หน้าแรกแกลเลอรี่

เจ็ตสกีงงหนัก "กองทุนกีฬา" องค์กรไกฟ์ยุบปลายปีก่อน แต่ส่งหนังสือตอบกลับเมื่อ 8 วันก่อน

ไทยรัฐออนไลน์

20 ก.ค. 2566 14:25 น.

เจ็ตสกี ไม่เข้าใจ เหตุ "กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ" ตอบให้งงหนัก องค์กรไกฟ์ยุบปลายปีก่อน แต่ส่งหนังสือตอบเมื่อ 8 วันก่อน

วันที่ 20 ก.ค. 66 สมาคมเจ็ตสกีฯ เตรียมถามผู้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทยอีกเรื่อง เหตุกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติตอบให้งงหนัก เรื่องไม่ให้เงินรางวัลนักกีฬาเจ็ตสกีทีมชาติ ชุดคว้าที่ 1 ของโลก เพราะสมาคมเจ็ตสกีนานาชาติ IJSBA ไม่ได้เป็นองค์กรที่สมาคมกีฬานานาชาติ GAISF ให้การรับรอง โดยที่มีหนังสือตอบเมื่อ 12 กรกฎาคม 2566 นี้ แต่สมาคมฯ ไปตรวจสอบพบว่า องค์กรดังกล่าวมีมติยุบอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว โดยสมาชิกโหวตให้ยุบด้วยคะแนนเสียง 70 ต่อ 22 เสียง เมื่อ 29 พฤศจิกายน 2565 และอาจตั้งองค์กรใหม่ จึงขอให้ประธานกองทุนฯ และผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ในฐานะเป็นผู้กำกับดูแลกีฬาชาติ พิจารณาว่าผู้จัดการกองทุนฯ มีเจตนาอย่างไรกันแน่ กับ 2 ประเด็นสำคัญ นายกสนิท ยกเหตุผลเรื่องนี้ เช่น ธนาคารปิดตัวแล้ว ยังบอกให้ประชาชนไปฝากเงินได้หรือ?

นายสนิท วรปัญญา นายกสมาคมกีฬาเจ็ตสกีแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า "เรื่องการตัดเงินรางวัลนักกีฬาเจ็ตสกีทีมชาติ ชุดคว้าอันดับที่ 1 ของโลก รายการเวิลด์ไฟนอล 2022 มีประเด็นสำคัญเรื่องที่ 1 คือกองทุนอ้างว่า เป็นเพราะสมาคมเจ็ตสกีนานาชาติ IJSBA สหรัฐฯ ไม่ได้เป็นสมาชิกขององค์กร Global Association of International Sport Federation (GAISF) ให้การรับรอง ซึ่งก็มีข้อกังขาในมาตรฐานข้อพิจารณาว่า นักเจ็ตสกีทีมชาติไทย ช่วยกันสร้างชื่อเสียงชาติอย่างสูงที่เอเชียนเกมส์ ซีเกมส์ ฯลฯ กีฬาชาติไทยได้ประโยชน์สูงสุด องค์กรที่รับรองกีฬานี้ให้กับ OCA และ ซีเกมส์ มานานกว่า 15 ปีแล้ว ก็คือ IJSBA องค์กรเจ็ตสกีโลกโดยตรงอยู่ภายใต้กฎหมายสหรัฐอเมริกา"

"21 กุมภาพันธ์ 2566 ผู้จัดการกองทุนฯ เชิญนักกีฬาเจ็ตสกีทีมชาติประชุมแก้ปัญหาเรื่องนี้ครั้งแรก ให้เหตุผลว่าชาติส่งแข่งไม่ถึงจำนวน แต่เมื่อคณะนักกีฬาแย้งว่า เจ็ตสกีต้องจัดอยู่ในกำหนดข้อ 2 หมวด ข. คือกีฬามาตรฐานที่แข่งขันในเอเชียนเกมส์แล้ว พร้อมต่อมาได้นำส่งข้อมูลและหลักฐานต่างๆ ที่กองทุนขอเพิ่ม รวมถึงสรุปชาติแข่งขันทั้งหมดกว่า 30 ชาติ กองทุนฯ ก็เงียบหายไปหลายเดือน จนมาให้เหตุผลใหม่ แจ้งมาในวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 ดังกล่าว"

สิ่งนี้เป็นประเด็นสำคัญเรื่องที่ 2 อีก เพราะหลังจากที่ได้รับหนังสือลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 กลับพบอีกเรื่องว่า ในเว็บไซด์ https://gaisf.sport/dissolution-of-gaisf-approved-at-extraordinary-general-assembly-record- ลง ข่าวว่า วันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 มีการประชุมสมาชิก และมีมติยุบองค์กร GAISF อย่างเป็นทางการ ด้วยคะแนนเสียง 70 ต่อ 22 เสียง มีภาคการเงินและการชำระบัญชีในการปิดตัวอย่างสมบูรณ์ แม้ว่าอาจมีเจตนาจะจัดตั้งองค์กรใหม่ ผมขอยกตัวอย่างว่า เช่น ธนาคารปิดตัวแล้ว ยังบอกให้ประชาชนไปฝากเงินได้หรือ?

จาก 2 ประเด็นดังกล่าว สมาคมฯ จึงอยากใคร่ขอให้ประธานกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ และผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้กำกับดูแลกีฬาชาติ ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวว่า ผู้จัดการกองทุนมีความเห็นอย่างไรกันแน่ ยิ่ง GAISF ยุบองค์กรไปอย่างเป็นทางการแล้ว ผู้จัดการกองทุน มีหนังสือตอบมาเช่นนี้ได้อย่างไร”

นายสนิท กล่าวต่อว่า "ส่วนองค์กรดังกล่าวจะไปตั้งองค์กรใหม่หรือไม่นั้น ก็ต้องมีธรรมนูญกีฬาชัดเจน และขอให้ความเห็นว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ก่อนที่จะเข้าเป็นสมาชิกหรือประกาศอ้างอิงใดๆ ในอนาคต ภาครัฐต้องศึกษาอย่างถี่ถ้วน ไม่ให้กีฬาชาติไปตกอยู่ในการควบคุมของต่างชาติ โดยไทยขาดความเป็นตัวของตัวเองโดยไม่จำเป็น สิ่งนี้ผู้บริหารต้องรับผิดชอบ ตลอดชีวิตราชการของผมทำงานด้านเศรษฐกิจการค้ามาโดยตลอด ธุรกิจกีฬาเช่นเดียวกัน องค์กรระดับโลกต่างๆ มีเรื่องการเมืองที่ผู้นำกีฬาไทยต้องรู้เท่าทัน ไม่พาชาติไทยไปติดกับดักทรัพย์สินทางปัญญาง่ายๆ และผมมั่นใจว่า หากพิจารณาโดยเอาผลประโยชน์ชาติเป็นที่ตั้ง กีฬาไทยจะแข็งแกร่งยั่งยืน".