กรมประมง เปิดโครงการฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากรประมงแหล่งน้ำสำคัญ “บึงบอระเพ็ด” จังหวัดนครสวรรค์ ประจำปี 2567 โดยร่วมมือกับชาวบ้านใน 7 ชุมชนปล่อยพันธุ์ลูกปลากว่า 1.2 ล้านตัว มีทั้งปลาตะเพียนขาว และปลาชะโอน

วานนี้ (28 สิงหาคม 2567) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ วัดวังมหากร ตำบลวังมหากร อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ นางฐิติพร หลาวประเสริฐ รองอธิบดีกรมประมง เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากรประมงแหล่งน้ำสำคัญ “บึงบอระเพ็ด” จังหวัดนครสวรรค์ ประจำปี 2567 (ประมงร่วมอาสาพาปลากลับบ้าน) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรมประมง ผู้นำชุมชน ข้าราชการ นักเรียนและประชาชนในพื้นที่ จำนวนกว่า 400 คน ร่วมปล่อยลูกพันธุ์ปลาตามโครงการประมงอาสาพาปลากลับบ้านสู่บึงบอระเพ็ด จำนวน 1,200,000 ตัว ที่เพาะด้วยชุดเพาะฟักเคลื่อนที่ (Mobile hatchery) ตลอดจนเยี่ยมชมนิทรรศการต่าง ๆ อาทิ ชุดเพาะพันธุ์ปลาเคลื่อนที่ (Mobile hatchery) นิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับพันธุ์ปลาในบึงบอระเพ็ดและจำนวนผลผลิตที่จับได้ การสาธิตวิธีผสมเทียมพ่อแม่พันธุ์ปลาตะเพียน และผลิตภัณฑ์ประมงจากชุมชนรอบบึงบอระเพ็ด พร้อมมอบพันธุ์ปลาให้แก่ตัวแทนชุมชนรอบบึงบอระเพ็ด จำนวน 7 ชุมชน เผยตั้งเป้าปล่อยพันธุ์ลูกปลาตามแผนโครงการฯ ในปี 2567 ในพื้นที่เป้าหมายจังหวัดนครสวรรค์ กว่า 30 ล้านตัว

...

ภายในงานมีคณะผู้บริหารกรมประมง ผู้นำชุมชน ข้าราชการ นักเรียน และประชาชนในพื้นที่ จำนวนกว่า 400 คน ร่วมปล่อยลูกพันธุ์ปลาที่เพาะด้วยชุดเพาะฟักเคลื่อนที่ (Mobile hatchery) จำนวน 1,200,000 ตัว ประกอบด้วย ปลาตะเพียนขาว (กลุ่มปลากินพืช) จำนวน 1,000,000 ตัว และปลาชะโอน (กลุ่มปลาหนัง) จำนวน 200,000 ตัว นอกจากนี้ ภายในงานยังได้มีการจัดนิทรรศการต่าง ๆ อาทิ ชุดเพาะพันธุ์ปลาเคลื่อนที่ (Mobile hatchery) นิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับพันธุ์ปลาในบึงบอระเพ็ดและจำนวนผลผลิตที่จับได้ การสาธิตวิธีผสมเทียมพ่อแม่พันธุ์ปลาตะเพียน และผลิตภัณฑ์ประมงจากชุมชนรอบบึงบอระเพ็ด พร้อมมอบพันธุ์ปลาให้แก่ตัวแทนชุมชนรอบบึงบอระเพ็ด จำนวน 7 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนบ้านแควใหญ่ ชุมชนบ้านท่าดินแดง ชุมชนบ้านปากง่าม ชุมชนวัดพนมเศษใต้ ชุมชนบ้านพนมเศษ ชุมชนวัดวังมหากร และชุมชนวัดท่าสุ่ม

นางฐิติพร หลาวประเสริฐ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากสภาพสิ่งแวดล้อมของแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ของประเทศที่มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไป ทำให้แหล่งสืบพันธุ์วางไข่และเลี้ยงตัวอ่อนที่เหมาะสมของสัตว์น้ำลดลง อีกทั้งกลุ่มปลาที่มีการอพยพย้ายถิ่นเพื่อการผสมพันธุ์วางไข่ในแหล่งน้ำไม่สามารถอพยพไปยังแหล่งต้นน้ำได้ ดังนั้น กรมประมง จึงได้ดำเนินโครงการ “ฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากรประมงในแหล่งน้ำสำคัญ” โดยดำเนินการเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดของไทย ด้วยชุดเพาะพันธุ์ปลาเคลื่อนที่” (Mobile hatchery) และนำลูกปลาวัยอ่อนที่เพาะได้ ปล่อยคืนกลับสู่ต้นน้ำที่เคยเป็นแหล่งผสมพันธุ์วางไข่

...

รองอธิบดีกรมประมง กล่าวต่อว่า พื้นที่เป้าหมาย เป็นแหล่งต้นน้ำ แม่น้ำสาขา และแหล่งน้ำชุมชนของบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ ประกอบด้วย บึงบอระเพ็ด คลองท่าตะโก คลองบอน และลำน้ำสาขาต่าง ๆ ในจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ดำเนินโครงการ ตั้งแต่ปี 2565-2566 พบว่า สามารถผลิตลูกพันธุ์ปลาไทยและปล่อยคืนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติได้มากถึง 60,823,000 ตัว สามารถเพิ่มอาหารโปรตีนราคาถูก แหล่งอาหารที่มั่นคง และสร้างรายได้ให้แก่ประชาชน

...

นางฐิติพร กล่าวด้วยว่า สำหรับปี 2567 นี้ กรมประมงมีแผนปล่อยปลา ตามโครงการประมงร่วมอาสาพาปลากลับบ้านสู่บึงบอระเพ็ด ภายใต้โครงการฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากรประมงในแหล่งน้ำสำคัญในพื้นที่เป้าหมาย จังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 30,580,000 ตัว โดยเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนและหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ด้วยการสาธิตและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ผู้แทนชุมชน ร่วมฝึกปฏิบัติด้านการเพาะพันธุ์ปลาประจำถิ่นแบบง่าย ด้วยชุดเพาะฟักเคลื่อนที่ (Mobile hatchery) เพื่อให้ชุมชนเกิดการเรียนรู้ รักษ์ และหวงแหนในคุณค่าของสัตว์น้ำของท้องถิ่น พร้อมทั้งปลูกฝังองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรประมงโดยชุมชน เพื่อสานต่อแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรประมงท้องถิ่นจากชุมชนสู่ชุมชนในอนาคตต่อไป.