ขณะที่หลายภาคส่วนของจันทบุรี ระดมกำลังแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ ระบาดรุนแรงในแหล่งน้ำธรรมชาติ และบ่อเลี้ยงกุ้ง รอบๆ อ่าวคุ้งกระเบน จนพาเกษตรกรถอดใจหมดแล้ว โดยคนในพื้นที่ชี้ กำจัดไม่ใช่เรื่องง่าย ปลาเริ่มเรียนรู้เอาตัวรอด หากใช้วิธีจับไม่ถูก หรือผิดเวลา

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 แม้ว่าภาคประชาสังคมใน จ.จันทบุรี จะเคลื่อนไหวพร้อม Kick off เปิดยุทธการแก้ไขปัญหา “ปลาหมอคางดํา” อย่างมีส่วนร่วม ควบคู่กับการเปิดจุดรับซื้อตามมาตรการภาครัฐฯไปก่อนหน้านี้แล้วก็ตาม โดยตั้งแต่เช้าที่น้ำทะเลลดระดับลง ภายในอ่าวคุ้งกระเบน ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และพื้นที่ลำคลองพักน้ำรอบนอกตัวอ่าว ตัวแทนภาคประชาสังคม และชาวประมงบางส่วน ได้ออกระดมกำจัดปลาหมอคางดำ เพื่อรวบรวมนำไปกำจัดโดยการแปรสภาพโดยให้สำนักงานพัฒนาที่ดิน ทำเป็นปุ๋ยหมัก/ปุ๋ยอินทรีย์

...

จับปลาหมอคางดำอ่าวคุ้งกระเบน ไม่ง่ายอย่างที่คิด

ขณะที่การกำจัดปลาหมอคางดำในพื้นที่ จ.จันทบุรี ที่พบว่า มีความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศในอ่าวคุ้งกระเบน กับสถานการณ์แพร่ระบาดที่ขณะนี้ถูกจัดให้เป็นอันดับ 3 จากหลายจังหวัด ซึ่งแนวทางการจัดการด้วยเครื่องมือประมงไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยสภาพของลำคลอง ระดับน้ำขึ้นน้ำลงที่ต้องแข่งกับเวลา ซึ่งชาวประมง พบว่า ปลาพันธุ์สายนี้ นอกจากจะปรับตัวเร็วให้เข้าได้กับทุกสภาพแวดล้อมแล้ว ยังมีความฉลาดเรื่องการเอาตัวรอด ซึ่งจะเป็นเรื่องยากในการกำจัดถ้าหากใช้วิธีการไม่ถูกต้อง โดยเวลาที่อยู่ในน้ำปลาชนิดนี้จะตีปักใต้น้ำเพื่อป้องกันตัวเอง รวมไปถึงไข่และลูก และใช้หลบซ่อนตัวได้ในป่าโกงกางเมื่อเวลาน้ำลง

วิธีจัดการต้องใช้เครื่องมือประมงควบคู่การวางแผน

ขณะที่ จนท.ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ มองว่า ส่วนตัววิธีการจับปลาหมอคางดำนั้น จากด้วยสภาพลำคลองพักน้ำที่มีน้ำน้อย ควรต้องปิดเป็นช่วงๆ โดยใช้อวนกั้น แล้วใช้แหหว่าน ซึ่งแหและอวนต้องใช้ตาที่มีขนาดเล็ก เพื่อจัดการกับลูกปลาไปพร้อมกัน ซึ่งวิธีนี้จะทำเป็นช่วงในระยะ 10 -20 เมตร ลักษณะเหมือนการปูพรมล้างคลอง แล้วย้ายจุดไปเรื่อยๆ ซึ่งการใช้อวนกั้นจะช่วยกรณีที่น้ำในคลองน้อย เพราะการหว่านแหบางครั้งจะค่อนข้างลำบากเมื่อด้านล่างคลองมีแต่เศษไม้เศษหิน ทำให้เกิดช่องที่ปลาจะหลุดออกไปได้ ซึ่งวิธีนี้จะใช้กำลังคนคนค่อนข้างมาก

...

จัดการปลาเอเลี่ยนอาจต้องยอมเจ็บเพื่อให้จบ

นายนิวัติ ธัญญชาติ คณะทำงานแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำระดับชาติ บอกว่า พื้นที่ในโครงการพระราชดำริ อ่าวคุ้งกระเบน และจะมีคลองรอบอ่าวที่ส่งน้ำเข้ามาให้เกษตรกรที่เพาะเลี้ยงกุ้งและสัตว์น้ำ ในบ่อโครงการพระราชดำริ ประมาณ 104 แปลง ที่อยู่รอบตัวอ่าวประมาณ 9 สาย ขณะนี้มีการแพร่ระบาดในบ่อกุ้งที่เป็นบ่อร้าง กับเป็นบ่อพักน้ำบริเวณรอบโครงการพระราชดำริ รวมไปถึงคลองซอยขนาดเล็กอีก  ซึ่งในการกำจัดหรือจับปลาหมอคางดำขึ้นมา ได้พยายามใช้มาตรการหลายอย่าง รวมไปถึงกระบวนการใช้กากชาที่เป็นวิธีทางธรรมชาติ แต่อาจกระทบกับสัตว์น้ำอย่างอื่นในช่วงนั้น แต่วิธีนี้จำเป็นต้องใช้กำลังของมวลชนจำนวนมาก ฉะนั้น การใช้วิธีนี้ จึงต้องมีการวางแผนก่อนกระบวนการ ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาระดับชาติ ได้พูดคุย หากเมื่อถึงเวลาอาจจะต้องยอมเจ็บ เพราะว่าวิธีการนี้แหล่งน้ำต่างๆ จะมีผลกระทบได้ ซึ่งจะต้องมีกระบวนการฟื้นฟูต่อไป

...

มันกวาดกินกุ้งหมดบ่อจนถอดใจแล้ว

ด้าน นางสุมาลี ผ่องสุวรรณ ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ในพื้นที่ ต.คลองขุด อ.ท่าใหม่ ที่ได้รับผลกระทบหนัก อยากให้ภาครัฐจัดการด้วยวิธีไหนก็ได้กับปลาหมอคางดำ ที่สามารถเอาขึ้นออกไปจากบ่อกุ้งได้ หลังจากที่ 2-3 ปี ที่ผ่านมา ลงลูกพันธุ์สัตว์น้ำชนิดไหนไปก็หายหมด ซึ่งแต่ละครั้งก็หมดไปหลายแสนบาท แต่ไม่สามารถจับอะไรได้เลย มีแต่ปลาหมอคางดำ ซึ่งทุกวันนี้ถอดใจไม่ได้เลี้ยงอะไรแล้ว เพราะไม่มีทุนทรัพย์ที่จะไปต่อ.