"อัครา" รมช.เกษตรฯ ลุยพัฒนาท่าเทียบเรือประมงภูเก็ต เป็น "Fish Market" รองรับนักท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้ชาวประมงอย่างยั่งยืน
นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมท่าเทียบเรือประมงภูเก็ต พร้อมรับฟังแนวทางการปรับปรุง พัฒนา และแก้ไขปัญหาของชาวประมงและผู้ประกอบการในพื้นที่ ต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต พร้อมเตรียมปั้นท่าเทียบเรือประมงภูเก็ตเป็น Fish Market ที่รองรับทั้งนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ
อัครา พรหมเผ่า กล่าวว่า ท่าเทียบเรือดังกล่าวมีศักยภาพในการขนถ่ายปลาทูน่า จากเรือประมงจากประเทศไต้หวัน ซึ่งในช่วงปี 2555 - 2564 มีเรือประมงจากประเทศไต้หวันขึ้นขนถ่ายปลาทูน่าหลายชนิด รวมปริมาณ 11,926,777 กิโลกรัม กระทรวงเกษตรฯ โดยองค์การสะพานปลา จึงมีแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ท่าเทียบเรือประมงภูเก็ต และยกระดับคุณภาพชีวิตชาวประมงและผู้ประกอบกิจการด้านประมงขึ้นอย่างยั่งยืน ขณะที่ก็จะพัฒนาท่าเทียบเรือประมงภูเก็ตให้สามารถสร้างเม็ดเงินเข้ามาในหลายทิศทางทั้งการค้าขาย การท่องเที่ยว เป็นต้น
...
"วันนี้ตั้งใจมารับฟังปัญหาของพี่น้องชาวประมงและพัฒนาท่าเทียบเรือประมงภูเก็ต ซึ่งตั้งใจที่จะพัฒนาพื้นที่ให้เป็น Fish Market โดยกระทรวงเกษตรฯ พร้อมบูรณาการการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนาพื้นที่ทั้งในมิติของการสร้างรายได้และผลประโยชน์ตอบแทนที่สนับสนุนภาคอุตสาหกรรมประมงไปสู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวต่อไป อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการจัดสรรพื้นที่ ทั้งการเพิ่มพื้นที่ในการจอดเรือประมง ลดความแออัด ซึ่งจะต้องมีการขุดลอกและขยายพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมง และลดผลกระทบระหว่างภาคการประมงและภาคการท่องเที่ยวด้วย" นายอัครา กล่าว
สำหรับโครงการพัฒนาศูนย์กลางการขนถ่ายปลาทูน่าในเอเชีย (Tuna Hub) เพื่อครัวไทยสู่ครัวโลก ที่ท่าเทียบเรือประมงภูเก็ต ตอนนี้สร้างผนังเขื่อนกันดิน ขุดลอกร่องน้ำหน้าท่าเทียบเรือ และปรับปรุงก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานสิ่งอำนวยความสะดวกท่าเทียบเรือรองรับการขนถ่ายปลาทูน่า เพื่อให้เรือประมงสามารถเข้ามาเทียบในท่าเทียบเรือประมงภูเก็ตได้ แก้ไขปัญหาร่องน้ำตื้นเขินและบรรเทาความเดือดร้อนของชาวประมงและผู้ประกอบการที่เข้ามาใช้บริการในบริเวณท่าเทียบเรือประมงภูเก็ต ตลอดจนอำนวยความสะดวกให้เรือประมงและเรือทั่วไปในการสัญจรไปมาในบริเวณดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ โดยองค์การสะพานปลา ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานในเรื่องการยกระดับศักยภาพของเกษตรกร/สถาบันเกษตรกรให้เข้มแข็ง ทั้งในเรื่องการส่งเสริมด้านการตลาดสินค้าสัตว์น้ำและอุตสาหกรรมการประมง พร้อมดำเนินการหรือควบคุม และอำนวยบริการซึ่งกิจการแพปลา การขนส่ง และกิจการอื่น ๆ อันเกี่ยวกับกิจการแพปลา อีกทั้งยังส่งเสริมฐานะ สวัสดิการ หรืออาชีพของชาวประมง และส่งเสริมสหกรณ์หรือสมาคมการประมงด้วย โดยการขับเคลื่อนการดำเนินงานขององค์การสะพานปลา สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาภาคใต้ ปี 2566 - 2570 ของรัฐบาล ทั้งในเรื่อง P-Premium Services & Tourism (การท่องเที่ยวคุณภาพชั้นนำ) การยกระดับบริการด้านการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ มาตรฐาน ปลอดภัย และมีมูลค่าสูง และ A - Agro-based Industries and Organic Farming (อุตสาหกรรมการเกษตรและเกษตรอินทรีย์) การส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยและการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม