หน้าแรกแกลเลอรี่

ที่สุด "ลูกยางสาวไทย" ในปี 2021 - ทิศทาง "วอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย" ปี 2022

ไทยรัฐออนไลน์

2 ม.ค. 2565 20:00 น.

วงการวอลเลย์บอลหญิงไทย ปี 2021 มีเหตุการณ์ที่ไม่น่าจดจำและประทับใจเกิดขึ้น ส่วนในปี 2022 เป็นอีกหนึ่งปีที่แฟนลูกยางต้องจับตามองสายเลือดใหม่ เข้ามาสานต่อรุ่นพี่ 7 เซียนแบบเต็มตัว

ครั้งสุดท้ายที่แฟนลูกยางได้เห็นทัพวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยลงสนามต้องย้อนกลับไปในการแข่งขันโอลิมปิก 2020 รอบคัดเลือก โซนเอเชีย ที่จังหวัดนครราชสีมา ก่อนที่สถานการณ์โควิด-19 จะแพร่ระบาดไปทั่วโลก ทำให้การแข่งขันกีฬาทุกอย่างต้องหยุดชะงัก ส่วนในปี 2021 มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นกับทีมวอลเลย์บอลหญิงไทยบ้าง ย้อนไปติดตาม 

วอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย ติดโควิด-19 เกือบทั้งทีม

อย่างไรก็ตามเมื่อสถานการณ์คลี่คลายทางสหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติ หรือ FIVB ได้กำหนดจัดแข่งขันเนชันส์ ลีก 2021 ในรูปแบบใหม่หรือบับเบิล วันที่ 25 พ.ค. - 25 มิ.ย. ทำให้ทางสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทยฯ เริ่มดำเนินการเตรียมทีม นำนักกีฬาหญิง 20 คนไปเก็บตัวฝึกซ้อมที่จังหวัดนครปฐม เนื่องจากทางการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ประกาศปิดพื้นที่จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร โดยทีมชุดนี้ถือว่าเป็นที่สนใจของแฟนลูกยางเนื่องจากเป็นทีมสายเลือดใหม่ไม่มี 6 เซียน

ซึ่งการเก็บตัวอยู่ภายใต้มาตรการที่เข้มข้นห้ามนักกีฬาไปข้างนอก แต่แล้วเหตุการณ์ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 64 สมาคมลูกยางประกาศว่านักตบลูกยางสาวติดโควิด-19 เกือบทั้งทีม ต้องเข้ารับการรักษา ส่วนคนที่ไม่ติดเชื้อต้องกักตัว

6 เซียนนำทีมชุดเฉพาะกิจ

โชคดีที่ทาง สหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติ (FIVB) อนุเคราะห์ยกเว้นระเบียบบางประการ ให้ทีมชาติไทยส่งทีมเข้าแข่งขันเป็นการเร่งด่วน โดยสมาคมวอลเลย์บอลฯ พยายามดู นักกีฬาจาก 4 ทีมที่เข้ารอบสุดท้ายในการแข่งขันไทยแลนด์ลีก 2020-2021 เพราะยังมีสภาพร่างกายที่พร้อมอยู่ รวมทั้งพิจารณาจากประสบการณ์ของนักกีฬาที่ผ่านการแข่งขันระดับนานาชาติมาแล้ว เนื่องจากไม่มีเวลารวมทีม นักกีฬาที่มีประสบการณ์สูงจะสามารถทําการแข่งขันได้เลย ทีมชุดเฉพาะกิจ นำโดย 6 เซียน วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์, นุศรา ต้อมคํา ปลื้มจิตร ถินขาว, อรอุมา สิทธิรักษ์, มลิกา กันทอง, อําพร หญ้าผา และ ผู้เล่นตัวเก๋า ฐาปไพพรรณ ไชยศรี, ปิยะนุช แป้นน้อย มี โค้ชแขก กิตติคุณ ศรีอุทธวงศ์ เป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอน ผลการแข่งขันจบที่ 16 ซึ่งเป็นอันดับสุดท้าย แต่ถือเป็นแมตช์ทางการที่ 6 เซียนเล่นด้วยกันทิ้งทวนได้อย่างน่าประทับใจ และสปิริตของนักกีฬาคนอื่นที่มาช่วยทีมชาติอย่างกะทันหัน

ยังไม่มีโอกาสได้เห็นทีมสายเลือดใหม่

ทัวร์นาเมนต์ต่อมาคือ วอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์เอเชีย 2021 ที่ฟิลิปปินส์ วันที่ 29 สิงหาคม ถึง 4 กันยายน โดยวันที่ 20 กรกฎาคม ทัพตบลูกยางสาวไทยกลับมารวมตัวฝึกซ้อมอีกครั้ง ที่จังหวัดอ่างทอง ภายใต้มาตรการที่เข้มข้นกว่าเดิม ด้วยการตรวจโควิด 3 วันครั้ง แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังคงระบาดรุนแรงทำให้วอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์เอเชีย ถูกเลื่อนออกไปปี 2022 สุดท้ายต้องถูกยกเลิก รวมทั้ง ซีเกมส์ 2021 ประเทศเวียดนาม ก็ถูกเลื่อนไปปี 2022 ทำให้วอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย ชุดสายเลือดใหม่ยังไม่ได้ลงแข่งขันสักรายการในปี 2021

อำลา 7 เซียน

ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา 7 พ.ย. การกีฬาแห่งประเทศไทย และ สมาคมกีฬาวอลเลย์บอลฯ จัดงาน อำลา 7 เซียนนักตบลูกยางสาวไทย และ “โค้ชอ๊อด” เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร ร่วมสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา กับการรวมตัวกันอีกครั้งของ “หน่อง” ปลื้มจิตร์ ถินขาว, “ซาร่า” นุศรา ต้อมคำ, “อร” อรอุมา สิทธิรักษ์, “แจ๊ค” อำพร หญ้าผา, “ปู” มลิกา กันทอง, “กิ๊ฟ” วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์ และ “นา” วรรณา บัวแก้ว กับแมตช์อำลาส่งท้ายในฐานะทีมชาติไทย ก่อนส่งไม้ต่อให้รุ่นน้อง

นักตบลูกยาวสาวไทย ออกเล่นลีกนอกหลายคน

อย่างไรก็ตามแม้ว่า แฟนวอลเลย์บอลไทยจะไม่ได้เห็นบรรดานักตบสายเลือดใหม่ลงเล่นในนามทีมชาติแต่ถือเป็นสัญญาณที่ดี ที่นักกีฬาสายเลือดใหม่ของไทยได้ออกไปเล่นลีกต่างประเทศมากทถึง 6 คน นอกเหนือจากค่าเหนื่อยที่ได้มากกว่าเล่นอยู่ในไทยแลนด์ลีก หลายเท่า เรื่องของประสบการณ์เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยนำกลับมาพัฒนาต่อยอดในเวทีทีมชาติต่อไป

ญี่ปุ่น 4 คน

“แนน” ทัดดาว นึกแจ้ง / เจที มาร์เวลลัส
“เตย” หัตถยา บำรุงสุข /  โตโยต้า ออโต บอดี ควินซีส์
“บีม” พิมพิชยา ก๊กรัมย์ / คุโรเบะ อควาแฟรีส์
“เดียร์” จรัสพร บรรดาศักดิ์ / เดนโซ แอร์ริบีส์

ตุรกี 2 คน
ซาริเยร์ เบเลดิเยสปอร์
“บุ๋มบิ๋ม” ชัชชุอร โมกศรี
“เพียว” อัจฉราพร คงยศ

ทิศทางวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย 2022 - สายเลือดใหม่ขึ้นสานต่อ 7 เซียน 

โปรแกรมปี 2022 ของวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย จะประกอบด้วย

ซีเกมส์ วันที่ 12-23 พ.ค. ที่เวียดนาม
เนชันส์ ลีก (ทีมหญิง) เริ่มแข่งวันที่ 31 พ.ค.
เอวีซี คัพ วันที่ 21-28 ส.ค. ที่ฟิลิปปินส์
เอเชียนเกมส์ วันที่ 10-25 ก.ย. ที่จีน
ชิงแชมป์โลก วันที่ 23 ก.ย. - 15 ต.ค. ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์-โปแลนด์

5 รายการที่ทีมหญิงจะต้องลงแข่งขัน ถือว่าค่อนข้างถี่ ดังนั้นทางสมาคมฯ อาจจะต้องวางแผนหมุนเวียนนักกีฬาให้ดีและให้โอกาสดาวรุ่งบางราย เพื่อสร้างขึ้นมาเสริมทีมชุดใหญ่ที่ดูเหมือนจะขาดช่วงนับตั้งแต่ มี ชัชชุอร โมกศรี หรือ พิมพิชยา ก๊กรัมย์ ที่ก้าวขึ้นมาช่วยทีมชุดใหญ่

นอกจากนั้นสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลฯ ต้องชั่งใจว่าจะเลือกส่งทีมชุดใหญ่ไปรายการใดระหว่าง เอเชียนเกมส์ หรือ ชิงแชมป์โลก เพราะช่วงเวลาคาบเกี่ยวกัน

บทเรียนปี 2021 สิ่งที่อยากเห็นปี 2022

สิ่งที่ต้องเรียนรู้จากปี 2021 การบริหารจัดการเก็บตัวนักกีฬาในรูปแบบบับเบิลอย่างเคร่งครัด จริงอยู่ว่าช่วงที่เตรียมทีมรายการชิงแชมป์เอเชีย จะมีมาตรการที่รัดกุมมากขึ้น แต่ก็เพราะมีบทเรียนรอบแรกที่เก็บตัวก่อนไปแข่งขันเนชันส์ ลีก นักกีฬาติดโควิด-19 ท้ังทีม ไม่เช่นนั้นอาจจะไม่มีมาตรการที่เข้มข้น รวมทั้งสถานที่เก็บตัวที่เหมาะสมนักกีฬาทีมชาติ

ส่วนสิ่งที่แฟนวอลเลย์บอลอยากเห็นมากที่สุดในปี 2022 อาจจะรวมทั้งปีต่อๆไปคือการให้โอกาสนักกีฬาดาวรุ่งขึ้นมาสู่เวทีทีมชาติมากขึ้น ไม่เช่นนั้นอาจจะมีนักกีฬาชุดใหญ่ไว้เป็นตัวเลือกน้อย เห็นได้จากต้องไปเรียกชุดเฉพาะกิจมาเสริมเป็นการด่วน รวมทั้งการบริหาร จัดการ พัฒนาระบบลีกให้มีคุณภาพ ซึ่งจะต่อยอดให้ทีมชาตินั้นแข็งแกร่งไปตามกลไก ดังเช่นทีมชาติญี่ปุ่นที่มีตัวเลือกเยอะและต่อกรกับทีมชั้นนำของโลกได้ดี

องค์ชายกระต่าย