หน้าแรกแกลเลอรี่

เรื่องของเพศ

ไทยรัฐฉบับพิมพ์

10 ส.ค. 2567 04:35 น.

แฟนกีฬาคงทราบกันดีว่าเรื่องราวของอิมาน เคลิฟ นักมวยชาวแอลจีเรีย กลายเป็นประเด็นดราม่าในโอลิมปิกเกมส์ 2024 ซึ่งเธอขึ้นชกมวยสากลในรุ่น 66 กก.หญิง และก็ยังสามารถเอาชนะ จันทร์แจ่ม สุวรรณเพ็ง ของไทยเรา ในรอบรองชนะเลิศ ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศได้สำเร็จนั้น

อย่างไรก็ตาม คนทั่วโลกยังคงตั้งคำถามกับคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ IOC ถึงความเหมาะสมในการให้เธอขึ้นชกในกีฬามวยสากลหญิง เนื่องจากเคลิฟนั้นไม่ต้องผ่านการตรวจเพศก่อนเข้าแข่งขันที่ปารีส อีกทั้งเธอมีฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนของเพศชายสูง และมีโครโมโซม XY ซึ่งหมายถึงเพศชายด้วย

บทความต่อไปนี้เป็นของ นพ.อี๊ด ลอประยูร แพทย์ประจำคณะนักกีฬาไทย ชุดลุยโอลิมปิก ปารีส 2024 ให้ความรู้เอาไว้เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ลองอ่านกันดู

ว่าด้วยเรื่องนักกีฬา Transgender กับการแข่งขันกีฬา : สิงหาคม 2024

หลังจากที่คณะกรรมการโอลิมปิกสากลหรือไอโอซี เคยได้ควบคุมสั่งให้มีการตรวจเพศ, ตรวจเนื้อเยื่อในปากหาโครโมโซม, กำหนดระดับของฮอร์โมนเพศชายในนักกีฬาหญิงและสั่งให้มีการทานยาลดระดับฮอร์โมน ผ่านข้อโต้แย้งจากฝ่ายต่างๆ แพ้แม้กระทั่งคดีในศาล สุดท้ายนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้

1.ในเมื่อสังคมปัจจุบันยอมรับความเท่าเทียมว่าไม่ควรมีการแบ่งแยกและเลือกปฏิบัติกับคนที่แตกต่างกันในเรื่องเพศ, ความเชื่อ, รูปร่างหน้าตาและศาสนาฯลฯ

2.คณะกรรมการโอลิมปิกจึงมีนโยบายว่านักกีฬา Transgender ก็ควรได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมในการแข่งขัน ยกตัวอย่างเช่น การจะเลือกขอตรวจนักกีฬาบางคนโดยการขอดูหรือตรวจอวัยวะเพศ ถ้าไม่ได้รับอนุญาตจากนักกีฬาก็ไม่ควรทำเพราะถ้าจะตรวจก็ต้องทำกับทุกคนไม่ใช่เลือกปฏิบัติเฉพาะกับนักกีฬาผู้หญิงคนใดคนหนึ่ง

3.ในโอลิมปิกที่โตเกียว 2021 มีนักกีฬาหญิงที่เป็น transgender ได้รับอนุญาตเข้าร่วมการแข่งขันมาแล้ว ตัวอย่างคือนักยกน้ำหนักและว่ายน้ำ ท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์จนตอนนั้นมีเหตุที่นักกีฬาหญิงแท้บางคนไม่ยอมขึ้นยืนบนแท่นรับเหรียญรางวัลร่วมกันกับนักกีฬา transgender ด้วย

4. แถลงการณ์ตามนโยบายของโอลิมปิกในปี 2021 คือให้แต่ละประเภทกีฬาเป็นคนออกกฎของแต่ละกีฬาเอาเองเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะมีความได้เปรียบเสียเปรียบแตกต่างกันในแต่ละชนิดกีฬา บางกีฬาการแข็งแรงกว่าจะมีผลน้อยต่อการแพ้ชนะในการแข่งขัน การแบ่งแยกจึงไม่มีความจำเป็น เช่นที่ยกตัวอย่างคือ ปิงปอง ฟันดาบ เรือใบ เป็นต้น(ซึ่งบางคนอาจไม่เห็นด้วย) เหมือนกับจะบอกกลายๆด้วยว่าคนไหนเป็นชายเป็นหญิงไม่ใช่อำนาจที่โอลิมปิกจะไปทำการพิสูจน์ แต่ละฝ่ายที่ส่งนักกีฬาเข้าแข่งและสมาคมกีฬาที่จัดต้องกำหนดกันเอาเอง

5.World Rugby ไม่อนุญาตให้ Transgender เข้าแข่งขัน โดยเฉพาะคนที่ได้เคยผ่านการเปลี่ยนแปลงของร่างกายจากการมีฮอร์โมนเพศชายมากมาก่อนแล้ว (พ้นวัยหนุ่มสาว) โดยเชื่อว่าการปะทะกันจะมีอันตรายต่อนักกีฬาหญิงคนอื่น

6.สมาคมว่ายน้ำ FINA เริ่มจัดแยกการแข่งขันเฉพาะกลุ่มของนักกีฬา Transgender และ Intersex ขึ้นมา เพื่อไม่ต้องไปยุ่งกับการแข่งขันในกลุ่มของนักกีฬาหญิงและชายแบบเดิม

7.FINA ยังบังคับไว้ด้วยว่าเฉพาะนักกีฬา transgender ที่ได้รับการรักษาเพื่อลดฮอร์โมนเพศชายตั้งแต่ก่อนอายุ 12 เท่านั้นที่จะเข้าแข่งกับผู้หญิงได้ เราจึงไม่เห็นนักกีฬา transgenderที่อาจจะมีปัญหาลงแข่งว่ายน้ำในโอลิมปิกครั้งนี้เหมือนกับครั้งที่แล้ว

8. เรื่องการบังคับให้นักกีฬาทานยาลดฮอร์โมน สมาคมแพทย์บางแห่งถือว่าเป็นการผิดต่อจริยธรรมในการรักษาทางแพทย์ เพราะอาจเกิดอันตรายกับสุขภาพและจิตใจของนักกีฬาที่แพทย์ไม่ควรทำ

9.สมาคมจักรยาน Cycling ใช้ปริมาณของเทสโทสเตอโรนในเลือดไม่เกิน 2.5 nmol/l เป็นตัวกำหนดและต้องรักษาระดับนี้ไว้ตลอดไป อีกทั้งต้องไม่ผ่านการเปลี่ยนแปลงทางกายของความเป็นชายจากการได้รับฮอร์โมนเพศชาย (ตอนเริ่มเป็นหนุ่มเป็นสาว) มาคล้ายๆ กับของสมาคมกรีฑาและว่ายน้ำเช่นกัน

10.การค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ถูกต้องเหมาะสมเกี่ยวกับการออกกฎมาเพื่อใช้ในการบังคับในเรื่องนี้ยังต้องกระทำต่อไปตราบใดที่ยังมีข้อโต้แย้งกันและหวังว่าโลกกีฬาคงจะค้นพบวิธีทางที่ทุกคนพอใจได้ในเร็ววัน.

ยุบสภา

คลิกอ่านคอลัมน์ “เรียงหน้าชน” เพิ่มเติม