หน้าแรกแกลเลอรี่

เปิดใจ 'ยามาฮ่า ไทยแลนด์ฯ เรซซิ่งทีม' หลังบิดคว้าชัยต่างแดน!

ไทยรัฐออนไลน์

3 ก.ย. 2560 09:00 น.

เปิดใจทัพนักบิด 'ยามาฮ่า ไทยแลนด์ฯ เรซซิ่งทีม' หลังซิ่งสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการมอเตอร์สปอร์ตไทย คว้าแชมป์ซูซูก้า 4 ชั่วโมงทีมแรก ที่ญี่ปุ่น และยังคว้าดับเบิ้ลโพเดียม ศึกชิงแชมป์เอเชีย สนาม 4 ประเทศอินโดนีเซีย....

หลังจากที่ทัพนักบิด YAMAHA THAILAND RACING ตี-อนุภาพ ซามูล, ต๋ง-พีรพงศ์ บุญเลิศ และ เบิร์ด-ประวัติ ญาณวุฒิ สยบนักบิดซามูไร และกองทัพนักบิดทั่วเอเชีย ด้วยฟอร์มการขับขี่ที่เหนือชั้นก่อนกระชากคันเร่งรถแข่งคู่ใจ ยามาฮ่า YZF-R6 ลายธงชาติไทย หมายเลข 99 ทะยานเข้าเส้นชัยรับธงตราหมากรุกได้สำเร็จเป็นคันแรก ผงาดยืนโพเดียมอันดับที่ 1 พร้อมนำธงชาติไทยโบกสะบัดเหนือดินแดนซามูไรอย่างยิ่งใหญ่ ด้วยผลงาน 83 รอบ ในเกมสุดทรหด 4 ชั่วโมงเต็ม ซึ่งเป็นเกมซัพพอร์ตเรซในการแข่งขันรถจักรยานยนต์ทางเรียบเอ็นดูรานซ์ชิงแชมป์โลกรายการ Suzuka 4 Hours ซึ่งจัดขึ้น ณ สนามซูซูก้า เซอร์กิต ประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้คู่หูจอมเก๋า "ตั้น" เดชา ไกรศาสตร์ และ "เบียร์" เฉลิมพล ผลไม้ นักบิดสังกัด YAMAHA THAILAND RACING ยังผนึกกำลัง รวมใจเป็นหนึ่ง กระชากคันเร่งรถแข่ง YZF-R6 ฝ่าพายุฝนผงาดคว้าดับเบิ้ลโพเดียมในอันดับที่ 1 และ 3 รุ่น supersport 600 cc เรซที่ 2 ได้ตามลำดับ พร้อมนำธงชาติไทยโบกสะบัดบนแผ่นดินอิเหนาได้อย่างยิ่งใหญ่ ในการแข่งขันชิงแชมป์เอเชีย รายการ Asia Road Racing Championship 2017 สนามที่ 4 ณ เซนตูล อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต ประเทศอินโดนีเซีย นั้น ล่าสุดทีมข่าวกีฬาไทยรัฐออนไลน์ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ถึงความสำเร็จของ  YAMAHA THAILAND RACING TEAM

ตี-ต๋ง-เบิร์ด
ตี-ต๋ง-เบิร์ด

1. วัตถุประสงค์ที่ส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขัน Suzuka 4Hours Endurance Race 2017 และมีการเตรียมทีมล่วงหน้านานแค่ไหน

ธีรพงษ์ โอภาสกรกุล ผู้จัดการทีมกล่าวว่า "วัตถุประสงค์หลักคือต้องการวัดระดับประสิทธิภาพของทีมในการทำงานร่วมกัน และสอง คือการให้แรงจูงใจกับนักแข่งกับช่าง เพื่อได้เห็นมาตรการทำงานในระดับสากลและก็เป็นรายการใหญ่ที่อยากจะให้กำลังใจน้องๆ ได้ทำงานในระดับนี้ด้วยครับ"

2. ในการคัดเลือกตัวแทนนักแข่ง และทีมช่างเพื่อเข้าร่วมการแข่งขัน Suzuka 4Hours Endurance Race 2017 มีการคัดเลือกจากอะไร

ธีรพงษ์ กล่าวว่า "การคัดเลือกนักแข่งในครั้งนี้ ในส่วนของคุณต๋ง พีรพงศ์ บุญเลิศ ปีที่แล้วเคยเข้าร่วมกับทีมในญี่ปุ่น ทำให้มีประสบการณ์มา 1 ครั้ง ปีนี้ก็ตั้งใจว่าให้เขาได้หาประสบการณ์ ได้แก้ไขสิ่งที่มีข้อผิดพลาดในครั้งที่ผ่านมาแล้วก็ด้วยประสบการณ์ของเขาน่าจะเป็นประโยชน์กับสนามนี้ ส่วน "ตี" เห็นภาพว่าเขาอยู่ในช่วงท็อปฟอร์มของ เอเชีย โรด เรซซิ่ง แล้ว เขาเป็นคนที่ปรับตัวได้เร็ว และเนื่องจากการแข่งเที่ยวนี้ใช้เวลาถึง 4 ชั่วโมง ร่างกายของเขาแข็งแรงที่สุด ส่วน เบิร์ด เขาแข่ง 600 cc อยู่ชิงแชมป์ประเทศไทยอยู่แล้ว มีประสบการณ์เต็มรูปแบบ สามารถให้คำแนะนำน้องๆ ได้ดีด้วย"

เบิร์ด-ประวัติ ญาณวุฒิ
เบิร์ด-ประวัติ ญาณวุฒิ

3. การทำงาน การเตรียมทีม ในการแข่งขันระหว่างเกมเรซปกติกับ Suzuka 4Hours Endurance Race 2017 มีความแตกต่างกันอย่างไร และทีมมีการเตรียมทีม เตรียมข้อมูลอย่างไรในการเข้าร่วมการแข่งขันเป็นครั้งแรก

"ต่างกันเยอะครับ เพราะอันนี้ 4 ชั่วโมง การเตรียมการบวกลบหน้าหลังก็ไม่ต่ำกว่า 6 ชั่วโมงแล้ว เพราะฉะนั้นความเครียดจะสูงมาก ดังนั้นทีมต้องเตรียมสุขภาพเรื่องร่างกาย ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของนักแข่งเขาที่ต้องรู้ว่าตนเองจะต้องเตรียมตัวอย่างไร จุดสำคัญการแข่งขันแบบนี้เป็นการทำงานด้วยทีมเวิร์กล้วนๆ เป็นการหาความโดดเด่นของแต่ละคนให้ลงตัวที่สุดให้มาทำงานด้วยกัน ช่างจะต้องแม่นยำ มีการตรวจสอบ ผิดพลาดไม่ได้ ดังนั้นช่างก็มีความสำคัญมากเช่นกันครับ หลักๆ เลยตอนแข่งเรายึดหลัก 3 ข้อคือ ทำตามแผน, ทำข้อผิดพลาดให้น้อยที่สุด และ 3. การสื่อสารต้องดีมากๆ"

4. ความยากของเกมการแข่งขันแบบเอ็นดูรานซ์คืออะไร และทีมมีการจัดการปัญหาหรืออุปสรรคอย่างไร

คุณธีรพงศ์ และเบิร์ด กล่าวว่า "ความยากของ Sukuka 4 hours มันมีโอกาสตำแหน่งของการแข่งปรับเปลี่ยนได้ตลอด ความยากหนึ่งเลยคือการสื่อสารระหว่างนักแข่งกับทีมงาน และสองก็คือภาษาใช้เป็นภาษาญี่ปุ่น เราจำเป็นต้องปรับเรื่องภาษาให้ทันเวลา ทำยังไงให้นักแข่งมีสัญชาตญาณในการแก้ไขปัญหาของตนเองได้อย่างถูกต้อง ก่อนแข่งเราไปเช็กข้อมูลเกี่ยวกับคู่แข่งและเอามาแชร์กับน้องๆ มาเราจะปรับปรุงแบบไหน เพื่อทำเวลาของเราให้น้อยลง และมีโอกาสชนะมากขึ้น ซึ่งน้องๆ เขาก็อยากพัฒนาตัวเองและเขาก็ทำได้"

ต๋ง-พีรพงศ์ บุญเลิศ
ต๋ง-พีรพงศ์ บุญเลิศ

5. อยากให้พูดถึงบรรยากาศของทีมในช่วงจังหวะของเกมในช่วง 15 นาทีสุดท้าย และจังหวะที่ถูกปรับโทษ Stop & Go

"ตี" กล่าวว่า "ตอนที่เราโดนโทษ stop & GO เราลงไปอยู่อันดับ 3 ตามหลังผู้นำ 40 วิ แต่เราทุกคนในทีมก็มีความหวัง ผมเหมือนตัวเองจะร้องไห้ แต่พี่เบิร์ดก็บอกว่า 40 วิเนี่ย ไอต๋ง มันไล่รอบละ 4 วิ 10 รอบมันก็ทัน เราก็มีความหวังกอดกันกลมเลย ว่าจะไล่ทันแน่ เราเหมือนกับคนที่สิ้นหวังแต่กลับมามีหวัง

"ต๋ง" กล่าวว่า "หลังจากที่ผมออกไปเป็นไม้สุดท้าย ยังไม่รู้สาเหตุว่าโดนอะไร ตอนแรกก็ยังไล่อยู่ใช้เวลาประมาณ 5 รอบ เราก็แซงขึ้นมาที่ 1 แล้วก็ไปเห็นป้าย stop and go เบอร์ 99 ผมรู้สึกว่าทำไมมันถึงมีอุปสรรคมากมายขนาดนี้ ผมเลยต้องเข้าพิต เพราะไม่เข้าจะโดนธงดำ และห้ามแข่งต่อ แล้วตอนนั้นผมก็คิดว่าเราจะแพ้อีกแล้วหรอ ผมจะแพ้ไม่ได้ เพราะผมรู้ว่าคันที่นำอยู่เขาทำเวลาไม่ได้แล้ว เขาไม่โดนโมเมนต์อย่างเรา เขาก็ไปของเขาเรื่อยๆ แต่ผมคิดว่าผมต้องได้แชมป์ ผมเลยกัดฟันไล่ ผมแซงที่ 2 ขึ้นมา และในโค้งสุดท้ายผมหันไปดูจอ ที่ 1 ห่างกันประมาณ 40 วิ หลังจากนั้นเหลือประมาณ 12 รอบ ผมก็ไล่ล่าเลย เพราะว่าผมไม่พลาดแน่นอน และผมสามารถทำไ้ด้ดีที่สุดในทุกโค้งได้ แล้วเราก็ได้รับชัยชนะมา"

ตี-อนุภาพ ซามูล
ตี-อนุภาพ ซามูล

6. อะไรคือสิ่งที่ทำให้ทีมฯ สามารถคว้าชัยชนะในเกม Suzuka 4Hours Endurance Race 2017 ได้สำเร็จ ทั้งๆ ที่เข้าร่วมการแข่งขันเป็นครั้งแรก

"ตี" กล่าวว่า "ทุกคนช่วยกัน มีทีมเวิร์กที่ดี แล้วก็มีโอกาสจากยามาฮ่าที่มอบให้เราไปต่อยอด เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์กลับมาแชร์ต่อให้นักแข่งรุ่นต่อๆ ไป"

7. เป้าหมายต่อไปของทีมกับการแข่งขันแบบเอ็นดูรานซ์หรือ เกม Suzuka 4Hours Endurance Race 2017

คุณธีรพงศ์ กล่าวว่า "เป้าหมายคือรักษาแชมป์ครับในปีหน้า"

เปิดใจเรื่อง Asia Road Racing Championship 2017

1. อยากให้พูดถึงความสำเร็จที่หลังคว้าชัยแบบดับเบิลโพเดียม ในศึกชิงแชมป์เอเชียที่อินโดนีเซีย ในสนามที่ผ่านมา

"ตั้น" เดชา ไกรศาสตร์ กล่าวว่า "จริงๆ แล้วผมต้องให้เครดิตกับทีมและน้องๆ ที่ทำให้เรามีแรงกระตุ้น และให้เครดิตทีมก็เตรียมตัวมาเองอย่างดีสำหรับสนามนี้ จริงๆ แล้วที่อินโดนีเซีย นักแข่งส่วนใหญ่รู้ดีว่าเราสู้เจ้าถิ่นลำบากเพราะสนามมันค่อนข้างเป็นเฉพาะทางของนักแข่งอินโด แข่งที่ไม่เรียบ เชื่อว่านักแข่งทุกคนไม่อยากแข่งที่นี่มากนัก สภาพสนามลำบากมากในการขี่ ในเรซแรกผมสตาร์ตในตำแหน่งที่ 5 ก็พยายามที่จะไปอยู่ข้างหน้าให้ได้ ขึ้นมาอยู่ที่ 2 แล้วล่ะ แต่ว่าในช่วง 4-5 รอบสุดท้ายก็โดนแซง เนื่องด้วยสภาพสนามและอะไรหลายๆ อย่าง ในวันแรกเป็นเหมือนซ้อมใหญ่เลย และช่วงเช้าของเรซที่ 2 ในวันอาทิตย์ เจอฝนตก เราต้องเปลี่ยนยางและทีมงานของเราก็พร้อมมากๆ จากนั้นผมออกไปก็ไปนำ 1-2 เลยกับ เบียร์ แล้วผมก็แซงเบียร์ขึ้นมา แล้วก็ขี่ไปเรื่อยๆ พอหันไปมองข้างหลังก็ห่างไปเรื่อยๆ ผมก็มีหน้าที่แค่ห้ามล้ม สู้กับตัวเอง และมีความมั่นใจว่าเราจะชนะ สุดท้ายเราก็ทำได้ ก็ถือว่าเป็นผลงานที่ดีครับ ส่วนแฟนเจ้าถิ่นที่ส่งเสียงเชียร์กันดังกระหึ่ม หายไปหมดเลย พอเราเข้าที่ 1"

"ตั้น" เดชา ไกรศาสตร์

4. ในเกมการแข่งขันสนามสุดท้ายซึ่งจะมีขึ้นในเมืองไทยที่สนามช้างฯ ทางทีมมีความมั่นใจมากน้อยแค่ไหนในการยืนโพเดียมสูงสุดในฐานะเจ้าภาพ

ตั้น กล่าวว่า "600 cc มั่นใจมากครับ (หัวเราะ)" ก่อนที่ ตี จะกล่าวเสริมว่า "หลักๆ เลยคือทีมจัดการซ้อมตลอดเลย เรา 3 คนเราคุยกันตลอด ส่วนเรื่องตัวรถทีมช่างก็ทำงานกันอย่างหนักจนได้รถที่สมบูรณ์มา เราเลยมั่นใจ การเตรียมตัวของเราที่เหลือก็คือการออกกำลังกายและมีระเบียบวินัยในการฝึกซ้อม"

5. ความหวังในการรักษาแชมป์รุ่น Asia Production 250 cc และ SuperSport 600 cc

ทีมช่างของรุ่น 250 CC กล่าวว่า "คะแนนของ 250 cc ตอนนี้อยู่ที่ 2 ก็ลุ้นๆ อยู่ คิดว่ายังมีโอกาสครับ" ส่วน ตั้น กล่าวว่า "สำหรับ 600 CC ทีมงานกับรถผมคิดว่าไม่ใช่ปัญหาสำหรับการเป็นแชมป์ ปัญหาคือตัวนักแข่งที่ผมเองปีนี้ก็บาดเจ็บเอ็นขาด รถล้มที่บุรีรัมย์ช่วงสงกรานต์ตอนแข่งเรซที่ 2 ทำให้คะแนนตอนแรกหล่นไป 10 กว่า ยังดีชนะที่อินโดก็เลยขึ้นมาอยู่ที่ 6 แล้ว มันก็มีโอกาสที่จะขึ้นไปท็อปทรี น่าจะได้ และการกลับมาแข่งที่บุรีรัมย์ ก็เหมือนเปิดทางให้เราที่จะลุ้นแชมป์ แต่ว่าสำหรับ 600 ผมบอกเลยว่าเหนื่อย แต่สำหรับผมถ้าเราไม่เจ็บหรือไปพลาดมันมีโอกาสลุ้นอยู่แล้วทุกปี เพราะเราก็เป็นแชมป์เก่า เพราะผมเป็นแชมป์มาแล้ว 2 ปี เบียร์ก็เป็นแชมป์มาปีนึง มันก็บ่งบอกชัดแล้วว่าเราเป็นหนึ่งในเอเชีย"

ฝากคนไทยช่วยเป็นกำลังใจให้กับ ยามาฮ่า ไทยแลนด์ เรซซิ่ง ทีม

ตั้น เป็นตัวแทนของทีมกล่าวว่า "เชื่อว่าคนไทยไม่ผิดหวังอยู่แล้ว ถ้าเชียร์พวกเราในรายการนี้ พวกเราทำงานกันเต็มที่ ก็อยากให้รู้เลยว่าพวกเราตั้งใจทำงานกันเต็มที่ ผลงานมันก็กลับมาสู่ประเทศไทยกลับมาสู่คนไทย ทีมไทย ก็อยากให้ช่วยเป็นกำลังใจเชียร์ให้กับเรา ถึงว่าเราจะไม่ดังแต่เราก็เป็นทีมเล็กๆ ที่ตั้งใจครับ ถึงเราจะคนรู้จักน้อย แต่เราก็เก่งครับ (หัวเราะ)"

ขณะที่ เติ้ล พีระพงศ์ หลุยบุญเป็ง น้องเล็กของทีม กล่าวเสริมว่า "อยากให้ทุกคนช่วยเป็นกำลังใจ ทีมเราเป็นเหมือนครอบครัว ไม่รู้ทีมอื่นเป็นไง แต่ทีมเราเป็นเหมือนพี่เหมือนน้อง เปิดอกคุยกันได้ทุกเรื่อง อย่างเช่นเรามาขี่ด้วยกันเราเป็นคู่แข่งกันก็จริง แต่เราก็แชร์กันตลอด มันไม่มีใครต้องได้ที่ 1 คนเดียว ทุกคนทำงาน มีหน้าที่ของตัวเอง แต่เราก็คือทีมยามาฮ่า"

ยามาฮ่า ไทยแลนด์ เรซซิ่งทีม
ยามาฮ่า ไทยแลนด์ เรซซิ่งทีม