เจาะวิธีแก้หนี้เสียสหกรณ์ออมทรัพย์ ขรก.โคราช ใช้การอบรมติวเข้มอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้สมาชิก โดยมุ่งเป้าไปที่ข้าราชการเกษียณแล้วและกำลังจะเกษียณ เพื่อสร้างอาชีพใหม่ เช่น เสริมสวย แต่งหน้า-ทำเล็บ หรือแปรรูปอาหารแหนมกระดูกหมู รวมทั้งการทำไร่นาสวนผสม
"คนมีมาฝาก คนยากมากู้" สโลแกนนี้น่าจะใช้ได้กับสหกรณ์ลูกผสมอย่างสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการนครราชสีมา จำกัด แหล่งรวมสมาชิกมาจากหลากหลายสังกัด ภายใต้การนำของ นายธีระชัย เทพนอก ประธานคณะกรรมการ และนายสุริยะ ศักดิฐานนท์ รักษาการผู้จัดการสหกรณ์ฯ แม้รายได้หลักมาจกาการปล่อยกู้แก่สมาชิก แต่ปัญหาที่ตามมาที่ไม่อาจปฏิเสธได้ก็ คือ หนี้เสีย ถึงแม้ปัจจุบันไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ จะยังอยู่ในเกณฑ์ตามที่นายทะเบียนกำหนด แต่หากไม่เตรียมการล่วงหน้าหาอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้กับสมาชิก อนาคตข้างหน้าอาจมืดมน หนีไม่พ้นหนี้เสียพุ่งแน่นอน
นายสุริยะ ศักดิฐานนท์ รักษาการผู้จัดการสหกรณ์ฯ ย้อนอดีตให้ฟังว่า สหกรณ์นี้ตั้งขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ.2522 เดิมเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ของ อบจ.โคราช สมาชิกก็อยู่ในสังกัด อบจ.อย่างเดียว ต่อมาได้มีการหารือโดยผู้ว่าฯ ในขณะนั้นเป็นประธานและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องอยากจะเพิ่มสมาชิกมาจากหน่วยงานที่หลากหลายขึ้นทั้ง อบจ. เทศบาล อปท. พร้อมเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการนครราชสีมา จำกัด เมื่อปี 2545 มาจนถึงปัจจุบัน ปัจจุบันมีสมาชิกเกือบ 4,000 ราย มีเงินทุนหมุนเวียนกว่า 2,000 ล้านบาท
...
รักษาการผู้จัดการสหกรณ์ฯ กล่าวว่า ล่าสุดสหกรณ์ฯ ได้จัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการส่งเสริมอาชีพ(เสริม) ให้กับสมาชิกประจำปี 2567 โดยมุ่งเป้าไปที่ข้าราชการเกษียณแล้วและกำลังจะเกษียณ เพื่อจะได้มีอาชีพใหม่มีรายได้เพิ่มเติม แต่ก็ไม่ปิดกั้นสมาชิกข้าราชการทั่วไปเพื่อจะได้มีอาชีพเสริมหลังจากเลิกงานประจำ ล่าสุดมีสมาชิกที่สนใจเข้าร่วมโครงการจำนวน 95 ราย กระจายไปตามหลักสูตรต่างๆ ที่ตัวเองสนใจ ไม่ว่าจะเป็น หลักสูตรเสริมสวย (แต่งหน้า-ทำเล็บ) หลักสูตรการแปรรูปอาหารเชิงธุรกิจ (แหนมกระดูกหมู น้ำพริกสูตรต่างๆ) โดยมีวิทยากรมากประสบการจากวิทยาเทคนิคนครโคราชมาถ่ายทอดองค์ความรู้ พร้อมฝึกปฏิบัติจริง
"สหกรณ์ฯ ตั้งงบฯ ไว้ 3 แสน โดยจัดสรรจากส่วนเป็นสวัสดิการให้สมาชิกมาใช้ดำเนินโครงการนี้ เป็นค่าวิทยากร ค่าวัสดุอุปกรณ์และอื่นๆ เป็นงบฯ ของสหกรณ์เอง ซึ่งที่ประชุมใหญ่ได้จัดสรรมาให้เมื่อปลายปีที่แล้ว และได้นำมาดำเนินการในปีนี้ (2567) ฉะนั้นการอบรมทุกหลักสูตรทุกอย่างฟรีหมดสมาชิกไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ค่าพาหนะเราก็ให้ เพราะบางรายอยู่ไกล มีปัญหาทางการเงิน" นายสุริยะ กล่าว
...
รักษาการผู้จัดการสหกรณ์ฯ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามบางหลักสูตรได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา เช่น หลักสูตรเสริมสวย แต่งหน้า-ทำเล็บ ขณะนี้ทำให้มีสมาชิกบางรายสามารถนำความรู้ที่ได้จากการอบรมนำไปประกอบเป็นอาชีพเสริมได้แล้วโดยใช้เวลาหลังเลิกงานประจำ เช่นเดียวกับหลักสูตรการแปรรูปอาหารเชิงธุรกิจการทำแหนมกระดูกหมู ที่จัดอบรมไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ขณะนี้มีออเดอร์จากลูกค้าเป็นจำนวนมากจนทำแทบไม่ทัน นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรยอดฮิตการทำเกษตรไร่นาสวนผสม ภายใต้โครงการ “โคกหนองนาโมเดล” ที่ได้รับความสนใจจากสมาชิกสูงสุด ซึ่งจะมีการฝึกอบรมในวันที่ 6 กรกฎาคม 2567 นี้ ณ ห้องประชุมสำนักงานสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ โดยมีทีมวิทยากรจากวิทยาลัยเกษตรสีคิ้วมาถ่ายทอดองค์ความรู้ พร้อมพาไปดูงานในสถานที่จริง
...
"แต่ละหลักสูตรรับไม่เกิน 20 ราย มีหลักสูตรไร่นาสวนผสมนี่แหละได้รับความสนใจจากสมาชิกเป็นจำนวนมาก สมัครเข้าถึง 80 ราย สมาชิกที่สมัครเข้าในแต่ละหลักสูตรส่วนใหญ่เขาทำอยู่แล้วเพียงแต่มาต่อยอดองค์ความรู้เพิ่มเติม มีจำนวนน้อยที่เริ่มต้นจากศูนย์ ส่วนเงินกู้ที่นำไปลงทุนนั้นไม่สามารถกำหนดวงเงินได้ขึ้นอยู่กับการประเมินความเสี่ยงแต่ละราย สมาชิกบางรายที่ก็กู้เกือบเต็มเพดานแล้ว หรืออย่างหลักสูตรไร่นาสวนผสมถ้าสมาชิกรายใดสนใจกู้ก็สามารถนำที่ดินมาจำนองกับสหกรณ์ได้ จากนั้นทางเราก็จะมีช่างเขียนแบบไปทำการออกแบบพื้นที่โครงการ และประเมินงบประมาณให้" นายสุริยะ กล่าว
รักษาการผู้จัดการสหกรณ์ฯ กล่าวอีกว่า ยอมรับว่าการจัดทำโครงการนี้ขึ้นมาก็เพื่อเป็นช่องทางเพิ่มพูนรายได้ให้กับสมาชิกด้วยการหาอาชีพเสริม ผ่านโครงการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือการดำรงชีพ พ.ศ.2567 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) ทั้งนี้เพื่อตอบโจทย์แผนพัฒนาสหกรณ์ระดับประเทศ 5 ปี ส่วนรายได้หลักของสหกรณ์ปัจจุบันจากการบริหารเงินลงทุนจากภายในภายนอก ส่วนภายในมาจากการถือหุ้น การฝากเงินและการกู้เงินของสมาชิก
...
นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า นับเป็นอีกก้าวในการช่วยเหลือสมาชิกให้มีอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ผ่านโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการส่งเสริมอาชีพ(เสริม) ประจำปี 2567 ของสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการนครราชสีมา จำกัด นำมาซึ่งการบรรเทาปัญหาช่วยลดหนี้เสียของสหกรณ์ ทำให้สหกรณ์มีธุรกิจที่ความเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับสมาชิกสหกรณ์อีกด้วย.