อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร มุ่งผลักดันการทำงานขององค์กร ชูความท้าทาย 7 ประเด็น พร้อมทั้งมุ่งส่งเสริม 5 ทักษะ พัฒนาเกษตรกรไทยสู่การทำเกษตรยุคใหม่ เพื่อยกระดับรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่า ภายใน 4 ปี

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ความท้าทายในปัจจุบันและอนาคตของภาคการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อระบบการสังเคราะห์ด้วยแสงของพืช ซึ่งมีความสัมพันธ์กับปริมาณและคุณภาพของผลผลิตสินค้าเกษตร รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพที่เสื่อมโทรมเพิ่มขึ้น จากภัยพิบัติที่มีความถี่และรุนแรงขึ้น และความไม่สมดุลของระบบนิเวศ (ห่วงโซ่อาหาร) หรือจะเป็นเรื่องความก้าวหน้าและความเร็วของเทคโนโลยีทุกด้าน ที่ส่งผลต่อระดับความเหลื่อมล้ำ และโอกาสในการเข้าร่วมห่วงโซ่อุปทานสินค้ามูลค่าสูง ซึ่งเชื่อมโยงและสัมพันธ์กับระดับความยากจนทั้งด้านบวกและด้านลบ ทำให้เกิดการเข้าถึง การใช้ประโยชน์ที่แตกต่างกันของปัจเจกบุคคล หรือจะเป็นการเข้าสู่โครงสร้างประชากรโลกที่สูงวัย ส่งผลต่อปริมาณของแรงงานที่ลดน้อยลง จากการอพยพแรงงานสู่ภาคอุตสาหกรรมและบริการที่ซึ่งมีความยืดหยุ่นของรายได้สูงกว่าภาคเกษตร (Income Elasticity) และการเปลี่ยนแปลงของระบบอาหารและแบบแผนโภชนาการ ที่ผู้คนเน้นมาตรฐานความปลอดภัยของอาหารและโภชนาการเพิ่มขึ้น เช่น พฤติกรรมและความต้องการโภชนาการกลุ่มคาร์โบไฮเดรต (แป้ง น้ำตาล) ไขมัน และความเค็ม ลดน้อยถอยลง ที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมด้านการเงิน ระบบสุขภาพ ฯลฯ

...

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวต่อว่า ด้วยระบบราชการที่มีการปรับตัวช้ากว่าโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (Digital and AI Transformation) วัฒนธรรมดิจิทัล (Digital Culture) ความคล่องตัว (Agility) และความสามารถในการต้านทานความเปราะบาง (Anti-fragile) ส่งผลต่อระดับคุณภาพมาตรฐาน การเข้าถึงและความคาดหวังของการให้บริการภาครัฐจะถูกเปรียบเทียบกับภาคเอกชน และคำถามต่อความคุ้มค่าจากภาษีของประชาชน รวมถึงปริมาณงานและค่างานเพิ่มขึ้นตามความต้องการของผู้บริโภค อาทิ ความคาดหวัง พฤติกรรม ทัศนคติ ความรู้ ทักษะสมัยใหม่ (Customers Segmentation) ซึ่งมีความซับซ้อนของปัญหาที่มากยิ่งขึ้น และไม่สามารถใช้วิธีการแก้ไขหรือบรรเทา รวมถึงการปรับตัวและพัฒนาการทำงานด้วยองค์ความรู้แบบเดิมได้อีกต่อไป จะต้องใช้ชุดองค์ความรู้แบบองค์รวม (Holistic Knowledge) อีกทั้งต้องอาศัยการมีส่วนร่วม และการทำงานร่วมกัน (Collaboration) ของหลายภาคส่วน ซึ่งจะต้องปรับวิธีคิด เปลี่ยนวิธีทำให้ทันก่อนที่จะสายเกินไป ทั้งหมดเหล่านี้จึงเป็นความท้าทายของนักส่งเสริมการเกษตรของกรมส่งเสริมการเกษตร ที่จะต้องก้าวทันความท้าทายดังกล่าว

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2567 กรมส่งเสริมการเกษตรจึงเพิ่มเป้าหมายงานส่งเสริมการเกษตรต่อเกษตรกร ให้สามารถผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูง สร้างรายได้เพิ่มขึ้น สู่การเกษตรที่ยั่งยืน โดยการขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐบาล และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้เกิดผลสำเร็จ ภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” เน้นการส่งเสริมพัฒนาทักษะเกษตรกร ให้สามารถใช้ประโยชน์จาก พฤกษศาสตร์ (Plant Science), เทคโนโลยีชีวภาพ (Bio Technology) และ เทคโนโลยีหมุนเวียน (Circular Technology) เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตรมูลค่าสูง และเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ผ่านภารกิจท้าทาย 7 ประเด็นสำคัญของกรมส่งเสริมการเกษตร ประกอบด้วย

1. พัฒนาแปลงต้นแบบสู่สินค้าเกษตรมูลค่าสูง 2. พัฒนาพื้นที่ ยกระดับผลิตภัณฑ์มวลรวมระดับจังหวัด 3. สานพลัง 8 เครือข่าย สร้างกลุ่มคลัสเตอร์การผลิต การตลาดสินค้าเกษตรชุมชน 4. ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 5. การขึ้นทะเบียนผู้ให้บริการทางการเกษตร 6. ส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และการบริหารจัดการธุรกิจเกษตร ในทุกช่วงวัยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล 7. การใช้ประโยชน์จากข้อมูล และเทคโนโลยีเครื่องจักรกลสมัยใหม่ 

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวต่อว่า นักส่งเสริมการเกษตรในยุคปัจจุบัน ต้องพัฒนาความรู้ให้มีความเท่าทันกับยุคสมัยที่แปรเปลี่ยนไปอยู่เสมอ รู้จักเปลี่ยนพฤติกรรมตามข้อมูลใหม่ที่ได้รับ โดยนำข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และดิจิทัลมาปรับใช้ในการทำงาน ทั้งนี้ นักส่งเสริมการเกษตรจะต้องเข้าใจถึง 5 ทักษะสำคัญต่อเกษตรกรไทย เพื่อจะนำไปถ่ายทอดต่อให้เกษตรกรได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น และเกิดความน่าเชื่อถือของข้อมูล เกษตรกรจะเกิดความมั่นใจต่อข้อมูลที่ได้รับ และกล้าที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเอง โดย 5 ทักษะสำคัญต่อเกษตรกรไทย ประกอบด้วย

...

1. Growth Mind Set & Anti Fragile คือ มีความเชื่อว่าความสำเร็จเกิดขึ้นได้จากการเรียนรู้ ความพยายาม และการฝึกฝน และเมื่อล้มเหลวจะพยายามมากขึ้น และความสามารถในการต้านทานความเปราะบาง ถือเป็นคุณสมบัติที่สำคัญต่อธุรกิจ บุคคลที่อยากมีความก้าวหน้าในโลกที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงง่าย ทักษะนี้จะช่วยให้เรารับมือกับเหตุการณ์ผิดปกติและคาดเดาไม่ได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเรา ได้อย่างเป็นมืออาชีพมากขึ้น ทำให้เรากลัวมันน้อยลง และสามารถทำใจยอมรับมันเป็น บทเรียน หรือ ประสบการณ์ ได้ง่ายขึ้น

2. Learning Skills คือ ความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูล ประเมินสถานการณ์ และคิดอย่างสร้างสรรค์เพื่อแก้ปัญหาที่ซับซ้อน การสร้างไอเดียใหม่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ และการใช้เทคโนโลยีใหม่เพื่อแก้ไขปัญหา การทำงานร่วมกับผู้อื่นในทีม การสื่อสาร การแบ่งหน้าที่ การแก้ไขข้อขัดแย้ง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน ตลอดจนการเขียน การพูด การฟัง การสื่อสารออนไลน์ การสื่อสารระหว่างวัฒนธรรมและระหว่างสังคมต่างๆ

3. Financial Literacy คือ ความสามารถที่จะเข้าใจและกระจายความเสี่ยงทางการเงิน การปรับแผนการผลิตการตลาดในสภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย การจัดสรรเงินก่อนใช้จ่าย การบริหารการเงิน ทัศนคติการเป็นหนี้ การชำระหนี้แบบต่างๆ และการใช้จ่ายเงินที่เหมาะสม

...

4. Digital Literacy คือ ความสามารถในการเข้าใจ เข้าถึง และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่มีอยู่ในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเป็นทักษะพื้นฐานสำคัญที่ทุกคนควรมี เพราะทักษะนี้เป็นตัวช่วยในการต่อยอดไปสู่ทักษะอื่นๆ ที่เฉพาะเจาะจงกับสายอาชีพมากขึ้น

5. ESG Literacy for Resilience: Environment Social Governance หรือ ความรู้ ความตระหนัก ความเข้าใจถึงการกระทำต่างๆ ที่ส่งผลกระทบทั้งบวกและลบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการปฏิบัติตนให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Skills) ความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิต (เกษตรกร) และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่อุปทาน การใช้ความสำคัญต่อสิทธิมนุษยชน เพศ สวัสดิการแรงงาน และการกำกับดูแลและการนำองค์กรที่ดี)

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวด้วยว่า การทำเกษตรในยุคสมัยใหม่ เราจะทำแบบเดิมไม่ได้ นักส่งเสริมการเกษตรต้องเชื่อมั่นว่า ถ้าเราทำงานร่วมกัน แบ่งปันข้อมูลมากขึ้น กรมส่งเสริมการเกษตรจะเติบโต สร้างคุณค่าที่เกษตรกรต้องการจากเราได้มากยิ่งขึ้น และเราจะส่งมอบข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ที่เหมาะสมให้เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกษตรกรไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่า ภายใน 4 ปี เพราะรอยยิ้มของเกษตรกร คือความภาคภูมิใจของเรา.