กระทรวงเกษตรฯ เดินหน้าแก้ไขปัญหาการนำเข้าและส่งออกสินค้าที่ผิดกฎหมาย เพื่อลดผลกระทบต่อเกษตรกร เริ่มที่สินค้ายางพารา ต้องรายงานผลทุก 15 วัน ส่งผลให้ราคายางขยับเพิ่มสูงขึ้น โดยจะมีการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องต่อไป

เมื่อวันที่ 5 ต.ค.2566 ที่ผ่านมา นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาการนำเข้าและส่งออกสินค้าด้านพืชที่ผิดกฎหมาย ครั้งที่ 1/2567 ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผ่านระบบ Zoom Meeting ว่า จากนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า) ในการประกาศสงครามการลักลอบสินค้าเกษตรผิดกฎหมาย โดยที่ประชุมวันนี้ได้หารือแนวทางการตรวจสต๊อกยางตามแนวชายแดน เพื่อลดผลกระทบด้านราคายางพาราที่เกษตรกรได้รับ โดยมีการลงไปตรวจการเคลื่อนย้ายยาง และตั้งจุดสกัด และกำหนดให้มีการรายงานผลมายังคณะทำงานแก้ไขปัญหาการนำเข้าและส่งออกสินค้าด้านพืชที่ผิดกฎหมายทุก 15 วัน พร้อมทั้งได้พิจารณาแผนการปราบปรามการลักลอบนำเข้ายางพาราผิดกฎหมาย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และแผนการตรวจสอบปริมาณยางคงเหลือ+

...

จากการเร่งรัดในหลายๆ มาตรการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่งผลให้ราคายางพาราขยับเพิ่มสูงขึ้น จากวันที่ 4 ก.ย. 66 เมื่อเปรียบเทียบกับวันที่ 5 ต.ค. 66 ดังนี้ น้ำยางสด จาก 45 บาท/กก. เป็น 49.20 บาท/กก. ยางก้อนถ้วย จาก 42.17 บาท/กก. เป็น 46 บาท/กก. ยางแผ่นดิบ จาก 45.95 บาท/กก. เป็น 48.75 บาท/กก. และยางแผ่นรมควันชั้น 3 จาก 50.82 บาท/กก. เป็น 52.55 บาท/กก. (ที่มา : การยางแห่งประเทศไทย) จึงต้องมีการดำเนินการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องต่อไป ทั้งนี้ ในปี 2566 ปริมาณยางพารากว่าร้อยละ 90 มีการส่งออกผ่านด่านที่สำคัญ ได้แก่ ด่านแหลมฉบัง ร้อยละ 50.52 ด่านปาดังเบซาร์ ร้อยละ 26.07 และด่านสะเดา ร้อยละ 15.13

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมวิชาการเกษตร สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร สำนักวิจัย และพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 (ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาญจนบุรี) ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก. ปคบ.) เข้าตรวจร้านจำหน่ายสินค้าทางการเกษตร จังหวัดกาญจนบุรี พบการจำหน่ายสินค้าที่ผิดกฎหมาย จำนวน 3 รายการ ซึ่งผู้ที่มีไว้ครอบครองมีความผิด ดังนี้ 1) การครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 มีโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกิน หนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2) การมีครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ไม่มีทะเบียน มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน สามแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ.