หน้าแรกแกลเลอรี่

แด่...ทีม ฮอยท์ (Team Hoyt)

บี บางปะกง

16 เม.ย. 2564 06:00 น.

ผมได้อ่านบทความในเพจ Running Insider ที่แสดงความอาลัยต่อการจากไปของ ‘ดิค ฮอยท์’ นักวิ่งมาราธอนอาวุโสชาวอเมริกัน ที่เพิ่งจากโลกนี้ไปด้วยวัย 80 ปี เมื่อเดือนก่อนนี้เอง

ใครที่ติดตามการแข่งขันมาราธอนเมเจอร์ระดับตำนานของโลก อย่าง “บอสตันมาราธอน” มาช้านาน คงคุ้นเคยกับภาพของชายรุ่นใหญ่ร่างกายแข็งแรงที่ลงแข่งวิ่งถนนโดยเข็นรถวีลแชร์ที่มีลูกชายพิการนั่งไปด้วย

โลกรู้จัก พ่อ-ลูกคู่นี้ ในนามของ “ทีม ฮอยท์” (Team Hoyt) 

‘ดิค ฮอยท์’ คือ คุณพ่อ ส่วน ‘ริค ฮอยท์’ คือ ลูกชาย นี่คือสัญลักษณ์หนึ่งที่สำคัญยิ่งต่อ “บอสตันมาราธอน” ในรอบกว่า 3 ทศวรรษที่ผ่านมา

เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนที่ได้พบเห็น ต่างประทับใจกับความทุ่มเท เสียสละ ความรัก และความฝัน ที่คนเป็นพ่อมีให้ต่อลูกอย่างหาที่เปรียบไม่ได้ 

เรื่องราวของ “ทีม ฮอยท์” เริ่มขึ้นเมื่อ 59 ปีก่อน ที่โรงพยาบาลในแมสซาชูเซตส์ ริค ฮอยท์ เกิดมากับภาวะสมองพิการ เพราะสมองขาดออกซิเจนกะทันหัน 

ทารกน้อยโตมามีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง หดเกร็ง รับรู้ได้ แต่พูดไม่ได้ ทั้งหมดยากต่อการรักษาให้หายดี ลูกจะเป็นเช่นนี้ตลอดชีวิต 

ทั้งพ่อและแม่ปรับแผนการทุกอย่างเพื่อให้ลูกได้ใช้ชีวิตเฉกเช่นเด็กธรรมดาในสังคม ทว่ากลับยากเย็นทุลักทุเล ริคต้องใกล้ชิดหมอ บ่อยครั้งมีอาการตัวเกร็งชักกระตุก ภูมิคุ้มกันต่ำ เป็นเช่นนั้นแรมปี 

ตอนอายุ 15 ปี ริค พิมพ์คอมพ์บอกพ่อว่า อยากไปร่วมงานวิ่งระยะทาง 5 ไมล์ (8 กิโลเมตร) เพื่อระดมทุนช่วยเหลือเพื่อนที่เป็นอัมพาต

ดิค ฮอยท์ รู้ว่าเป็นโจทย์ใหม่ที่ไม่ง่าย เพราะเขาเป็นเพียงชายวัยกลางคน หุ่นถังเบียร์ ไม่เคยวิ่งมาก่อน
 
8 กิโลแรกที่ดิคทดลองวิ่งเข็นลูกชายบนวีลแชร์ ริคบอกพ่อว่า “ตอนที่เราวิ่งด้วยกัน ผมไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนพิการเลย”

ผู้เป็นพ่อร่ำไห้กับประโยคธรรมดาเรียบง่ายนี้ของลูก ระยะแค่นั้น ได้เปลี่ยนครอบครัวฮอยท์ไปตลอดกาล 

ดิค ฮอยท์ ตั้งปณิธานว่า เขาอยากแข็งแรงให้มากพอ เพื่อเข็นลูกลงงานวิ่งได้อีกหลายๆ งาน ชดเชยที่เคยป่วย ไม่แข็งแรง นอนติดเตียงเป็นผัก

วิธีซ้อมของดิค เขาเริ่มจากศูนย์ หัดวิ่งใหม่ในวัย 37 ด้วยการจำลองน้ำหนักตัวลูกชายไว้บนวีลแชร์ ด้วยถุงทราย ถุงปูนซีเมนต์หนัก  

ดิควิ่งเข็นวีลแชร์อยู่เช่นนั้น วันแล้ววันเล่า จนเพื่อนบ้านหลายคนมองว่าบ้านนี้บ้า! 

แต่เมื่อเวลาผ่านไป ด้วยความขยัน ความผูกพันประสาพ่อ-ลูก จากที่คนเหล่านั้นเคยมองว่าเขาเพี้ยน ได้เปลี่ยนความคิดมาเป็นให้กำลังใจด้วยความตื้นตัน 

ความที่ ดิค ฮอยท์ มีพื้นเพอยู่ในเขตบอสตัน เมืองที่มีมาราธอนเก่าแก่ที่นักวิ่งทั่วโลกปรารถนาอยากมาประลองความอึดให้ได้สักครั้งในชีวิต 

แต่ บอสตัน ก็คือ บอสตัน มีกฎที่ผู้เข้าร่วมต้องวิ่งให้ผ่านควอลิฟาย ชายอายุ 35-39 ต้องจบฟูลมาราธอน 3 ชั่วโมง 5 นาที หรือยิ่งเร็วกว่านั้นยิ่งมีโอกาส

คงง่ายกว่านี้มาก หาก ดิค ฮอยส์ ลงวิ่งแบบฉายเดี่ยว แต่นั่นไม่ใช่หลักการของคนเป็นพ่อ ที่รู้อยู่เต็มอกว่าลูกชายจะไม่รู้สึกพิการเมื่อได้วิ่งด้วยกัน

‘ทีมฮอยท์’ เริ่มต้นบอสตันมาราธอน อย่าง Zero to Hero ปีแรก ขอช่วยงานเป็นอาสาสมัคร วิ่งเข็นวีลแชร์ ปิดท้ายขบวน  

ต่อมา ทีมฮอยท์ ใช้ความพยายามยาวนานกว่า 5 ปี กว่าจะผ่านบอสตัน ควอลิฟาย ได้วิ่งงานนี้อย่างสง่างาม ด้วยการวิ่งเข็นวีลแชร์ที่มีลูกชายนั่งไปด้วย ซึ่งถือเป็นงานยากกว่าคนธรรมดา   

ที่ บอสตันมาราธอน ทีมฮอยท์ วิ่งต่อเนื่องทุกปีถึง 32 ครั้ง ซึ่งจากความมุ่งมั่นของครอบครัวที่ลูกชายพิการทางสมอง ส่วนคุณพ่อสุขภาพติดลบ สู่การเป็นสัญลักษณ์ความแข็งแกร่งมาตลอด 3 ทศวรรษอย่างน่าทึ่งเป็นที่สุด!!  

1,130 งาน คือรายการกีฬาทั้งหมดที่พ่อลูกคู่นี้เคยลงแข่งด้วยกัน 6 สนาม คือ จำนวนไตรกีฬาระยะ IRONMAN ที่ผ่านมาได้ และ 257 สนาม เป็นงานไตรกีฬา ว่าย ปั่น วิ่ง ที่ร่วมพิชิต

โดยทั้งหมดเกิดขึ้นตามกติกาสนาม การแข่งขันปกติ ทว่ามี ดิค ฮอยท์ ออกแบบการ ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน วิ่ง เอาชนะอุปสรรคต่างๆ โดยมีลูกชายโดยสารความแข็งแกร่งนั้นไปด้วยกันเสมอ เพื่อที่ทั้งคู่จะได้แบ่งปันความสำเร็จร่วมกันที่เส้นชัย  

ปี 2014 หรือ 1 ปีจากเหตุการณ์ลอบวางระเบิดมาราธอนที่บอสตัน “ทีมฮอยท์” ประกาศว่าจะลงสนามวิ่งด้วยกันเป็นครั้งสุดท้าย เนื่องจากดิคมีอายุมากขึ้น เข้าวัย 74 ส่วนริค ฮอยท์ วัย 52    

บรรดากองเชียร์ที่เคยเห็นทั้งคู่วิ่งซ้อมและลงแข่งด้วยกันมานานหลายปี รู้สึกใจหาย ต่างพากันบอกปากต่อปาก ให้ออกมาริมทางกล่าวคำอำลา ร่วมเชียร์ เปล่งเสียง “ทีมฮอยท์” เพื่อร่วมกับแคมเปญ Boston Strong ปลอบขวัญผู้คนหลังจากผ่านเหตุการณ์เลวร้าย  

มาราธอนครั้งสุดท้าย ดิค ในวัย 74 ยังวิ่งเข็นวีลแชร์ให้ลูกชายนั่งอย่างมีชีวิตชีวา และเข้าเส้นชัยที่ 7:37:33 ชม.

บอสตันมาราธอน เป็นรายการที่ ทีมฮอยท์ รัก และฝากฝังจิตวิญญาณเอาไว้ 

นอกจากเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นนับหมื่นนับแสนแล้ว พ่อ-ลูก Team Hoyt ยังก่อตั้งมูลนิธิเพื่อหวังช่วยเหลือเยาวชนที่ร่างกายบกพร่อง ใช้การวิ่งของเขารณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงคุณภาพชีวิตและการให้โอกาสเด็กกับกีฬา

หลายปีก่อน จอห์น แฮนค็อก ผู้สนับสนุนงานยูนิคอร์น ตั้งใจทำรูปปั้นโลหะสำริด สัดส่วนเท่าตัวจริงของ “ทีมฮอยท์” ไว้ใกล้จุดสตาร์ตบอสตันมาราธอน ที่เมืองฮ็อปคินตัน เป็นรูปคุณพ่อกำลังวิ่งเข็นวีลแชร์ตรงไปบนถนน ด้วยสโลแกนว่า “Yes, You Can! ใช่..คุณน่ะทำได้”

เป็นอนุสรณ์แห่งความภาคภูมิใจของตำนาน “ทีม ฮอยท์” (Team Hoyt) 

ที่ยังคงตราตรึงอยู่ในทุกอณูความรู้สึกของผู้คน...ไปตลอดกาล!!! 

บี บางปะกง

(Cr : ภาพ Runner’s World / เรื่อง Running Insider)