หน้าแรกแกลเลอรี่

ยูฟ่าแบนเรือใบ 2 ปี ขู่ทีมใหญ่ชอบซิกแซ็ก

ไทยรัฐฉบับพิมพ์

23 ก.พ. 2563 05:01 น.

ถือว่าเป็นการสร้างแรงกระเพื่อม ให้กับบรรดาสโมสรยักษ์ใหญ่ในยุโรปได้มหาศาลเลยทีเดียว กับบท ลงโทษที่สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือยูฟ่าที่สั่งลงโทษแบน “เรือใบสีฟ้า” แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ยักษ์ใหญ่จากพรีเมียร์ลีก ห้ามลงเล่นเกมระดับสโมสรยุโรปเป็นเวลา 2 ปีด้วยกัน เท่านั้นยังไม่พอ แมนฯซิตี้ โดนปรับเงินอีก 24.9 ล้านปอนด์ (ประมาณ 996 ล้านบาท)

ซึ่งสาเหตุที่แมนฯซิตี้ โดน “ยูฟ่า” ลงโทษสถานหนักเนื่องจากละเมิดกฎควบคุมทางการเงิน หรือไฟแนนเชียล แฟร์ เพลย์ และคลับ ไลเซนซิ่ง ด้วยการแจ้งตัวเลขรายได้จากสปอนเซอร์เกินจริงในบัญชีรายรับรายจ่ายของสโมสรในระหว่างฤดูกาล 2012-16

ความพังทลายของ “เรือใบสีฟ้า” มาจากน้ำมือของชายที่ชื่อรุย ปินโต แฮกเกอร์ชาวโปรตุเกส ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ “ฟุตบอล ลีกส์” ที่ล้วงเอกสารความลับของสโมสรต่างๆ ออกมาได้ถึง 70 ล้านหน้า

และหนึ่งในเอกสารสำคัญ ที่แดร์ สปีเกิล นิตยสารรายสัปดาห์ของเยอรมนี นำออกมาเปิดเผยคือเอกสารที่ระบุว่า ชีค มันซูร์ เจ้าของสโมสร “เรือใบสีฟ้า” จ่ายเงินตัวเองให้แก่ทีมโดยผ่านสปอนเซอร์อื่น ซึ่งขัดต่อกฎ “ไฟแนนเชียล แฟร์ เพลย์” ของยูฟ่า

ซึ่งมีเอกสารที่หลุดออกมาพบว่า ในฤดูกาล 2015-16 แมนฯซิตี้ มีรายรับเอติฮัด แอร์ไลน์ สูงถึง 67.5 ล้านปอนด์ (ประมาณ 2,632 ล้านบาท) แต่เอกสารดังกล่าวระบุว่า เอติฮัดควักเงินจ่ายเพียงแค่ 8 ล้านปอนด์ ที่เหลืออีก 59.5 ล้านปอนด์ มาจาก “อาบู ดาบี ยูไนเต็ด กรุ๊ป” ซึ่งเป็นของชีค มันซูร์ บิน ซาเยด อัล นาห์ยาน เป็นเจ้าของ

เรียกง่ายๆว่า เจ้าของ “เรือใบสีฟ้า” ควัก “เงิน กระเป๋าซ้ายมาจ่ายเข้ากระเป๋าขวา”

ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำความผิดอย่างชัดเจน นอกจากนั้น อีเมลที่โดนแฮ็กไปนั้นมีชื่อของหนึ่งในผู้บริหารของแมนฯซิตี้ รวมทั้งใบเสร็จทั้งหมด

นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ แมนฯ ซิตี้ ไม่รอดเงื้อมมือ ของ “ยูฟ่า”

กฎ “ไฟแนนเชียล แฟร์ เพลย์” ทาง “ยูฟ่า” ได้เริ่มต้นในในฤดูกาล 2011 เพื่อวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมสมดุลทางการเงินของสโมสรในลีกยุโรปเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในสนาม โดยกำหนดว่าแต่ละสโมสรที่จะมีสิทธิแข่งในฟุตบอลถ้วยยุโรปจะต้องไม่ขาดทุนเกินอัตราที่กำหนดไว้ เพื่อป้องกันการติดค้างค่าเหนื่อยและค่าตัวของนักเตะ

สโมสรต้องรักษางบดุลของบัญชีรายรับรายจ่ายให้เหมาะสม หรืออธิบายเข้าใจง่ายๆ คือถ้าสโมสร ทำรายได้ 50 ล้านปอนด์ ก็มีงบซื้อนักเตะ 50 ล้านปอนด์เท่านั้นห้ามเกินกว่านั้น

หนึ่งในกรณีที่อธิบายเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจนคือ “ยูงทอง” ลีดส์ ยูไนเต็ด ที่สโมสรกู้หนี้ยืมสิน ดึงสตาร์ชื่อดังมาร่วมทีมเพื่อสร้างทีมให้แข็งแกร่งมากขึ้น หลังทีมได้ไปเล่นในศึกยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก แต่พออดไปเล่นในถ้วยใหญ่ในปีต่อมา ทำให้รายจ่ายบานเบอะไม่พอจ่ายค่าจ้างนักเตะ สุดท้ายก็ต้องจำใจขายผู้เล่นชื่อดังออกหมดเพื่อพยุงทีม แต่สุดท้ายก็ไม่รอดจนทีมล้มละลายและร่วงตกชั้นในที่สุด

ทำให้ยูฟ่าต้องระดมสมองอย่างหนักเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นมาอีกจนเกิดกฎ “ไฟแนนเชียล แฟร์ เพลย์” ในที่สุด

แต่อย่างไรก็ตาม บรรดากูรูเชื่อว่าไม่ใช่เพียงแค่แมนฯซิตี้ ทีมเดียวเท่านั้นที่ละเมิดกฎไฟแนนเชียล แฟร์ เพลย์ ยังมีอีกหลายทีมที่ก็เข้าข่ายละเมิดกฎดังกล่าวนี้

เชื่อว่ามีอีกหลายสโมสรยักษ์ใหญ่ที่เจ้าของสโมสรควักเงินกระเป๋าซ้ายมาจ่ายเข้ากระเป๋าขวา โดยผ่านสปอนเซอร์เจ้าต่างๆ

ที่เห็นกันเรียกได้ว่าค่อนข้างชัดคือ ปารีส แซงต์แชร์กแมง ยักษ์ใหญ่จากฝรั่งเศสที่ร่ำรวยขึ้นมาแบบมหาศาล ที่มี Oryx Qatar Sports Investments หรือชื่อย่อคือ QSI โดย QSI เป็นหน่วยงานของรัฐบาลกาตาร์ เป็นเจ้าของสโมสร

และสร้างความฮือฮาด้วยการดึงนักเตะชื่อดังอย่างเนย์มาร์ กองหน้าทีมชาติบราซิล และคิเลียน เอ็มบัปเป ดาวยิงทีมชาติฝรั่งเศส มาร่วมทีมพร้อมกันในฤดูกาล 2017-18

โดยปารีสจ่ายค่าตัวเนย์มาร์ให้บาร์เซโลนา ไป 222 ล้านยูโร (ประมาณ 7,548 ล้านบาท) ต่อด้วยการดึงตัวของเอ็มบัปเปมาร่วมทีมด้วยค่าตัว 180 ล้านยูโร (ประมาณ 6,120 ล้านบาท) ซึ่งมองแล้วว่ายังไงก็ต้องใช้เงินเกินกว่ากำไรของสโมสรที่หาได้แน่นอน

แต่ทีมดังจากเมืองน้ำหอมได้ทำการเลี่ยงกฎ “ไฟแนนเชียล แฟร์ เพลย์” ด้วยการยืมตัวของ เอ็มบัปเปมาใช้ 1 ฤดูกาล ก่อนมีออปชันซื้อขายในปีต่อมาด้วยค่าตัว 180 ล้านยูโร

ส่วนค่าตัวของเนย์มาร์นั้นก็ถือว่าเกินงบดุลแน่นอน แต่ปารีสล้ำลึกกว่า โดยให้รัฐบาลกาตาร์ได้จ้าง “เนย์มาร์” มาเป็นทูตเพื่อประชาสัมพันธ์ฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้าย โดยว่ากันว่ามีค่าตัวสูงถึง 300 ล้านยูโร (10,200 ล้านบาท)

โดยมีการแฉว่าจากจำนวนค่าจ้างของเนย์มาร์ แค่จำนวนนึงเท่านั้น แต่เงินจำนวน 222 ล้านยูโร คือให้กองหน้าวัย 28 ปี ไปจ่ายค่าฉีกสัญญาให้กับ บาร์เซโลนาเอง

ทำให้ปารีสนั้นรอดตัวจากกฎ “ไฟแนนเชียล แฟร์ เพลย์” ไปแบบเฉียดฉิว

ถามว่า “ยูฟ่า” จ้องเล่นงานปารีสมั้ย บอกเลยว่าเล็งมานานมาก เพราะใช้เงินมือเติบเป็นอย่างมาก เพียงแค่ไม่มีเอกสารหลักฐานที่ชัดเจนเหมือนแมนฯ ซิตี้เท่านั้นเอง

การตัดสินของ “ยูฟ่า” ครั้งนี้ก็เหมือนการเขียนเสือให้วัวกลัว

และเป็นการเตือนให้บรรดาสโมสรยักษ์ใหญ่ที่ทำแบบนี้อยู่ในปัจจุบันนี้ให้ระวังตัวเอาไว้ให้ดี

จะซิกแซกเรื่องกฎ “ไฟแนนเชียล แฟร์ เพลย์” ด้วยวิธีแบบไหนก็ทำไป

แต่อย่าพลาดขึ้นมา “ยูฟ่า” ก็พร้อมจัดหนักทันที!!!

ชานนท์ กล่ำดิษฐ์ เรื่อง