่วนที่ 1 เงินจำนวน 2 บาท แบ่งให้กับกองทุนน้ำตาล 2 บาท และอีก 2 บาท เป็นการช่วยเหลือ ก็จะช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่แบกรับปัญหา โดยเฉพาะต้นทุนการผลิตหรือการปลูกอ้อยมีราคาที่สูงมาเป็นเวลานาน หากเราไม่มีการปรับตัวตามที่มติของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล ขณะที่เพื่อนบ้านใกล้เคียงเรานั้นมีราคาน้ำตาลทรายสูงกว่าของประเทศไทย ก็จะส่งผลให้น้ำตาลทะลักออกสู่ประเทศเพื่อนบ้านแบบผิดกฎหมาย โดยเฉพาะกองทัพมดที่พร้อมจะลักลอบส่งออกน้ำตาลเหล่านี้ไปสู่ประเทศที่บริโภคน้ำตาลแพงกว่าประเทศไทย อนาคตน้ำตาลภายในประเทศก็จะขาดตลาดทันที

นายมนตรี กล่าวอีกว่า ในวันนี้ องค์กรหลักเราได้มีการพูดคุยใน 4 องค์กรหลัก ได้แก่ สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย, ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน, สหสมาคมชาวไร่อ้อย แห่งประเทศไทย, สมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ได้สรุปกำหนดมาตรการขั้นเด็ดขาดด้วยกัน คือการปิดโรงงานผลิตน้ำตาลทั่วประเทศ พร้อมกันในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2566 เพื่อไม่ยอมให้นำน้ำตาลในส่วนของเกษตรกรชาวไร่อ้อย สัดส่วน 70% เพราะหากจำหน่ายไปแล้ว เราก็จะขาดทุน ส่วนน้ำตาลที่เหลืออีก 30% ที่เป็นโควตาของโรงงาน ก็จะปล่อยเป็นเรื่องโรงงาน เราไม่ยุ่งเกี่ยว หากจะปล่อยไปจำหน่าย สำหรับการเตรียมปิดโรงงานน้ำตาลครั้งนี้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำตาลในฤดูหีบอ้อย

"ดังนั้นข้อเรียกร้องของการปิดโรงงานน้ำตาลในครั้งนี้ เพื่อต้องการให้รัฐบาล โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ตอบการแก้ปัญหาที่จะช่วยเหลือเกษตรกรในส่วนเงิน 2 บาท ให้ชัดเจนว่าจะทำอย่างไร ประการที่ 2 คือ เงินจำนวน 8,000 ล้านบาท ที่จะช่วยเหลือการตัดอ้อยปี 2565/66 ตันละ 120 บาท ที่ค้างแก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยจะทำเช่นไร ซึ่งการปิดโกดังในครั้งนี้ ถือเป็นมาตรการขั้นเด็ดขาดจนกว่าจะได้ข้อสรุปในการช่วยเหลือจากรัฐบาลที่ชัดเจน" นายกสมาคมชาวไร่อ้อย เขต 6 กล่าว

หลังจากเสร็จสิ้นแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนแล้ว นายกสมาคมชาวไร่อ้อย เขต 6 ได้เปิดห้องประชุมกับคณะกรรมการบริหารของสมาคมชาวไร่อ้อย เพื่อกำหนดมาตรการและแบ่งหน้าที่ในการเคลื่อนไหวไปยังโรงงาน เพื่อปิดโกดังโควตาส่วน 70% ของสมาคมชาวไร่อ้อยไม่ให้ออกสู่ตลาดในครั้งนี้.