ตัวแทนสมัชชาเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคใต้ ยื่นหนังสือต่อ "ธรรมนัส" เพื่อขอให้เร่งแก้ไขปัญหาราคาสุกรภาคใต้ตกต่ำ หลังขายได้เพียงราคา 50-55 บาท/กก. ทั้งที่ต้นทุนอยู่ที่ 75-80 บาท/กก. โดยขอให้มีแผนแก้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. ที่ห้องประชุมมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ตัวแทนสมัชชาเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคใต้ ประกอบด้วย นายชธิต ภักดีบุรี และนายเฉลิมพล มานันตพงศ์ พร้อมคณะ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในโอกาสเดินทางมาปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ จ.พัทลุง เพื่อเรียกร้องให้ ร.อ.ธรรมนัส ได้เร่งแก้ไขปัญหาราคาสุกรในพื้นที่ภาคใต้มีราคาตกต่ำมาอย่างต่อเนื่อง โดยให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็น 3 ระยะ ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
ตัวแทนสมัชชาเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคใต้ กล่าวต่อว่า สำหรับการแก้ปัญหาในระยะสั้นนั้น ขอให้ภาครัฐเข้ามาช่วยผลักดันราคาขายสุกรในพื้นที่ให้เป็นไปตามโครงสร้างการผลิต สุกรและการสมดุลกับการซื้อขายในตลาด เนื่องจากในขณะนี้ราคาต้นทุนการผลิตสุกรอยู่ที่ราคา 75-80 บาท/กก. แต่ขายได้เพียงราคา 50-55 บาท ต่อกิโลกรัม
นายชธิต เปิดเผยอีกว่า สำหรับในระยะกลาง ขอให้ภาครัฐช่วยเพิ่มช่องทางการส่งออกสุกรไปยังประเทศเพื่อนบ้านในช่องทางที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อลดการสะสมของสต๊อกที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากในเขตภาคใต้จะเข้าสู่ช่วงฤดูกาลฝนในช่วงปลายปี และในระยะยาว อยากให้ภาครัฐเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบ ได้จัดทำระบบฐานข้อมูลการผลิตสุกรในพื้นที่เขตภาคใต้ เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการเกิดความสมดุลระหว่างผู้เลี้ยงรายย่อยและผู้เลี้ยงรายใหญ่
ตัวแทนสมัชชาเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคใต้ กล่าวด้วยว่า ในปี 2566 นี้ แม่พันธุ์สุกรภาคใต้มีประมาณ 100,000 ตัว ลูกสุกรขุนประมาณ 700,000 ตัว ขณะนี้สุกรเกินโควตาล้นตลาดประมาณ 30,000 ตัว / เดือน จนส่งผลกระทบต่อผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยอย่างรุนแรง รัฐบาลจึงต้องสนับสนุนการส่งออกสุกรออกสู่ประเทศมาเลเซีย และเวียดนาม ซึ่งหากสามารถส่งออกไปต่างประเทศได้ถึงประมาณ 5,000 ตัว / เดือนนั้น จะทำให้เกิดความคล่องตัวกับผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยอย่างแน่นอน และจะทำให้การแก้ไขปัญหาราคาสุกรภาคใต้ไปในทิศทางที่ดี.
...