ผู้ค้าส่งสินค้าเกษตรลงภาคใต้ ยืนยัน ลดน้ำมันดีเซลยังไม่ช่วยทำให้ผักราคาลดลง วอนรัฐบาลวางมาตรการ ควบคุมการซื้อขายสินค้าเสรีของผู้ประกอบการต่างชาติ ระหว่างจีนและมาเลเซีย ที่ทำให้ไทยเป็นทางผ่าน และไม่ได้ประโยชน์จากการขนส่งสินค้าเกษตร

ตามที่รัฐบาลมีมติลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน เพื่อช่วยค่าครองชีพให้กับประชาชน โดยใช้การลดภาษีสรรพสามิตและกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาบริหารจัดการ เป็นเวลา 3 เดือน เริ่มต้นแต่วันที่ 20 ก.ย. - 31 ธ.ค. 2566 ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลปรับลดลง 2 บาทต่อลิตร ต่อมาวันที่ 27 ก.ย. 66 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ไปพบผู้ประกอบการขนส่งสินค้าเกษตรในตลาดศรีเมือง ตลาดกลางค้าส่ง-ปลีกผักและผลไม้ อ.เมือง จ.ราชบุรี เพื่อสอบถามความเห็นต่อมาตรการลดราคาน้ำมันดีเซล

น.ส.สราภา เกิดสนอง อายุ 43 ปี ผู้ประกอบการรถบรรทุกขนส่งสินค้าเกษตรพื้นที่ภาคใต้ เปิดเผยว่า ปัจจุบันพื้นที่ภาคใต้ฝนตกน้อยลง อันเป็นผลมาจากสถานการณ์เอลนีโญ ชาวบ้านในพื้นที่ภาคใต้หันมาปลูกพืชผักกันมากขึ้น ทำให้มียอดสั่งซื้อผลผลิตทั้งผักและผลไม้จาก จ.ราชบุรี ลดลง จะมีส่งก็เป็นผักนำเข้าจากจีน อาทิ บร็อกโคลี ดอกกะหล่ำ ถั่วลันเตาหวาน แครอต และเห็ดเข็มทอง เป็นต้น จากเดิมที่ต้องใช้รถบรรทุกสิบล้อขนส่งสินค้าลงภาคใต้ หรือประมาณ 15 ตันต่อรอบ แต่ปัจจุบันลดลงจนต้องใช้รถบรรทุกหกล้อ หรือหากวันไหนมียอดสั่งซื้อเข้ามาน้อย เหลือเพียง 4 ตัน ก็จะใช้รถกระบะแผงในการขนส่ง และหากไม่มีสินค้าจากทางภาคใต้บรรทุกขึ้นมาจำหน่ายทางภาคกลาง นั่นหมายถึงการขนส่งเที่ยวนั้นขาดทุน

...

ผู้ประกอบการรถบรรทุกขนส่งสินค้าเกษตร กล่าวต่อว่า การที่รัฐบาลประกาศลดราคาค่าน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 2 บาท ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ช่วยไม่ได้มาก เพราะนอกจากค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ยังมีค่าประกันสินค้า ค่าประกันรถ ค่าแรงงาน ค่าเสื่อมสภาพ ที่ผู้ประกอบการขนส่งจะต้องแบกรับแล้ว ในส่วนของเกษตรกร ก็มีค่าปุ๋ยและสารเคมี ซึ่งถือเป็นต้นทุนหลัก ที่ยังไม่ได้มีการพิจารณาปรับราคา อีกทั้งนโยบายลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าว ยังเป็นแค่ช่วงระยะเวลาสั้นๆ จึงไม่สามารถทำให้ราคาพืชผักที่จำหน่ายตามท้องตลาดลดราคาลงได้

น.ส.สราภา กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการขนส่งพืชผักและผลไม้ไทยในเวลานี้ คือการที่ผู้ค้าจากประเทศมาเลเซีย เดินทางมาซื้อพืชผักและผลไม้ตามแหล่งผลิตและตลาดค้าส่ง โดยจะพาคนงานข้ามชาติของตัวเองขึ้นมาด้วย แล้วว่าจ้างเพียงรถบรรทุกในพื้นที่ ลงไปส่งสินค้าปลายทาง นอกจากนั้นยังมีการติดต่อซื้อขายพืชผักและผลไม้จากประเทศจีน ของผู้ประกอบการชาวจีนกับมาเลเซีย โดยใช้ไทยเป็นเพียงทางผ่านเท่านั้น เพื่อเป็นการลดต้นทุนของผู้ประกอบการ

...

ผู้ประกอบการรถบรรทุกขนส่งสินค้าเกษตร กล่าวด้วยว่า ดังนั้นอยากฝากถึงรัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าว เร่งวางมาตรการควบคุมการซื้อขายสินค้าเสรีของผู้ประกอบการต่างชาติ ที่ส่งผลทำให้ประเทศไทยและผู้ประกอบการไทยเสียประโยชน์ ซึ่งหากทำไม่สำเร็จ ไทยจะขาดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการเลิกกิจการ และสุดท้ายกระทบไปถึงแรงงานไทยที่จะถูกลอยแพ ไม่มีงานทำอีกเป็นจำนวนมาก.