ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยภาคใต้กว่า 500 คน ร่วมประชุมเสนอแนวคิด เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาราคาที่ตกต่ำ โวยลั่นราคาหมูตกต่ำที่สุดในรอบ 30 ปี วอนกระทรวงพาณิชย์เร่งแก้ปัญหาด่วน เพราะตอนหมูแพงเข้ามากดราคาแต่พอราคาตกไม่มาดูแลเลย

ผู้สื่อข่าว จ.พัทลุง รายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2566 ที่ห้องประชุมโรงแรมร้อยทองรีสอร์ต อ.ควนขนุน จ.พัทลุง นายวิสุทธิ์ ธรรมเพชร นายก อบจ.พัทลุง เป็นประธานในการประชุมกลุ่มสมัชชาผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อรวมตัวกันเสนอแนวคิดข้อเรียกร้องต่อภาครัฐในการแก้ไขปัญหาสุกรราคาตกต่ำในพื้นที่ภาคใต้ต่อรัฐบาล โดยมีผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยในพื้นที่ภาคใต้เข้าร่วมประชุมจากจังหวัดต่างๆ มากกว่า 500 คน โดยทางสมัชชาฯได้เปิดโอกาสให้เกษตรกรจากจังหวัดต่างๆ ได้แสดงออกถึงความเดือดร้อนกันอย่างถ้วนหน้า

นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า ส่วนตัวเข้าใจถึงความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู เนื่องจากตนเคยเลี้ยงหมูมาก่อน และในช่วงที่เกิดโรคระบาดนั้นตนได้นำหมูในคอก จำนวน 472 ตัวไปฝังในเนื้อที่ 2 ไร่มาแล้ว ซึ่งตนในฐานะรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติที่ดูแลในพื้นที่ภาคใต้ จะได้นำปัญหาดังกล่าวไปแจ้งต่อนายอนุชา นาคาศัย รมช.เกษตรและสหกรณ์ฯ เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไป

...

ด้าน นายชลิต ภักดีบุรี เลขานุการกลุ่มสมัชชาผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยในพื้นที่ภาคใต้ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าต้นทุนการผลิตสุกรของภาคใต้มีต้นทุนที่สูงกว่าภาคอื่นๆ และมียอดจำหน่ายที่ต่ำกว่าภาคอื่นๆอีกด้วย ชาวบ้านที่เข้ามาร่วมประชุมในวันนี้นั้น ในแต่ละคนจะขาดทุนตัวละ 3,000-4,000 บาท จึงต้องแก้ปัญหาในระยะสั้นโดยการเร่งส่งหมูออกจำหน่ายในต่างประเทศ และการปรับราคาหมูให้สูงขึ้น ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้มากกว่า 500 คนนั้น ต่างได้เรียกร้องให้รัฐบาลปรับโครงสร้างราคาต้นทุนให้ต่ำลง และให้สอดคล้องกับความเป็นจริงในปัจจุบัน อีกไม่นานภาคใต้จะย่างเข้าฤดูฝนจึงต้องปรับจำนวนการเลี้ยงสุกรให้น้อยลง และให้รัฐบาลเข้ามาดูแลราคาหมูปลายทางด้วย ส่วนปัญหาราคาอาหารสัตว์แพงนั้น สาเหตุสำคัญมาจากภาคใต้ไม่มีโรงงานผลิตอาหารสัตว์

ขณะที่ นายสำรอง รักชุม อายุ 49 ปี เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยของ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เผยว่า สถานการณ์การเลี้ยงสุกรเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา โดยไม่มีใครที่คาดคิดมาก่อนว่าหลังจากที่เกิดโรคระบาดในปี 2564-2565 จำนวนสุกรจะมากมายกันถึงขนาดนี้ ส่วนสาเหตุที่ทำให้ราคาหมูตกต่ำนั้นมาจากดีมานด์และซัพพลายไม่ตรงกันจนทำให้หมูล้นตลาด ส่วนสาเหตุที่หมูล้นตลาดนั้นมาจากปัญหาการลักลอบหมูเถื่อนเข้ามาในประเทศเป็นจำนวนมาก และการขยายตัวของบริษัทที่เลี้ยงสุกรรายใหญ่อย่างต่อเนื่อง

เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย จ.พัทลุง กล่าวด้วยว่า ขณะที่ราคาอาหารหมูก็แพง แต่ราคาซื้อขายหมูในขณะนี้มีเพียงแค่ราคากิโลกรัมละ 50-57 บาทเท่านั้น ส่วนราคาต้นทุนการผลิตมีสูงถึงกิโลกรัมละ 75-80 บาท จึงขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงพาณิชย์ได้เร่งเข้ามาแก้ไขปัญหาให้กับสมาชิกของกลุ่มสมัชชาฯด้วย เนื่องจากในตอนที่หมูราคาสูงกระทรวงฯเข้ามากดราคาไม่ให้สูง แต่เมื่อหมูราคาตกต่ำทางกระทรวงฯ ไม่เคยเข้ามาดูแลความเดือดร้อนของเกษตรกรแต่อย่างใด.