หน้าแรกแกลเลอรี่

ปั่นกันจนเกินเกมส์! จุดจบ เอเชียนอินดอร์ฯ ในไทย

กัญจน์

25 ส.ค. 2567 05:02 น.

อยู่ด้วยกันมาถึง 7 ปี เต็ม สำหรับมหกรรม กีฬาในร่มและการต่อสู้ ระดับเอเชีย เอเชียนอินดอร์และมาร์เชียลอาร์ตเกมส์ ครั้งที่ 6 สุดท้ายก็จากเราไป โดยที่ ไม่มีการแข่งขันแต่อย่างใด

รอยแผลที่เกิดขึ้น ไม่รู้จะตกสะเก็ดแล้วหาย หรือกลายเป็นแผลเป็น ก็ยังไม่ทราบได้

เมื่อสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย หรือโอซีเอ เจ้าของ เกมส์ ประกาศออกมา เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2024 ต้องยกเลิกการชิงชัย ระหว่างวันที่ 21-30 พฤศจิกายน 2024 ด้วยเหตุผลด้านงบประมาณของไทยที่ยังไม่พร้อม และเวลาที่เหลือกระชั้นชิดเกินไป

โอซีเอไม่อยากเสี่ยง!!!

นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายจากหลายส่วน และโทษกันไปมา เพราะเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับวงการกีฬาไทย ที่รับจัดอะไร ก็ฝ่าฟัน ผักชีโรยหน้ามาได้ แต่คราวนี้ถึงกับมีการยกเลิกกันไปเลย เล่นเอาช็อกและมึนไปตามๆกัน

7 ปีที่ว่า เริ่มตั้งแต่เมื่อปี 2017 โอซีเอมาทาบทาม ไทยสนใจหรือไม่ ซึ่งเรื่องอย่างนี้มีหรือที่ไทยจะปฏิเสธ ตอบรับเบื้องต้นมาตั้งแต่ตอนนั้น และหวังจะทำให้บูมสุดๆ

ก่อนจะมีการลงนามเป็นทางการ เมื่อปี 2020 โดยไทยใช้กรุงเทพฯ และชลบุรีเป็นเมืองหลักจัดการ แข่งขัน ชิงชัย 36 ชนิดกีฬา 358 เหรียญทอง และ 2 กีฬาสาธิต เทคบอล และกีฬาทางอากาศ

เดิมกำหนดแข่งขัน วันที่ 21-30 พฤษภาคม 2021 แต่ถูกเลื่อนออกไปถึง 4 ครั้ง จากหลากหลายเหตุการณ์ โดยเลื่อนออกไปถึง 2 ครั้ง จากการระบาดของ ไวรัสโควิด-19 เลื่อนเป็นวันที่ 10-20 มีนาคม 2022 ก่อน และต่อมาเป็นวันที่ 17-26 พฤศจิกายน 2023

เกมส์ถูกเลื่อนออกไปอีกครั้ง เนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปของไทย จากนั้นจึงกำหนดวันเป็นวันที่ 24 กุมภาพันธ์-6 มีนาคม 2024 แต่ก็ยังถูกเลื่อนออกไปอีกรอบ เนื่องจากโอซีเอดูแล้วใกล้โอลิมปิก ปารีส 2024 ในเดือนกรกฎาคมมากไป สุดท้ายมาหยุด ในวันที่ 21-30 พฤศจิกายน 2024

ทุกอย่างเหมือนไม่มีอะไร น่าจะดำเนินไปได้ ด้วยดี แต่พอเข้าสู่รัฐบาลใหม่ มีการนำเรื่องนี้มาพูดคุยกันอย่างจริงจัง ทำให้ฝนเริ่มตั้งเค้า เมื่อมีการมองว่า งบประมาณที่ตั้งไว้ใช้ในรายการนี้ 1,300 ล้านบาท มากเกินไปหรือไม่

ขณะเดียวกัน การหารือระหว่างโอซีเอกับไทย ทั้งผู้แทนกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ ในช่วง “ปารีสเกมส์” เจ้าของเกมส์ก็ได้เสนอให้ปรับลด 14 ชนิด กีฬา เพื่อจะได้ประหยัดงบลง

อีกทั้งยังสอดคล้องกับหลักการของเกมส์ตั้งแต่ต้นที่อยากให้มีการจัดเฉพาะในส่วนของกีฬา ที่ไม่ได้มีจัดในกีฬาโอลิมปิกและเอเชียนเกมส์อีกด้วย

แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าเวลาบีบเข้ามาแล้ว จึงมีการ เร่งเร้ากันอย่างหนัก มองหาความชัดเจน และเริ่มสาด เริ่มกระแทกกันไปมา กระทรวงก็มองในมุมการใช้ งบประมาณ ต้องคุ้มค่า โปร่งใส แถมให้มีการตรวจสอบ การใช้เงิน 900 ล้านบาท ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาอีกด้วย

ส่วนผู้ปฏิบัติงานหลายส่วน มองว่าเวลาเหลือ น้อยมากจะตัดกีฬาหรืออย่างไรก็ว่ามา เคาะงบประมาณการจัดมาให้บ้างก็ยังดี การดำเนินการด้านต่างๆจะได้ ไหลลื่น เพราะที่ผ่านมาทำงานกันมาโดยไม่มีงบใดๆ มาช่วยเลย อำนาจใดๆที่จะไปลงนามก็ไม่มี เพราะคณะกรรมการจัดการแข่งขันไม่มีการประชุม

ประกอบกับมีประเด็นร้อนการเมือง คณะรัฐมนตรี เป็นแค่รักษาการ เลยทำให้ทุกอย่างแย่ลงไปอีก สุดท้าย 9 เรื่องที่โอซีเอถามหาหลักประกันสัญญา ที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขัน เช่น สัญญาสนามแข่งขัน ที่พัก ระบบขนส่ง ห้องปฏิบัติการสารกระตุ้น เป็นต้น เลยนำไปแสดงให้เจ้าของเกมส์ดูไม่ได้ ตามเส้นตายที่กำหนด

ทุกอย่างเลยพังอย่างที่เราเห็นกัน!!!

เหตุผลกลใด ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ ต้องย้อนกลับไป ทบทวนว่าที่ไปที่มาของเกมส์นี้ แต่เดิมเอเชียนอินดอร์เกมส์ และเอเชียนมาร์เชียลอาร์ตเกมส์ แยกกันจัดคนละเกมส์ ซึ่งบังเอิญอีกว่า ในครั้งแรกของแต่ละเกมส์ ไทยก็เป็นเจ้าภาพมาแล้วด้วย เมื่อปี 2005 และ 2009 ตามลำดับ

จากนั้นโอซีเอคิดหาเกมส์ที่รองจากเอเชียน เกมส์ มาเป็นจุดขาย มาเพิ่มโอกาสให้ชาติอื่นๆได้เป็นเจ้าภาพบ้าง เลยนำ 2 เกมส์ดังกล่าวรวมกันเป็น หนึ่งเดียว และก็จัดเรื่อยมา โดยออกสตาร์ตต่อเนื่อง ครั้งที่ 4 ที่เมืองอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ 12 ชนิดกีฬา ส่วนครั้งที่ 5 ที่เมืองอาซกาบัด ประเทศเติร์กเมนิสถาน 21 ชนิดกีฬา ซึ่งถือว่าเรื่องชนิดกีฬาพอเหมาะอยู่ใน ขนาดที่ควรจะเป็น

และมาถึงไทยก็ต้องการให้เกมนี้ยิ่งใหญ่สุดๆ ทั้งในแง่กีฬาและการสร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจ สร้าง ภาพลักษณ์ที่ดีให้ประเทศ อีกทั้งจะเอาใจสมาคมกีฬา และชาติสมาชิกหรืออย่างไร ไม่ทราบได้ เลยอัดชนิด กีฬาเข้าไปเต็มแม็กซ์ ไม่สนว่าจะมีหรือไม่มีในกีฬาโอลิมปิก หรือเอเชียนเกมส์ ตามหลักการ

อีกทั้งดันมาเจอวิกฤติโควิด-19 การเมืองที่ไม่นิ่ง และช่วงเวลาแข่งขันไปอยู่ก่อนโอลิมปิก ปารีส 2024 อีก ทำให้จากที่เคยวาดหวังปั้นเกมส์รองให้ โด่งดังเป็นพลุแตก ไม่เป็นอย่างที่คิด รวมทั้งงบประมาณ จากก่อนหน้านี้ก็ค่อยๆบานปลาย นักกีฬาเก็บตัวเรื่อยเปื่อยไร้จุดหมาย

ทุกอย่างเลยค่อยๆสะดุดอย่างที่เราๆทราบกันดี

และล่าสุดกับการแสดงออกของกระทรวง

แม้จะมีหนังสือด่วนถึงโอซีเอก่อนเดดไลน์ ว่าต้องการจัด และเดินหน้าแนวทางการเงิน ทุกอย่างต้องถูกต้อง โปร่งใส แต่ก็ต้องยอมรับว่ามาผิดเวลาไปหน่อย เหมือน ไม่ค่อยมองเวลาที่เหลืออยู่ นานาชาติเค้าไม่สนใจอะไรของเรามากนักหรอก

บอกมีเงินพร้อมจัด ถ้าไม่มีหลักประกันอะไร ก็ไร้ประโยชน์

กระทั่งวิธีคิด จะรอให้รายชื่อนักกีฬาของทุกชาติ นิ่งทั้งหมด แล้วค่อยดำเนินการเรื่องงบประมาณจะเอา ตามจริงเป๊ะๆ ก็ต้องปรับใหม่ ไม่มีใครทำกัน ที่ผ่านมา วางกรอบไว้คร่าวๆแล้วเดินหน้า เหลือเงินเท่าไหร่ ก็คืนไป จะทำให้ทุกอย่างง่ายกว่านี้มากมาย

จึงถือเป็นบทเรียนราคาแพงที่ต้องขบคิดให้ดี ตั้งแต่มูลค่าเกมส์ เอเชียนอินดอร์และมาร์เชียลอาร์ตเกมส์ ควรอยู่ประมาณไหน ถ้าดีจริง ทำไมไม่ค่อยมีคนจัด ทำไมโอซีเอยื่นไมตรีให้บ่อยครั้ง ทำไมไม่ยื่น เอเชียนเกมส์มาให้บ้าง รวมทั้งชนิดกีฬาจัดกันโอเวอร์ เกินพอดี งบประมาณก็สูงตามไปอีกหลายเท่า

ถ้าหาจุดกึ่งกลางให้เจอ น่าจะเอาตัวรอดไปได้ แต่นี่ปั่นกันจนเกินเกมส์มาตั้งแต่ต้น คาดหวังกันมากไป ไม่ค่อยบริหารความเสี่ยงอย่างที่ควรจะเป็น

จุดจบของเอเชียนอินดอร์และมาร์เชียลอาร์ตเกมส์ในไทย

เลยต้องเป็นเช่นนี้...

กัญจน์ ศิริวุฒิ เรื่อง

คลิกอ่านคอลัมน์ “Hotsport” เพิ่มเติม