ชาวนาข้าวปลอดสารครบวงจรที่ จ.ราชบุรี วอนรัฐชะลอขึ้นค่าไฟ หวั่นกระทบต้นทุนสีข้าว โดยแม้กำลังพิจารณาการใช้โซลาร์เซลล์มาติดตั้งในโรงสีข้าว แต่ก็มีราคาแพงมาก จึงอยากให้รัฐบาลหามาตรการส่งเสริมสนับสนุนพลังงานทางเลือกด้วยเช่นกัน

ตามที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ย้ำกับที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ที่ผ่านมาว่า จะต้องทำให้ค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 67 ต่ำกว่า 4.20 บาทต่อหน่วยให้ได้ พร้อมยอมรับว่าการปรับลดค่าไฟฟ้าอาจจะกระทบกับส่วนอื่น แต่ขอให้ยึดผลประโยชน์ของประชาชน โดยจะสนับสนุนมาตรการช่วยค่าไฟให้กับกลุ่มผู้เปราะบางที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน จำนวน 17 ล้านครัวเรือน ให้ได้ใช้ค่าไฟเท่ากับงวดปัจจุบันคือ 3.99 บาทต่อหน่วย ซึ่งจะต้องรอผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ไปพบกับ นายประโยชน์ เสลานนท์ เกษตรกร ต.บ้านม่วง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี อดีตลูกจ้างเมืองกรุง ที่หันกลับมาสานต่ออาชีพของครอบครัว ซึ่งได้สะท้อนถึงปัญหาค่าไฟฟ้าว่า ด้วยการที่ตนเองเลือกปลูกข้าวคุณภาพแบบปลอดสารพิษ ทั้งข้าวไรซ์เบอร์รี ทับทิมชุมแพ หอมปทุม หอมมะลิแดง และสังข์หยด ซึ่งดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค และช่วยลดต้นทุนการผลิต นอกจากนี้ยังได้กู้เงินมาซื้อเครื่องอบไล่ความชื้น และเครื่องสีข้าว รวมทั้งเครื่องบรรจุภัณฑ์สุญญากาศ เพื่อแปรรูปเป็นข้าวบรรจุถุงออกจำหน่ายเอง เนื่องจากไม่ต้องการอยู่ภายใต้ตลาดที่มีโรงสีเป็นผู้ควบคุมราคา

...

เกษตรกรข้าวปลอดสารพิษที่ ต.บ้านม่วง กล่าวต่อว่า แต่ต้องยอมรับว่าการแปรรูปด้วยตนเองมีต้นทุนสูง โดยเฉพาะในส่วนของค่าไฟฟ้า ซึ่งเป็นต้นทุนถึงร้อยละ 70 เริ่มตั้งแต่การอบไล่ความชื้นข้าว ที่ต้องใช้ไฟฟ้านานประมาณ 12 ชั่วโมงต่อข้าว 1 ตัน ตามมาด้วยการสีข้าวที่ใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมงต่อข้าว 1 ตัน และการบรรจุข้าวแบบสุญญากาศทีละถุง หากรัฐบาลไม่สามารถควบคุม และมีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า ก็จะส่งผลให้ต้องมีต้นทุนเพิ่มขึ้นอีก 1-2 เท่าตัว จนกระทบกับรายรับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งถึงเวลานั้นหากแบกรับไม่ไหว คงต้องปรับราคาขายข้าวขึ้น ก็จะไปกระทบกับผู้บริโภค และอาจจะสะท้อนกลับมาถึงยอดขายที่ลดลง เนื่องจากมีผลกับการตัดสินใจซื้ออีกด้วย

นายประโยชน์ กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวกำลังศึกษาพลังงานทางเลือกอย่างโซลาร์เซลล์มาติดตั้งในโรงสีข้าว แต่ก็ต้องพบกับราคาต้นทุนอุปกรณ์ทั้งแผงพลังงาน คอนเวอร์เตอร์ และค่าใช้จ่ายในการติดตั้งระบบที่สูงมาก ดังนั้น จึงอยากให้รัฐบาลชะลอการตัดสินใจเพิ่มค่าไฟฟ้าออกไปก่อน รวมไปถึงหันมาส่งเสริมในเรื่องของแหล่งเงินทุนและองค์ความรู้ เพื่อให้เกษตรกรสามารถปรับเปลี่ยนมาใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีจากพลังงานทางเลือก ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนต่อไป.