รมช.ไชยา มอบนโยบาย อ.ส.ค.มวกเหล็ก คาดหวังเพิ่มความสามารถแข่งขันทัดเทียมเอกชน พลิกเกมให้กลับมามีกำไร โดยบริหารต้นทุน คิดหารูปแบบธุรกิจใหม่ๆ เพื่อเป็นแกนหลักของอุตสาหกรรมโคนม แจงมิลค์บอร์ดเคาะราคารับซื้อนมดิบใหม่แล้ว เข้า ครม.รอพิจารณา

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2566 ที่องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยคณะ ได้เดินทางไปเพื่อมอบนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนด้านอุตสาหกรรมนม และเยี่ยมชมโรงงานผลิตภัณฑ์นม อ.ส.ค.มวกเหล็ก ดูระบบฟาร์มประสิทธิภาพสูง ฟาร์มท่องเที่ยวเชิงเกษตร อ.ส.ค. ในการนี้ นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ ประธานบอร์ด อ.ส.ค. กล่าวต้อนรับ นายสมพร ศรีเมือง ผู้อำนวยการ อ.ส.ค. ได้บรรยายสรุปผลการดำเนินงานของ อ.ส.ค. โดยมีผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ

...

รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า อาชีพการเลี้ยงโคนม ถือเป็นอาชีพพระราชทานจาก ในหลวง รัชกาลที่ 9 และทรงมีความมุ่งมั่นที่จะให้อาชีพการเลี้ยงโคนมเป็นอาชีพที่สร้างความมั่นคงให้แก่เกษตรกร ซึ่ง อ.ส.ค.เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัด ก.เกษตรฯ ที่มีบทบาทสำคัญต่ออุตสาหกรรมโคนมของประเทศ โดยนมไทย-เดนมาร์ก หรือนมตราวัวแดง มีเครื่องจักร และกระบวนการผลิตที่ดีอันดับ 1 ในอาเซียน และเป็นผลิตภัณฑ์นมที่คนไทยเลือกซื้ออันดับ 1 ซึ่งสามารถแข่งขันกับภาคเอกชนได้ จึงมอบนโยบายให้ อ.ส.ค.วางแผนส่งเสริมกิจการโคนมแบบนักธุรกิจในปี 2567

ปัจจุบันการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมมีอุปสรรคจากการเกิดโรคระบาดในวัว (ลัมปีสกิน) ต้นทุนอาหารสูง ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมขาดทุน จึงเลิกกิจการเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้น้ำนมดิบมีปริมาณลดลง และเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2566 อ.ส.ค. ได้ปรับราคาซื้อน้ำนมดิบ ณ โรงงานเพิ่มขึ้น 2.25 บาท/กิโลกรัม เป็น 22.75 บาท/กิโลกรัม เพื่อบรรเทาปัญหาให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมให้มีเงินทุนเพิ่มขึ้น รวมถึงผลักดันให้ อ.ส.ค. ผลิตน้ำนมแปรรูปในเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบ

นายไชยา กล่าวต่อว่า สิ่งที่อยากเห็น คือ อ.ส.ค.สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการเอกชนในท้องตลาดได้ และลดภาระขาดทุน เพื่อพลิกกลับมามีกำไร อันหมายถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่เป็นสมาชิกจะมีรายได้เพิ่มมากขึ้น โดยแผนที่จะมีการจัดทำแบรนด์ใหม่ เพื่ออกสินค้าเจาะตลาดระดับบน เนื่องจากมีกำลังซื้อสูง สามารถทำกำไรได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อ.ส.ค.มีต้นทุนจากแหล่งน้ำนมดิบที่มีคุณภาพ ทำให้มีจุดขายสินค้าที่คุณค่าทางอาหารมากกว่าผู้ประกอบการที่ผลิตจากน้ำนมแปรรูปที่มีนมผงผสม รวมทั้ง อ.ค.ส.จะผันตัวไปเป็นพี่เลี้ยงให้กับกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย หรือ SMEs ในท้องถิ่น รับช่วงต่อในการจำหน่ายนมโรงเรียนแทน 

...

"การดำเนินงานของ อ.ส.ค. จากนี้ไปต้องมีการบริหารแบบมืออาชีพ เอาคนที่เชี่ยวชาญมาทำงาน ทั้งด้านการดำเนินธุรกิจ และการส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกร อยากให้ผู้บริหารได้คิดนอกกรอบ ในการพัฒนา อ.ส.ค. ซึ่งได้สั่งการให้ อ.ส.ค. ได้มีมีการจัดทำแผนธุรกิจเชิงรุกที่ช่วยเพิ่มรายได้ สร้างส่วนแบ่งการตลาดให้เพิ่มขึ้น รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีมูลค่าสูง ยกระดับการทำตลาดไปสู่ตลาดบน อีกทั้งเป้าหมายในระยะยาวที่อยากจะให้ไปให้ถึง คือการนำ อ.ส.ค.เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุน จะนำประโยชน์มาสู่ อ.ส.ค. โดยเฉพาะด้านการระดมทุน แต่เรื่องนี้อาจจะต้องมีการศึกษาโดยร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ต่อไป" รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าว

...

นายไชยา กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันต้องช่วยเหลือเกษตรกรแก้ปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนค่าอาหารสัตว์ โดยนอกจากให้ อ.ส.ค.ได้เร่งดำเนินการแล้ว ตนเองจะดำเนินการให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เช่น การสนับสนุนให้มีการทำคอนแทคฟาร์มมิ่งระหว่างสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนม กับสหกรณ์ที่เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สำคัญ เพื่อช่วยลดต้นทุนค่าวัตถุดิบ และขอแจ้งไปยังเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้ยื่นเรื่องการปรับราคาการจำหน่ายน้ำนมดิบในราคาที่เป็นธรรม โดยขึ้นราคาน้ำนมดิบอีกกิโลกรัมละ 3.75 บาท ตามมติการประชุมคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (มิลค์บอร์ด) เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรียบร้อยแล้ว

...

จากนั้น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของ สหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค (มิตรภาพ) จำกัด อำเภอมวกเหล็ก โดยมี นายบัญชา เชาวรินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี พร้อมหัวหน้าส่วนราชการให้การต้อนรับ ร่วมรับฟังการบรรยายสรุปผลการดำเนินงานของสหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค(มิตรภาพ) จำกัด อำเภอมวกเหล็ก รับฟังปัญหาของเกษตรกรสมาชิก ตัวแทนผู้เลี้ยงโคนมในพื้นที่ 

จากนั้น เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมขอให้กระทรวงเกษตรฯ แก้ไขปัญหา ได้แก่ ต้นทุนอาหารสำหรับโคนมมีราคาสูง รวมถึงต้องการจำหน่ายน้ำนมดิบในราคาตามกลไกตลาด เพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมสามารถมีรายได้ โดยชี้ว่าแม้ราคารับซื้อน้ำนมดิบจะสูงแล้วก็ตาม แต่ราคาอาหารสัตว์ โดยเฉพาะอาหารข้นพุ่งล้ำหน้าไปแล้ว เท่ากับว่าเริ่มต้นก็ขาดทุน จนทำให้ผู้เลี้ยงโคนมแทบจะอยู่ไม่ได้ เพราะแบกต้นทุนค่าอาหารไม่ไหว ตัดสินใจขายวัวนมที่ถือว่าเป็นแม่พันธุ์วัวนมที่ดีที่สุดไปสู่โรงเชือด อันเป็นความสูญเสียที่รุนแรงต่ออุตสาหกรรมโดยรวม และในอนาคตจะไม่มีใครมาสืบทอดอาชีพการเลี้ยงวัวนมอีก รวมทั้งการเข้าถึงแหล่งเงินทุนปลอดดอกเบี้ยระยะ 3-5 ปี เพื่อให้เกษตรกรสามารถเดินต่อไป

ทั้งนี้ นายไชยา ได้รับฟังปัญหา และให้กำลังใจเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม พร้อมกล่าวว่า  เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมขอให้กระทรวงเกษตรฯ แก้ไขปัญหา ได้แก่ ต้นทุนอาหารสำหรับโคนมมีราคาสูง รวมถึงต้องการจำหน่ายน้ำนมดิบในราคาตามกลไกตลาด เพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมสามารถมีรายได้ ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้ยื่นเรื่องการปรับราคาการจำหน่ายน้ำนมดิบในราคาที่เป็นธรรม ตามมติการประชุมของมิลค์บอร์ดเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีร้อยแล้ว โดยจะต้องรอการพิจารณาของทางฝั่งกระทรวงพาณิชย์ต่อไป.