หน้าแรกแกลเลอรี่

พลังสู่ความสำเร็จ

ไทยรัฐฉบับพิมพ์

10 ต.ค. 2565 05:05 น.

ปรากฏการณ์การสร้างผลงานกระหึ่มโลกของนักตบลูกยางสาวไทย หรือนักตบ “กุหลาบเพชร” ในศึกวอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์โลก 2022 จนนำมาซึ่งความสุขและความประทับใจให้ชาวไทยและแฟนกีฬาทั่วโลกนั้น

กรณีของความสำเร็จที่ทีมสาวไทยภายใต้การผนึกพลังร่วมของสตาฟฟ์โค้ชและผู้เกี่ยวข้องตลอดจนสมาคมกีฬาลูกยางที่สามารถต่อกรกับนักตบ ระดับเบอร์ต้นๆของโลกได้อย่างไม่เกรงในศักดิ์ศรีเชื่อว่าแฟนกีฬาคงอยากทราบว่าปัจจัย หรือองค์ ประกอบใดที่สามารถสร้างทีมกีฬาให้เป็นหนึ่งในใจคน และสามารถจับต้องได้อย่างเชิงประจักษ์

จากคำถามและโจทย์ดังกล่าววันนี้มีคำตอบมาบอกเล่าถึงเบื้องลึกเบื้องหลังของการสร้างทีมลูกยาง สาวไทยที่วันนี้ติดลมบนสร้างชื่อไปทั่วทั้งในและต่างประเทศ

เบื้องลึกเบื้องหลังที่ได้มานั้นบังเอิญเมื่อเร็วๆนี้ได้ฟังการให้สัมภาษณ์ “สมพร ใช้บางยาง” นายกสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทยฯ ผ่านรายการ วิทยุรายการหนึ่ง

ซึ่งสาระสำคัญที่นายกสมาคมเล่าความเป็นมาเป็นไปจนนำมาสู่ความยั่งยืนของการขับเคลื่อนการพัฒนาและยกระดับจวบจนบัดนี้ ปัจจัย หรือองค์ประกอบของความสำเร็จที่มีต่อการสร้างทีมหรือนักตบลูกยางสาวให้ก้าวมาถึงวันนี้ได้นั้นต้องใช้เวลาถึง 30 กว่าปี

หนึ่งในปัจจัยแห่งความสำเร็จคือภาวะผู้นำและ การบริหารจัดการ ซึ่งหากย้อนไปในปี 2528 คณะ ทำงานสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลที่มี “กิจ พฤกษ์ชะอุ่ม” เป็นแกนหลักในขณะนั้นได้เสนอแนวทาง หรือการแสวงหาแนวร่วมเพื่อการพัฒนาและต่อยอดสู่อนาคตด้วยการเชิญผู้มีบารมีที่มีตำแหน่งหน้าที่สามารถประสานงานได้ทั่วทิศ

และแล้วชื่อของ “พิศาล มูลศาสตรสาทร” ซึ่งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น ก็ถูกจุดประกายขึ้น จากนั้นเป็นต้นมาการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาและยกระดับวงการกีฬาลูกยางไทยก็ปรากฏขึ้นอย่างเป็นรูปเป็นร่างนับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ในฐานะขุนพลของมหาดไทยที่มีใจรักกีฬาเป็นทุนได้ส่งเสริมและวางรากฐานจนได้รับการยอมรับ เป็นคนแรก ต่อมาตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาลูกยางไทย จึงเป็นหนึ่งในบทบาทหน้าที่ของปลัดกระทรวงมาอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่ “สมพร ใช้บางยาง” จะมารับ ไม้ต่อจวบจนปัจจุบัน

ด้วยความมุ่งมั่นทุ่มเทของจอมทัพองค์กรหรือผู้นำของสมาคมภายใต้พลังร่วมที่เข้ามาเพื่อประโยชน์ชาติโดยไม่เห็นแก่ชื่อเสียงและหน้าตาของตนเอง กีฬาวอลเลย์บอลที่คนไทยเล่นกันในวงจำกัด จึงมีการแพร่หลายไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศโดยเครือข่ายมหาดไทย

อีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลมาถึงวันนี้คือการสร้างและปั้นนักตบรุ่นเยาว์ด้วยการจัดการแข่งขันให้เป็นที่แพร่หลายในทุกระดับตั้งแต่อายุ 12-18 ปี รวมทั้งกระจายไปในระดับอุดมศึกษาและชิงแชมป์ประเทศไทย

ผลของการบ่มเพาะพันธุ์กล้าดังกล่าวนั้นเองวงการลูกยางไทย โดยเฉพาะในทีมหญิงกลับพบเพชรเม็ดงามที่กระจายผลิดอกออกผลผ่านสถานศึกษาไปทั่วสารทิศ

จุดเริ่มต้นของนักตบดาวเด่นหลายคนที่ผงาดเข้าสู่ทีมชาติจนได้รับการยอมรับมีแฟนคลับจำนวนมาก ถ้าจะเอ่ยนามในวาระแรกเริ่มคงหนีไม่พ้น “ปริม อินทวงศ์” และที่เด่นและดังสุดๆในยุคเปลี่ยนผ่าน “7 เซียนสาว” ที่รังสรรค์ผลงานสร้างชื่อและส่งความสุขให้คนไทยในหลายรายการ

วันนี้ดาวเด่นที่กำลังเฉิดฉายในสังเวียนลูกยาง โลก ไม่ว่า “เพียว” อัจฉราพร คงยศ “บุ๋มบิ๋ม” ชัชชุอร โมกศรี “บีม” พิมพิชยา ก๊กรัมย์ หรือกัปตันอย่าง “ชมพู่” พรพรรณ เกิดปราชญ์ กว่าจะ มาถึงวันนี้ เขาเหล่านั้นล้วนแล้วแต่เป็นเด็กต่างจังหวัด ที่ผ่านการบ่มเพาะมานับ 10 ปี และร่วมแสดงฝีมือมา กับทีมชาติรุ่นพี่

ทุกอย่างสะท้อนให้เห็นว่าการจะบรรลุเป้าหมาย นำมาซึ่งความสำเร็จนั้น “ผู้นำ” ที่ผนวกกับ “การบริหารจัดการมืออาชีพ” ภายใต้ความมุ่งมั่น เสียสละ ทุ่มเท เท่านั้นผลแห่งความสำเร็จก็จะตามมาและแสวงหาได้ไม่ยากนักหากจะทำ

รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

OOOOOOO

นับเป็นความสำเร็จของกีฬาไทยที่สามารถครองใจแฟนๆได้อย่างเหนียวแน่น ยิ่งในยุคนี้กีฬาประเภททีมที่มีผลงานประจักษ์และจับต้องได้มีน้อยซะด้วย จึงไม่แปลกที่กีฬาวอลเลย์บอลสาวจะเป็นที่ ชื่นชอบและมีแฟนคลับอย่างล้นหลามแบบนี้

กลับบ้านคราวนี้ “นายกฯตู่” และ “ลุงป้อม” คงต้องเทียบเชิญชวนเข้าทำเนียบรัฐบาลดังที่เคยดำเนินการกับนักกีฬาชนิดต่างๆมาก่อนหน้านี้อย่าง แน่นอน

ในฐานะแฟนกีฬาชาวไทยขอเป็นส่วนหนึ่งที่จะขอบคุณและชื่นชมต่อนักกีฬาผู้ฝึกสอนตลอดจนผู้เกี่ยวข้องด้วยจิตคารวะ.


โจโจ้ซัง