หน้าแรกแกลเลอรี่

จักรยานเพื่อการแข่งขัน มีกันกี่ประเภทหนอ?

ไทยรัฐออนไลน์

16 พ.ย. 2563 06:09 น.
  • จักรยานที่แข่งขันมีกี่ประเภท
  • เราจะแยกประเภทจักรยานได้ยังไง
  • จักรยานประเภทไหนที่เขานิยมกัน

หากคุณสนใจเรื่องจักรยาน หากคุณต้องการคำตอบทั้งหมดนี้ ติดตามได้ในบทความนี้เลย

จักรยาน นับเป็นอีกหนึ่งกีฬายอดฮิตของหนุ่มสาวในยุคนี้ แม้ว่ามันจะดูเหมือนเป็นกีฬาที่ไม่มีอุปกรณ์อะไรมาก นอกจากจักรยาน แต่ทว่าหากลงลึกในรายละเอียดแล้ว เราจะพบว่ามันมีอะไรที่มากกว่านั้น

จักรยานที่เราใช้ๆ อยู่ในปัจจุบัน มีอยู่มากมายหลายประเภท แยกย่อยรายละเอียดของรูปทรง ขนาดตัวถัง ขนาดล้อ ตามการใช้งาน แต่หากเป็นจักรยานในเชิงการแข่งขั ที่รับรองโดย สหพันธ์จักรยานนานาชาติ หรือ UCI ก็จะแบ่งออกเป็น 8 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้

1. จักรยานประเภทถนน Road Cycling หรือที่คนไทยส่วนใหญ่เรียกว่า จักรยานเสือหมอบ นั่นเอง ลักษณะจักรยาน จะมีล้อ และยางขนาดเล็ก ตัวถัง หรือตัวเฟรมมีทรงลู่ แฮนด์โค้งต่ำกว่าที่นั่ง ทำให้คนขี่ สามารถอยู่ในท่าที่ลดแรงปะทะลมได้ ในขณะทำการแข่งขัน

จักรยานประเภทถนน แบ่งรูปแบบแข่งขันออกเป็น 2 ประเภท คือ

-ไทม์ไทรอัล เป็นการแข่งขันประเภทบุคคล แข่งขันบนระยะทาง 40-50 กิโลเมตร ใครทำเวลาดีที่สุดก็จะชนะไป

-ไลน์เรส เป็นการแข่งแบบกลุ่ม หรือทีม วัดกันที่ความเร็ว และความอดทนของนักกีฬา


2. จักรยานประเภทลู่ Track Cycling แบ่งเป็น การแข่งความเร็ว และความทนทาน แบ่งแยกย่อยการแข่งขันออกหลากหลายรูปแบบ

-ไทม์ไทรอัล คือการแข่งขันแบบใครทำเวลาดีที่สุดก็ชนะไป

-สปรินท์ หรือ อินดิวิดวลสปรินท์ นักแข่งขันจะออกสตาร์ทพร้อมกัน ใครเข้าเส้นชัยก่อน ชนะไป

-เปอร์ซูท หรือ อินดิวิดวลเปอร์ซูท (Pursuit) รูปแบบคล้ายสปรินท์ แต่คู่แข่งขันจะออกสตาร์ทจากคนละฝั่ง ผู้ชนะคือ

คนที่ไ่ล่จับฝ่ายตรงข้ามได้ หรือปั่นครบระยะได้เร็วกว่า

- คีริน แข่งขันในระยะทาง 8 กม. (8 รอบ) ผู้แข่งขันเริ่มออกสตาร์ทโดยมีจักรยานติดมอเตอร์ นำขบวนในระยะ 1400 เมตรแรก จากนั้น จักรยานนำขบวนจะค่อยๆ เพิ่มความเร็ว จาก 30 กม./ ชม. เป็น 40 กม./ ชม. จนครบ 1400 เมตร หรือประมาณ 5 รอบครึ่ง ผู้นำขบวนจะหลบออกข้างลู่ ปล่อยให้ผู้แข่งขันสปรินท์แข่งขันเข้าเส้นชัย ซึ่งความเร็วในการเข้าเส้นชัยระดับโลก จะอยู่ที่ประมาณ 70 กม./ ชม.

- เมดิสัน เป็นการแข่งขันประเภททีม 2 คน แข่งขันบนระยะทางไกล 50 กม. (ประมาณ 200 รอบ) นักแข่งก็จะผลัดกันปั่นจนครบระยะทาง ซึ่งในทุกๆ 20 รอบ จะมีการแข่งสปรินท์กัน เพื่อเก็บคะแนน การแข่งขันจะสิ้นสุดเมื่อมีทีมใดทีมหนึ่งปั่นครบ 200 รอบ ผู้ชนะ คือทีมที่ปั่นได้จำนวนรอบมากที่สุด หากปั่นรอบได้เท่ากัน ก็จะตัดสินที่แต้มสปรินท์

- สแครต เรซ (Scratch Race) แข่งขันคล้ายประเภทถนน คือมีระยะทางประมาณ10-15 กม. ใครเข้าเส้นชัยก่อนชนะ

- พอยต์ เรซ (Point Race) คล้ายสแครทเรซ แต่ระยะทางมากกว่า คือประมาณ 25-40 กม. ทุกๆ 10 รอบ จะแข่งสปรินท์กัน เพื่อสะสมแต้ม ปั่นครบ ก็มานับคะแนนกันว่าใครมีคะแนนดีที่สุด


3. ไซโครครอส Cyclo-cross เป็นรูปแบบหนึ่งของการแข่งขันจักรยาน คล้ายจักรยานเสือภูเขา แต่นักกีฬาต้องแข่งขันบนเส้นทางที่ยากลำบากกว่า เช่น ป่าหญ้าเนินสูงชัน และมีสิ่งกีดขวาง ชนิดที่ทำให้ผู้ขับี่ต้องลงจากรถ ไม่นิยมแข่งขันในประเทศไทยเท่าใดนัก

4. เสือภูเขา Mountain Bike เป็นอีกหนึ่งชนิดที่ได้รับความนิยมมาอย่างยาวนาน ลักษณะเด่นของจักรยาน คือ ตัวถัง และล้อ ใหญ่ แฮนด์ตรง มีเกียร์ เพื่อช่วยทุ่นแรง และมีโช้คอัพ ช่วยลดแรงกระแทก

เสือภูเขา แบ่งการแข่งขันออกเป็น 3 รุ่น คือ

-ครอส คันทรี (Cross country) แข่งขันในสนามวงรอบ ผ่านเส้นทางธรรมชาติ ทุ่งโล่ง ป่า หรือบางครั้งก็อาจวิ่งผ่านเมือง

-ดาวน์ฮิลล์ (Downhill) เส้นทางลงเขา ผู้ชนะคือผู้ที่ทำเวลาน้อยที่สุด

-โฟร์ครอส (4 Cross) แข่งขันคล้ายดาวน์ฮิลล์ แต่แข่งแบบแพ้คัดออก

5. จักรยาน BMX อันนี้หลายคนคงเคยมีประสบการณ์ สมัยเด็ก ๆ ผู้เขียน ก็ชอบปั่นจักรยาน บีเอ็มเอ็กซ์ เล่นแถวบ้านเป็นประจำ ในรูปแบบการแข่งขัน เราจะเรียกว่า จักรยานวิบาก แข่งขันบนสนามที่มีอุปสรรค บนระยะทางประมาณ 300-350 เมตร ผู้แข่งต้องอาศัยทั้งทักษะความเร็ว และเทคนิคในการเอาชนะอุปสรรค เพื่อไปให้ถึงเส้นชัยได้เร็วกว่าคู่แข่งขัน

6. จักรยานไทรอัล ข้ามสิ่งกีดขวาง นักแข่งจะต้องขี่จักรยานข้ามเครื่องกีดขวาง โดยห้ามเอาเท้าลงสัมผัสพื้นโดยเด็ดขาด ดังนั้นการแข่งขันประเภทนนี้ นักแข่ง จำเป็นจะต้องมีสมาธิสูงเลยทีเดียว

7. จักรยานในร่ม Indoor Cycling แบ่งเป็น แข่งขันเชิงลีลา และไซเคิลบอล คล้ายการแข่งขันฟุตบอล แต่นักกีฬาต้องใช้จักรยาน

8. จักรยานเพื่อคนพิการ Para Cycling สำหรับนักกีฬาพิการขา โดยจะใช้มือปั่นแทน ตัวจักรยาน จึงออกแบบมาให้เบาะนั่งอยู่ใกล้พื้น และล้อ เพื่อให้นักแข่ง สามารถใช้มือปั่นได้สะดวก

นี่เป็นตัวอย่างคร่าวๆ เท่านั้น ทั้งหมดทั้งปวง ยังมีประเภทการแข่งขัน และกติกาแยกย่อยลงไปอีก หากสนใจอยากแข่งขันจักรยาน ก็ไปหารายละเอียดอ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บไซต์ สมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ http://www.thaicycling.or.th/

เรื่อง : เก้าแต้ม

กราฟิก : Phantira Thongcherd

ภาพ : UCI, สมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ