สวพส.เผยผลสำเร็จจากการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมบนพื้นที่สูง ในการเปลี่ยนวิถีเกษตรกรที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว เป็นการปลูกพืชมูลค่าสูง 44 พื้นที่ 20 จังหวัด สามารถลดการเผาจุดฮอตสปอต สร้างมูลค่าเพิ่มแก่วัสดุการเกษตร สร้างรายได้เพิ่มที่มั่นคง ยั่งยืนแก่เกษตรกร
เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 67 ที่ผ่านมา ที่อุทยานหลวงราชพฤกษ์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ มีงานประชุมวิชาการ ผลสำเร็จจากการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมบนพื้นที่สูง เพื่อความมั่นคงและยั่งยืน ประจำปีงบประมาณ 2567 ดร.ธีรภัทร ประยูรสิทธิ ประธานคณะอนุกรรมการวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.) ได้เปิดเผยถึงภาพรวมของการจัดกิจกรรมในปีนี้ ว่าเป็นการนำวิจัยและนวัตกรรมต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรมแล้วมาเผยแพร่ให้ความรู้ให้กับเครือข่าย สวพส. ทั้ง 44 พื้นที่ ครอบคลุม 20 จังหวัด โดยเฉพาะ 8 จังหวัดที่มีการดำเนินงานอย่างเข้มข้น
...
หนึ่งในนั้นมีจังหวัดเชียงใหม่รวมอยู่ด้วย อาทิ การนำเอาพืชมูลค่าสูง ไปช่วยพัฒนาพื้นที่ในจังหวัดน่าน ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนวิถีการทำการเกษตรของเกษตรกร จากปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นปลูกพืชมูลค่าสูง ทำให้ลดปัญหามลพิษทางอากาศได้ ขณะเดียวกัน ในพื้นที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ก็ได้นำผลการวิจัยและนวัตกรรมเหล่านี้เข้ามาช่วยแก้ปัญหาในเรื่องการปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างข้าวโพดด้วยเช่นกัน โดยการนำมาทำเป็นชีวมวล อาหารสัตว์ ปุ๋ย ทำให้พื้นที่ที่อยู่ในความดูแลของ สวพส. มีจุดความร้อนน้อยกว่าพื้นที่ทั่วไป ตลอดจนเป็นการสร้างมูลค่า สร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรด้วย ซึ่งหลังจากนี้จะมีการขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไป
ภายในงานมีการนำเสนอผลความสำเร็จ ในช่วงที่ผ่านมาของโครงการหลวง ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสืบสาน รักษา ต่อยอด โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ในปัจจุบัน ทำให้เห็นมิติทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งความก้าวหน้าตั้งแต่อดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มีการถ่ายทอดบทเรียน และประสบการณ์ต่างๆ ของนักวิจัย นักพัฒนา รวมทั้งพี่น้องประชาชนที่ได้นำองค์ความรู้เหล่านั้นมาใช้ประโยชน์และขยายผลในพื้นที่ของตนเอง ทั้งนี้การทำงานในภาพรวม ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ จะทำหน้าที่เป็นศูนย์รวบรวมการทำงานบนพื้นที่สูงในภาพรวมของหน่วยงานต่างๆ และร่วมกันพัฒนาให้การทำงานมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น
...
ด้าน นางสมบัติ มีเพชร เกษตรกรจากบ้านแม่มะลอ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ชาวบ้านในหมู่บ้านได้เข้าร่วมกับโครงการของ สวพส. โดยเปลี่ยนจากการปลูกข้าวโพดที่เป็นพืชเชิงเดี่ยว มีรายได้แค่หนึ่งปี เป็นปลูกพืชระยะสั้น เช่น การปลูกผักอินทรีย์ ไม้ผล เลี้ยงหมูหลุม เลี้ยงไก่ไข่ ตลอดจนมีการตั้งวิสาหกิจชุมชนเพื่อรองรับผลผลิต ทำให้ขณะนี้ชาวบ้านมีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืนกว่าที่ผ่านมา.