เกษตรกร สมาชิกเครือข่ายคนรักแม่กลอง เผย ปลาหมอคางดำพบแห่งแรกใน จ.สมุทรสงคราม กว่า 10 ปีที่แล้ว แต่นโยบายการปราบไม่จริงจัง สุดท้ายระบาดลงถึงภาคใต้ ย้ำการแก้ปัญหาจากนี้ต้องเป็นวาระแห่งชาติ ก่อนจะทำสัตว์ท้องถิ่นของไทยสูญพันธุ์ ชี้ปลาพันธุ์อึดมุ่งผสมพันธุ์จนเนื้อไม่อร่อย ขณะที่ ปล่อยปลานักล่าเป็นวิธีเมื่อ 10 ปีก่อน

นายปัญญา โตกทอง อายุ 66 ปี สมาชิกเครือข่ายรักษ์อ่าวไทยตอนบน และเครือข่ายประชาคมคนรักแม่กลอง อีกทั้ง เคยเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง กล่าวถึงปลาหมอสีคางดำ ว่า ชาวบ้านพูดกันปากต่อปากว่า มีเอกชนรายหนึ่ง นำปลาพันธุ์นี้เข้ามาในพื้นที่เพาะเลี้ยง จ.สมุทรสงคราม เนื่องจากช่วงนั้นการเลี้ยงปลานิลและปลาทับทิมในการเพาะเลี้ยงตายจำนวนมาก จึงหาวิธีแก้ปัญหา มีผู้แนะนำให้ทดลองนำ "ปลาหมอสีคางดำ" จากทวีปแอฟริกา มาช่วยพัฒนาสายพันธุ์เป็นปลาเศรษฐกิจตัวใหม่ โดยนำเข้ามาลอตแรกประมาณ 2,000 ตัว สุดท้ายได้กระจายลงแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยเริ่มระบาดเข้ามาที่ ต.แพรกหนามแดง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ประมาณ ปี พ.ศ.2554

...

เกษตรกร และสมาชิกเครือข่ายประชาคมคนรักแม่กลอง กล่าวต่อว่า ตอนนั้นตนมีอาชีพเลี้ยงกุ้ง ทำวังกุ้ง เลี้ยงกุ้งแบบธรรมชาติ แรกๆ ก็ไม่รู้ว่าปลาอะไรปะปนกับกุ้งประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์ แต่สุดท้ายสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านที่เลี้ยงกุ้งทั้งแบบพัฒนา คือ การซื้อลูกกุ้งมาปล่อยในบ่อเลี้ยง และเลี้ยงแบบธรรมชาติ คือ การสูบน้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะ ช่วงนั้นนอกจากกุ้งที่เลี้ยงไว้การจับเริ่มน้อยลง แล้วสัตว์น้ำพื้นถิ่นที่เคยชุกชุมก็เริ่มหายากขึ้น และชาวบ้านก็มีการนำปลาหมอคางดำมาทำกิน แต่พบว่าเนื้อปลาไม่อร่อย และก้างเยอะ จึงไม่เป็นที่นิยม

"ตอนนั้นเครือข่าย 4 อำเภอ 2 จังหวัด คือ อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม อ.บ้านแหลม และ อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี เริ่มออกมาเคลื่อนไหวโดยไปร้อง เรื่องการละเมิดสิทธิ์ต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรียกว่าร้องกันจนเสียงแห้ง กรณี “ผู้ใดก่อมลพิษผู้นั้นต้องรับผิดชอบ” โชคยังดีที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เรียกกรมประมงเข้าหารือกับทุกภาคส่วน จนทราบว่ามีต้นตอมาจากบริษัทใหญ่ อ้างว่านำเข้าปลาหมอคางดำจริง ขออนุญาตนำเข้ามาในปี พ.ศ. 2549 และในปี พ.ศ. 2553 ปลาที่นำเข้ามาทั้ง 2,000 ตัว โดยได้ทำลายโดยฝังกลบแล้ว แต่ในปี 2554 พบปลาหมอคางดำอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ และเริ่มระบาดก็ไม่ได้ออกมารับผิดชอบใดๆ" นายปัญญา กล่าว

...

เกษตรกร และสมาชิกเครือข่ายประชาคมคนรักแม่กลอง กล่าวถึงบทสรุปว่า ผลจากปัญหาคราวนั้น คือ ชาวบ้านเสนอให้กรมประมงรับซื้อปลาหมอคางดำ เริ่มระบาดกิโลกรัมละ 20 บาท เพื่อเยียวยาและสร้างแรงจูงใจให้มีการจับปลาหมอคางดำมาขาย เพราะตอนนั้นระบาดแค่ 4 อำเภอ 2 จังหวัด โดยเปรียบเสมือนข้าว 4 ชาม ใช้งบกวาดล้างตอนนั้นก็ไม่มาก จับให้หมดอย่าให้เหลือข้าวในชามแม้แต่เม็ดเดียว เพราะถ้าปล่อยไว้ก็แพร่พันธุ์มากขึ้นและรวดเร็วมาก ถ้าอยากรู้ว่าไอ้พวกนี้แพร่พันธุ์ได้เร็วแค่ไหน นั่นคือ ปลาชนิดนี้ออกไข่ทุก 22 วัน ปลา 1 คู่ออกลูก 6 ล้านตัวภายใน 1 ปี และด้วยเหตุจ้องแต่จะขยายพันธุ์ ทำให้ทั้งพ่อแม่ปลาไม่สร้างโปรตีน ก้างจึงแข็ง แถมเนื้อน้อย วนเวียนกันอยู่แบบนี้

...

นายปัญญา กล่าวอีกว่า ต่อมาทางกลุ่มได้เสนออีกแนวทาง คือ ให้กรมประมงเลี้ยงปลานักล่า เช่น ปลากะพง ปลากุเลา ฯลฯ เพื่อปล่อยกินลูกปลาหมอคางดำ เพราะตอนนั้นการรับซื้อของกรมประมงเป็นช่วงสั้นๆ พอหมดเงินปลาหมอคางดำก็กลับมาเยอะอีก จากนั้นก็มีแต่การแก้ปัญหาเป็นช่วงๆ เหมือนจัดอีเวนต์ จนตอนนี้ผ่านไปกว่า 10 ปีแล้ว จ.สมุทรสงคราม มีการระบาดกระจายไป 90 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ และปัจจุบันยังขยายไป 14 จังหวัดอื่นๆทั้งภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ตอนที่ระบาดน้อย 2 จังหวัดไม่ได้ทำจริงจัง อีกทั้ง ขณะนี้เริ่มส่งผลกระทบระบบนิเวศ เพราะปลาหมอคางดำกินทั้งลูกกุ้ง ลูกปลา ทำให้ "สัตว์น้ำท้องถิ่น" เริ่มลดน้อยหายไป เช่น ปลาหมอเทศหายไปเลยจากแหล่งธรรมชาติ 100% ปลากระบอกที่เคยชุกชุมก็หายากขึ้น ส่วนบ่อปลาสลิด ตอนนี้ก็พบว่ามีปลาหมอคางดำเข้าไปปะปนประมาณ 20% แล้ว อนาคตลูกหลานอยากกินปลาในธรรมชาติก็จะมีแต่ปลาหมอสีคางดำ ปลาอื่นๆในอนาคตก็คงต้องซื้อจากฟาร์ม

...

ประเด็นสาเหตุที่ปลาหมอคางดำ เริ่มแพร่ระบาดไปยังภาคใต้นั้น เกษตรกร และเครือข่ายประชาคมคนรักแม่กลอง กล่าวว่า น่าจะไปเองตามแหล่งน้ำธรรมชาติ เพราะปลาชนิดนี้อยู่ได้ทุกสภาพน้ำ ทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม รวมถึงน้ำคุณภาพต่ำ ชอบที่สุด คือ น้ำกร่อย แต่จะไม่ลงไปในทะเลลึกหรือพื้นที่ดินทรามโดยจะว่ายลัดเลาะชายฝั่งและขยายพันธุ์ตามป่าชายเลน 

นายปัญญา กล่าวด้วยว่า สำหรับการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำนั้น อันดับแรก ภาครัฐต้องจริงใจก่อน อย่าคิดแทนชาวบ้านแต่ให้คิดร่วมกัน ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม หรือกำหนด ให้การแก้ปัญหาปลาหมอคางดำเป็น “วาระแห่งชาติ” หน้าที่ของกรมประมง คือ การกำจัดปลาหมอคางดำ ทุ่มงบประมาณรับซื้อ อนุญาตใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมายมาจัดการ จับปลาหมอคางดำให้มากที่สุด  ไม่ต้องยุ่งกับเรื่องแปรรูป มอบการแปรรูปให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานอื่น และต้องจับมือกับกลุ่มเอกชนต้นเหตุให้มาร่วมรับผิดชอบ เพราะได้นำเข้ามาแล้วละเมิดสิทธิ์ชาวบ้าน ก็ต้องร่วมรับผิดชอบด้วย มารับซื้อปลาที่ได้กลับไป.