หน้าแรกแกลเลอรี่

เก่าไป-ใหม่มา ได้เวลาลูกยางผลัดใบ

กัญจน์

27 มิ.ย. 2564 05:01 น.

วันเวลาหมุนเวียน เปลี่ยนไปทุกวัน งาน เลี้ยงเริ่มได้ ก็ย่อมมีวัน เลิกราได้เป็นธรรมดา เช่นเดียวกันกับทีมตบ ลูกยางสาวไทยชุดเฉพาะกิจ ที่นำโดย 6 เซียน “กิ๊ฟ” วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์ “หน่อง” ปลื้มจิตร์ ถินขาว “แจ็ค” อำพร หญ้าผา “ซาร่า” นุศรา ต้อมคำ “อร” อรอุมา สิทธิรักษ์ และ “ปู” มลิกา กันทอง ก็ถึงวันที่ต้องโบกมือลาทีมชาติ หลังจากทำหน้าที่ร่วมกันมากว่า 20 ปี

โดยส่งท้ายในศึกวอลเลย์บอลหญิงเนชันส์ ลีก 2021 ที่เมืองริมินี ประเทศอิตาลี ซึ่งจากการลงสนามทั้งหมด 15 นัด ชนะ 2 นัด แพ้ 13 นัด มี 6 คะแนน จบรายการนี้อันดับที่ 16 เป็นอันดับสุดท้าย

จริงๆแล้วบรรดา 6 เซียน ก็เตรียมถอยหลังกับการเล่นทีมชาติไปก่อนหน้านี้แล้ว

แต่ด้วยปัญหาที่ทีมนักตบลูกยางสาวไทย สายเลือดใหม่ ที่ทางสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย โดย สมพร ใช้บางยาง นายกสมาคมฯ เตรียมไว้ทำศึกเนชันส์ ลีก ติดโควิด-19 เกือบยกทีม ก่อนหน้าการแข่งขันไม่กี่วัน เลยต้องดึงจอมเก๋า มาขัดตาทัพไปก่อน โดยมี “โค้ชแขก” กิตติคุณ ศรีอุทธวงศ์ เป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอน จำเป็น

ซึ่งผลงานที่นักกีฬามากประสบการณ์ ร่วมด้วยกำลังเสริมอีกส่วน ทำส่งท้ายไว้ในรายการนี้ ถือว่าพอรับได้ ด้วยมีเวลาเตรียมทีมก่อนเดินทางไม่กี่วันเท่านั้น

สำหรับบรรยากาศหลังนัดสุดท้าย ที่แพ้อิตาลี 1–3 เซต แฟนๆกีฬายังคงจำกันได้ว่า ทั้ง 6 คน ถูกรายล้อมด้วยนักกีฬารุ่นน้อง และต่างก็มีน้ำตา นองหน้า กอดกันกลม ด้วยความซาบซึ้งใจ ขณะที่ สหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติก็ร่วมยกย่องความสามารถ ด้วยการทำคลิปถ่ายทอดความรู้สึกเอาไว้ให้ด้วย

แน่นอนว่าแต่ละคนคงต่างใจหายไม่น้อย ที่จะไม่ได้เล่นให้ทีมชาติไทยอีกแล้ว เพราะตลอดเส้นทางการเล่นวอลเลย์บอล พวกเขาอยู่เคียงข้างกันมาตลอด

ในโอกาสนี้ “ฮอตสปอร์ต” จึงขอไล่เรียงความเป็นมาของ 6 เซียน ซึ่งรวมไปถึงอีก 1 เซียน อย่าง “นา” วรรณา บัวแก้ว ที่ปัจจุบันเป็นผู้ฝึกสอนให้ทีมสายเลือดใหม่อยู่ด้วยไว้พอสังเขป

จุดเริ่มของตำนาน 7 เซียนนั้น เกิดมาจากเมื่อปี 1997 สมาคมขาดแคลนนักกีฬาฝีมือดี เลยวางเป้า 4 ปีต่อจากนั้นว่า ในปี 2001 จะต้องทำทีมซีเกมส์ให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาให้ได้

โดยมี “โค้ชอ๊อด” เกียรติพงษ์ รัชตะเกียงไกร เป็นกำลังหลัก ทำหน้าที่หัวหน้าผู้ฝึกสอน ขณะที่ “ดร.เล็ก” ผศ.ดร.ประเวช รัตนเพียร รับบทผู้จัดการทีม คอยให้การสนับสนุนทุกอย่างเต็มกำลัง

โค้ชเกียรติพงษ์เดินหน้าหาเพชรเม็ดงามทั่วประเทศ และได้เพชรเม็ดแรก เป็นวรรณา ตามมาด้วย วิลาวัณย์, ปลื้มจิตร์ ที่ก้าวมาจากทีมเยาวชนต่อมาเป็นอำพรเจ้าแม่ไหลหลัง นุศรามือเซตอัจฉริยะและ อรอุมากับมลิกาตามลำดับ ซึ่ง 2 คนหลัง ขยับขึ้นมาจากทีมยุวชน ที่ได้ไปทำศึกชิงแชมป์โลก เมื่อปี 2003 ที่ประเทศโปแลนด์มาแล้ว

จากนั้นแต่ละคนเติมเต็มจุดเด่นซึ่งกันและกัน บวกกับฝีมือเข้าขั้นทีมอาชีพทั้งในยุโรป และเอเชีย ก็ติดต่อให้ไปช่วยทีม ทำให้เพิ่มพูนประสบการณ์มากขึ้นไปอีก จนพาทีมตบลูกยางสาวไทยประสบความสำเร็จมากมาย

ผลงานที่โดดเด่นที่สุดของยุค 7 เซียน ในช่วงปี 1997–2013 คือ การเข้าชิงชนะเลิศ และคว้าแชมป์เป็นครั้งแรกในรายการชิงแชมป์เอเชีย เมื่อปี 2009 ที่ประเทศเวียดนาม

ครั้งนั้นทีมสาวไทยท็อปฟอร์มสุดๆ เอาชนะ ญี่ปุ่น 3–1 เซต ในรอบรองชนะเลิศ และโค่นจีน 3–1 เซตเช่นกัน ในรอบชิงชนะเลิศ ได้แชมป์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่รายการนี้จัดมาเมื่อปี 1975

ก่อนที่ในปี 2013 ทีมไทยจะมาได้แชมป์เอเชียอีกครั้ง เป็นสมัยที่ 2 ที่จังหวัดนครราชสีมา

ส่วนผลงานอื่นๆก็ไม่ธรรมดา ปี 2001 คว้าเหรียญทองซีเกมส์ที่ประเทศมาเลเซียได้ครั้งแรกในยุคของ “โค้ชอ๊อด” ซึ่งจนถึงปัจจุบันทีมชาติไทย ยังไม่เคยพลาดเหรียญทองเลยสักครั้ง

ปี 2002 ผ่านไปเล่นศึกวอลเลย์บอล เวิลด์ กรังปรีซ์ ครั้งแรก และก็ได้เล่นต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน จนถึงปัจจุบัน ที่ใช้ชื่อว่าเนชันส์ ลีก

ปี 2011 เข้าสู่รอบ 8 ทีมสุดท้าย ในเวิลด์กรังปรีซ์ ได้เป็นครั้งแรก ก่อนจบอันดับ 6 ของโลก

ปี 2012 ผ่านเข้าสู่รอบ 8 ทีมสุดท้าย ในเวิลด์กรังปรีซ์ ได้อีกครั้ง เป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกันและก้าวไปจบอันดับที่ 4 ของรายการ ซึ่งถือเป็นอันดับที่ดีที่สุดตลอดกาลของทีมชาติไทยในเวลานี้

ปี 2012 คว้าแชมป์วอลเลย์บอลหญิง เอวีซี คัพ หรือเอเชียน คัพ ได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่ประเทศคาซัคสถาน โดยรอบชิงชนะเลิศ ชนะจีน 3-1 เซต

ปี 2014 ขึ้นสู่โพเดียมในกีฬาเอเชียนเกมส์ ได้เป็นครั้งแรก ด้วยการคว้าเหรียญทองแดง ที่เมืองอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งรอบชิงอันดับ 3 ชนะญี่ปุ่น 3-0 เซต

ปี 2016 ผ่านเข้าสู่รอบ 6 ทีมสุดท้าย ในเวิลด์กรังปรีซ์ ได้สำเร็จที่ประเทศไทย และจบอันดับที่ 6 ของรายการ

ปี 2018 เข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ ในกีฬาเอเชียนเกมส์ได้เป็นครั้งแรก รอบรองชนะเลิศ ชนะ เกาหลีใต้ 3-1 เซต ก่อนจะแพ้จีน 0-3 เซต ในรอบชิงชนะเลิศ ที่ประเทศอินโดนีเซีย นับเป็นผลงานดีที่สุดของไทยในเอเชียนเกมส์

ส่วนอันดับโลกดีที่สุดของไทย คือ ติดท็อปเทน อยู่ในอันดับ 10 เมื่อปี 2011 จากการเอาชนะบราซิล และสหรัฐอเมริกาได้สำเร็จ

เรียกได้ว่าเป็นยุครุ่งเรืองของทีมตบลูกยางสาวไทยก็ว่าได้

อย่างไรก็ตาม อย่างที่บอกไว้ วันเวลาหมุนเวียน เปลี่ยนไปทุกวัน ทีมตบลูกยางสาวไทยยังต้องเดินหน้าต่อไป จะหยุดอยู่แค่นี้ไม่ได้ โดยสมาคมมีนโยบายที่จะสร้างสายเลือดใหม่ขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งบางคน ก็เคยร่วมเล่นกับรุ่นพี่ๆมาบ้างแล้ว

ในช่วงก่อนเนชันส์ ลีก จะปิดฉาก เรืออากาศเอก จักรสุวรรณ โตเจริญ เลขาธิการสมาคมฯ ก็ได้ มอบหมายให้ “โค้ชด่วน” ดนัย ศรีวัชรเมธากุล หัวหน้าผู้ฝึกสอน เรียกนักกีฬาที่เตรียมจะไปเนชันส์ ลีก แต่ต้องรักษาตัวจากโควิด-19 ซึ่งตอนนี้ทั้งหมดหายดี กลับมาซ้อมในรูปแบบออนไลน์กันไปบ้างแล้ว

เพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อม สำหรับศึกวอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์เอเชีย 2021 ที่กำลังจะมาถึง ระหว่างวันที่ 29 ส.ค.-5 ก.ย.นี้ที่ประเทศฟิลิปปินส์

ทั้งนี้ นักกีฬาสายเลือดใหม่ของไทยชุดนี้ จะประกอบไปด้วย ตัวเซต พรพรรณ เกิดปราชญ์, ฑิชาญา บุญเลิศ, สุภัชชา คัมตระรักษา ส่วนตำแหน่งหัวเสา ชัชชุอร โมกศรี, อัจฉราพร คงยศ, วิภาวี ศรีทอง, กัตติกา แก้วพิน, ศศิภาพร จันทวิสูตร ขณะที่ตำแหน่งบีหลัง พิมพิชยา ก๊กรัมย์, ธนัชชา สุขสด

ตำแหน่งตัวรับอิสระ หรือลิโบโร สุพัตรา ไพโรจน์, ยุพา สนิทกลาง, จิดาภา นาหัวหนอง และตำแหน่งบอลเร็ว ทัดดาว นึกแจ้ง, แก้วกัลยา กมุลทะลา, หัตถยา บํารุงสุข, จรัสพร บรรดาศักดิ์, ชิตพร กำลังมาก, ฑิชากร บุญเลิศ และ หทัยรัตน์ จารัตน์

และยังมี สุทัตตา เชื้อวู้หลิม และ คารีนา เคร้าเซอ ที่ได้ลงสนามบ่อย จากศึกเนชันส์ ลีก ก็มีโอกาสติดทีมชุดนี้เสริมเข้าไปด้วย

แฟนกีฬาต้องช่วยส่งกำลังใจและคอยเชียร์พวกเธอกันต่อไป กับทีมตบลูกยางสาวไทยสายเลือดใหม่

เรามี 7 เซียนเป็นตำนานไปแล้ว ก็ไม่แน่ เหมือนกันว่า นักกีฬากลุ่มนี้อาจจะสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ๆ เป็นตำนานบทใหม่ของไทยเราก็เป็นไปได้

โดยเฉพาะกับมหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่เรายังไม่เคยได้เข้าไปเล่นในรอบสุดท้าย ซึ่งสมาคมก็วางเป้าไว้ว่าจะได้ลุ้นในปารีส 2024 กันเลย

ถ้าหากทำสำเร็จ ดูเหมือนคำว่า เซียน จะน้อยเกินไป เราอาจเรียกน้องๆชุดนี้ใหม่ว่า โคตรเซียน

ให้ยิ่งใหญ่กันไปเลย...

กัญจน์ ศิริวุฒิ เรื่อง