อบต.ดงใหญ่ นำงบฉุกเฉินและงบจากชาวบ้าน ขุดสระน้ำเก่าขนาด 21 ไร่ พัฒนาเป็นธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิด เพื่อใช้ผลิตประปาหมู่บ้านในการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ช่วงหน้าแล้ง โดยล่าสุด นายก อบต.เผย ยังขุดไปไม่ถึงครึ่งของพื้นที่ ต้องหางบมาทำเพิ่มอีก
เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 67 ผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่สระน้ำบ้านดงใหญ่ หมู่ 12 ต.ดงใหญ่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ซึ่งมีการขุดลอกสร้างแหล่งน้ำดิบที่ใช้ผลิตประปาหมู่บ้านและทำเป็นธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิดเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง
นายสมพิศ ขวัญมั่น นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดงใหญ่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา กล่าวถึงที่มาของโครงการว่า สระน้ำดังกล่าวมีเนื้อที่ทั้งหมด 21 ไร่ เดิมเป็นที่ดินของวัดบ้านดงใหญ่ ต่อมาขุดเป็นสระน้ำเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ และเป็นแหล่งน้ำดิบที่ใช้ผลิตน้ำประปาให้ชาวบ้านจำนวน 8 หมู่บ้าน คือ หมู่ 1, 4, 5, 11, 12, 13, 17 และหมู่ 20 ได้ใช้อุปโภคบริโภคมาเป็นเวลามากกว่า 30 ปี แต่ในปีนี้เกิดวิกฤติภัยแล้งทำให้น้ำในสระแห้งขอด ไม่สามารถผลิตน้ำประปาได้ ทำให้ชาวบ้านกว่า 1,000 ครัวเรือนได้รับความเดือดร้อนเพราะขาดแคลนน้ำในการใช้ในชีวิตประจำวัน จากปัญหาที่เกิดขึ้นทาง อบต.ดงใหญ่ จึงประชุมปรึกษาหารือกับ นายประยูร เหลาวัฒนา ปลัด อบต.ดงใหญ่ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาโดยใช้งบฉุกเฉินของ อบต.ดงใหญ่ เป็นเงิน 5 แสนบาท และงบประมาณจากชาวบ้านอีก 230,000 บาท เพื่อขุดลอกสระในครั้งนี้
...
นายกฯ อบต.ดงใหญ่ กล่าวต่อว่า ในการขุดสระครั้งนี้มีนายณัฐวุฒิ ศรีวงศ์ทอง หนึ่งในชาวบ้านดงใหญ่ เป็นผู้ประสานไปยังนายชาตรี ศรีวิชาฐา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเก่าขาม อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี เป็นผู้แนะนำและให้ความรู้ในการขุดสระเพื่อทำเป็นธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิด เป็นการแก้ปัญหาภัยแล้งแบบยั่งยืน เพราะถ้าขุดลอกสระแบบทั่วไปถึงมีน้ำแต่ถ้าใช้ไปก็จะหมด
ด้าน นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ตนเป็นคนบ้านดงใหญ่ จึงอยากทำประโยชน์ให้กับบ้านเกิดตัวเองไม่ให้ประสบกับปัญหาภัยแล้ง จึงไปหาความรู้เกี่ยวกับการทำธนาคารน้ำใต้ดินให้มีน้ำใช้อย่างยั่งยืน ประกอบกับทาง อบต.ดงใหญ่ มีโครงการขุดลอกสร้างแหล่งน้ำดิบที่ใช้ผลิตน้ำประปาหมู่บ้านพอดี ตนจึงไปเสนอแนะกับทางนายกอบต.ดงใหญ่ เกี่ยวกับการทำธนาคารน้ำใต้ดินในครั้งนี้และทาง อบต.ก็เห็นด้วย จึงได้เริ่มการทำธนาคารน้ำและก็ได้ผลตามที่คิดไว้ โดยได้คำแนะนำจากนายชาตรี ศรีวิชาฐา ต้นแบบธนาคารน้ำใต้ดินแห่งประเทศไทย หลายๆ ที่ทั่วประเทศได้นำมาใช้ในการแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างถาวรและยั่งยืน
...
ชาวบ้านดงใหญ่ กล่าวด้วยว่า สำหรับสระที่ขุดครั้งนี้มีขนาดกว้าง 20 เมตร ยาว 20 เมตร ลึก 3.20 เมตร ซึ่งถึงจุดสะดือน้ำ ขั้นตอนการทำธนาคารน้ำใต้ดินเป็นจุดเติมน้ำสู่ชั้นใต้ดินของสระ หลังจากขุดไป 1 วันปรากฏว่ามีน้ำขึ้นมา 1.55 เมตร และผ่านไป 7 วัน ระดับน้ำเพิ่มขึ้นเป็น 3.25 เมตร หรือ คิดเป็น 1 ล้าน 3 แสนลิตร ซึ่งถือว่าเพียงพอต่อการผลิตน้ำประปาของชุมชนดงใหญ่ 3 หมู่บ้าน ตอนนี้ขุดไปได้ยังไม่ถึงครึ่งของจำนวนเนื้อที่ทั้งหมด คงต้องหางบประมาณมาขุดสระเพื่อทำธนาคารน้ำใต้ดิน เพิ่มเติมอีกเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในอนาคตต่อไป.