นายก อบจ.สงขลา หารือร่วมกับชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่ 4 อำเภอช่วงฤดูร้อน โดยหาทางออกในการจัดการน้ำในทะเลสาบสงขลาที่มีเขตน้ำจืดและน้ำเค็มรุกในฤดูแล้ง แบ่งตามแผนระยะสั้นและยาว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (26 เม.ย. 2567) ที่ห้องประชุมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาระโนด-กระแสสินธุ์ หมู่ที่ 1 ต.บ้านข้าว อ.ระโนด จ.สงขลา นายไพเจน มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา นาย จงกรม สมพงษ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาระโนด-กระแสสินธุ์ สำนักชลประทานที่ 16 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมและติดตามการบริหารการจัดการน้ำคาบสมุทรสทิงพระ 4 อำเภอ ของจังหวัดสงขลาประกอบด้วยอำเภอสิงหนคร, อำเภอสทิงพระ, อำเภอกระแสสินธุ์ และอำเภอระโนด ถึงปัญหาภัยนํ้าแล้งช่วงฤดูร้อนในปัจจุบัน

นายก อบจ.สงขลา ได้ร่วมหารือกับผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงระโนด-กระแสสินธุ์ และคณะเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางร่วมกัน ในการจัดการน้ำทะเลสาบสงขลา และแนวทางบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนทั้งระยะสั้นและระยะยาว เกี่ยวกับแหล่งน้ำที่เกี่ยวโยงกับพื้นที่ทะเลสาบสงขลา ทะเลสาบสงขลา มีเขตนํ้าจืดในฤดูฝนน้ำเค็มรุกตัวในฤดูแล้ง ทำให้มีช่วงการสูบน้ำได้จำกัดระยะเวลาในฤดูแล้งตามค่าความเค็มของนํ้า แก้มลิง(บก) ชะแล้ บางเขียด ห้วยลาด เป็นแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคและการเกษตร 3. คลองขุด เช่น คลองอาทิตย์ คลองเปรม เป็นคลองที่กักน้ำจากนํ้าฝนและสูบเติมน้ำมาจากทะเลสาบและเป็นคลองระบายน้ำไปในตัว คลองธรรมชาติต่างๆ เป็นสายเชื่อมโยงกับทะเลสาบที่ใช้ทั้งใช้น้ำสัญจรและระบายน้ำ จากการหารือในวันนี้เป็นการร่วมคิดหาแนวทางการจัดการน้ำการช่วยเหลือแก้ปัญหาระยะสั้นและการคิดวางแผนระยะยาว

...

นายไพเจน กล่าวว่า ทาง อบจ.สงขลา ได้ปรึกษาหน่วยงานชลประทาน เจ้าภาพหลัก มีการบริหารจัดการน้ำร่วมกับกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อให้เกิดการใช้น้ำที่ได้รับประโยชน์สูงสุดในสภาวการณ์ภัยแล้ง และประสานความเข้าใจกับเกษตรกรไม่ให้เกิดปัญหาข้อขัดแย้งเรื่องนํ้าที่มีจำกัด โดยการสูบน้ำให้เหมาะสมกับชนิดของการปลูกพืชและการเกษตร และระดับความเค็มของน้ำ

นายก อบจ.สงขลา กล่าวด้วยว่า ทาง อบจ.สงขลา ทำงานสนับสนุนและช่วยแก้ปัญหาที่เกินจากบทบาทภารกิจชลประทาน รวมทั้งการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเร่งด่วนต่างๆ ผลักดันการจัดการน้ำระยะยาว เช่น การวางแผนระบบมีส่วนร่วมในการทำเกษตรกรรม ให้เหมาะสมกับทรัพยากรน้ำการจัดการน้ำ การสูบ การผันน้ำ การส่งน้ำให้ทั่วถึงและเพียงพอ การขุดแก้มลิงโดยกันพื้นที่ทะเสาบในจุดต่างๆ กระจายทั่วทะเลสาบ จัดหาโซลาร์เซลล์สูบน้ำในคลองต่างๆ การเชื่อมต่อท่อส่งนํ้าไปสู่ไร่นา การจัดการระบบเกษตรใช้นํ้าน้อย วางแผนการจัดการแหล่งน้ำรอบๆ บริเวณรอบทะเลสาบสงขลาในโอกาสต่อไป.