หน้าแรกแกลเลอรี่

ปล่อยผ่านหรือ

เบี้ยหงาย

8 ก.ย. 2566 05:07 น.

เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ผุดขึ้นมาในช่วงการประชุมบอร์ดการกีฬานัดส่งท้ายของรัฐบาลชุด “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มี “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานบอร์ดการกีฬาฯ และ กองทุนฯ

กับการขาดเงิน ขาดงบประมาณในการจัดการแข่งขันจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์โลก หรือ “โมโตจีพี 2023” ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 4 ในเมืองไทย กำลังจะเกิดขึ้นในอีกเพียงไม่ถึง 2 เดือนดี ที่สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ ระหว่าง 27-29 ต.ค.นี้ จำนวน 150 ล้านบาท

และเป็นที่ทราบกันดีว่า “โมโตจีพี” เกมนี้ มีความสำคัญยิ่งและเป็นหน้าเป็นตาของประเทศไทยที่ดังไปทั่วโลก แม้ว่าที่ผ่านมาแต่แรกๆก็มีเสียงตำหนิบ้าง สงสัยบ้างในความคุ้มค่ากับจำนวนเงินค่าลิขสิทธิ์ที่ต้องจับจ่ายและใช้สอยในการจัดที่สูงลิ่ว แต่สุดท้ายก็ค่อยๆหายไป และมีการต่อสัญญาให้ไทยจัดต่อไปอีกหลายปี ก็ด้วยความยิ่งใหญ่ และสำคัญของเกมนั่นแหละ ทำให้ส่วนรวมก็ได้ประโยชน์อย่างไม่มีข้อกังขา

เมื่อโมโตจีพีเคยจัดแล้ว จัดอยู่ และจะจัดต่ออีกนาน จึงไม่น่าเป็นปัญหา เกิดข้อขัดข้อง ในส่วนของงบประมาณที่ต้องตั้งและต้องเตรียมกันล่วงหน้า เปรียบเป็นงานประจำอยู่แล้ว

แต่ทำไมมาเป็นเรื่องและปูดออกมาเป็นประเด็นในช่วงรอยต่อของรัฐบาลที่กำลังเปลี่ยนมือ

ยิ่งเหตุผลประกอบที่พูดกันถึงการขาดงบ พาดพิงไปถึงการไม่อนุมัติเงินของกองทุนฯ ซึ่งกองทุนก็มี พล.อ.ประวิตรเป็นประธานบอร์ด โยงไปถึงการเห็นค้านของกระทรวงการคลัง เนื่องจากเป็นช่วงปลายปีงบประมาณ การขอกรอบวงเงินไม่สามารถทำได้ทันในไตรมาสที่ 3 แถมมีความเห็นของประธานบอร์ดกองทุนฯที่บอกว่าควรจะเอาเงินจากสปอนเซอร์แทน

ต้องไม่ลืมว่าโมโตจีพีนั้นไม่ใช่เพิ่งจัดครั้งแรก มีประสบการณ์ มีแบบปฏิบัติมาก่อน มีวาระล่วงหน้าชัดเจน และรู้มานานมากแล้ว ไม่เป็นเรื่องปุ๊บปั๊บกะทันหัน!

แม้ว่าต่อมานายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ได้ออกมาแสดงความเป็นห่วงแต่แรกๆหลังมีข่าวออกมา ก่อนผู้ว่าการ กกท. ดร.ก้องศักดิ ยอดมณี จะแก้ปัญหาด้วยการใช้งบประมาณของ กกท.เอง โดยเกลี่ยงบประมาณประจำปี 2566 และ 2567 เพื่อนำมาใช้จัดงาน ซึ่งทาง กกท.ก็ได้จัดประชุมเตรียมความพร้อมทุกภาคส่วน เพื่อสร้างความเข้าใจ และความเชื่อมั่นไปเมื่อวันวาน

ดูเหมือนทุกอย่างจะจบลงง่ายๆเหมือนไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น

แต่จะปล่อยผ่าน ลืมๆกันไปหรือไม่

โดยเฉพาะทีมงานกีฬาของรัฐชุดใหม่ ไล่ตั้งแต่หัวขบวน นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน มาถึง รมต.การท่องเที่ยวและกีฬา สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล และรวมถึงบอร์ดการกีฬาและบอร์ดกองทุนที่ต้องมีการเปลี่ยนใหม่ตามธรรมเนียมปฏิบัติ

ควรหาทางทำความเข้าใจถึงปัญหาที่ผ่านมา ไม่เฉพาะเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ ยังมีอีกมากมายหลายประเด็นที่อาจมาจากรากฐานเดียวกัน ไม่ว่าจะเกี่ยวกับ โครงสร้าง กลไก ระบบ หรือแม้แต่ตัวบุคคลที่ฉุดรั้งในหลายเรื่อง หลายมิติ ทำให้การพัฒนากีฬาไม่ไหลลื่น ซ้ำยังขัดกันแบบไม่น่าเกิดขึ้น

อะไรเป็นปัญหา ต้องขจัดปัดเป่า

เข้ามาทำงานต้องเข้าใจให้ถ่องแท้และแก้ให้ตรงจุด จะได้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างราบรื่น และเกิดประโยชน์สูงสุด...

“เบี้ยหงาย”