ไทยรัฐออนไลน์
ประธานที่ปรึกษาสโมสรแบดมินตันแกรนนูลาร์ โพสต์เฟซบุ๊กถึง "พิธา" ชี้ผู้สมัคร ส.ส. ต้องเรียนรู้ ขนาดกีฬายังต้องมีกฎ
วันที่ 20 กรกฎาคม 2566 "เจน ปิยะทัต" ประธานที่ปรึกษาสโมสรแบดมินตันแกรนนูลาร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึง "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล หลังถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ รับคำร้องคดีถือหุ้นไอทีวี
โพสต์ดังกล่าวมีด้วยกัน 2 โพสต์ โพสต์แรกระบุว่า ความผิดพลาดที่ส่งผลกระทบกับคนระดับหัวหน้าพรรคทั้งสองคน คนจำนวนไม่น้อยที่เสียดาย “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” พลาดการเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะเป็น “ความหวัง” ของคนจำนวนมากที่ต้องการ “คนรุ่นใหม่” มาบริหารบ้านเมือง และการได้รับเลือกตั้งมีจำนวน สส. มากที่สุดก็คงเป็นเรื่องยืนยัน แต่บ้านเมืองต้องมี “กฎ กติกา” เพื่อให้ทุกภาคส่วนของสังคมมีข้อบังคับให้ปฏิบัติ
ขนาดการแข่งขันกีฬายังต้องมีกฎ เช่น นักกีฬาที่ถูกตรวจสอบพบการใช้สารกระตุ้นก็จะถูกห้าม ถูกแบน ตามการพิจารณาน้ำหนักว่าจะลงโทษรุนแรงแค่ไหน นี่เป็นเรื่องบ้านเมือง การเคารพกฎ กติกา จึงสำคัญกว่าเรื่องกีฬาแน่นอน และน่าเสียดายที่ “พิธา” พลาดเรื่องง่ายๆนี้ จนถูกศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับพิจารณาคำร้องกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ พร้อมมีคำสั่งให้ นายพิธา หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
“พิธา” พลาดง่ายยิ่งกว่า “กิ้งกือหกคะเมน” เพราะการไปถือหุ้นสื่อที่กฎหมายห้าม และที่น่าสงสารก็คือ ทีมกฎหมายของพรรค ที่คือพรรคอนาคตใหม่เดิม ก็เคยพลาดมาแล้วในเรื่องนี้ เหมือนนักกีฬาที่ไม่มีคนแนะนำว่าห้ามดื่มน้ำแบบนี้ ใช้ยาแบบนี้ จนอดขึ้นเวที ทั้งที่ฟิตซ้อมมาเต็มที่ โอกาสชนะเห็นๆ
กองเชียร์พิธา ขอให้ใจเย็นๆ เพราะนี่เป็นความผิด (พลาด) ของพิธาที่คงไม่เจตนา แต่ไม่จำว่าก่อนหน้านี้ หัวหน้าพรรคคนก่อน คือ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ก็เคยทำผิดและถูกห้ามปฏิบัติหน้าที่ สส. มาแล้ว แถมพรรคก็โดนยุบจนต้องแปลงร่างมาเป็น “พรรคก้าวไกล” ในวันนี้ จะโทษคนโน้นคนนี้ก็ต้องยอมรับว่านี่คือ “ความจริง” ว่าทีมกฎหมายผิดพลาดเอง เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้เลือกตั้งมาแล้ว 2 ครั้ง คือปี 2562 กับ 2566 ทำไมพรรคถึงโดนลงโทษ “คนระดับหัวหน้าพรรคทั้ง 2 ครั้ง”
นี่เป็นเรื่อง่ายๆ ตามหลักอริยสัจ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ที่ต้องไตร่ตรองว่าทั้งหมดของเหตุการณ์เริ่มจากอะไรที่ทำให้เกิดทุกข์ และสิ่งที่ควรทำคือมรรค ที่หมายถึงหาแนวปฏิบัติที่นำไปสู่นิโรธหรือนำไปถึงความดับทุกข์ เพื่อยุติการเป็นทุกข์ เมื่อทุกข์เกิดจากตัวเอง ก็คงต้องบอกตัวเองให้ปฏิบัติถูกที่จะเป็นทางดับทุกข์ ซึ่งในทางการเมืองก็ไม่ยาก และทำได้ง่ายๆ เหมือนกีฬา คือปฏิบัติตามกฎระเบียบ บ้านเมืองมีกฎระเบียบ มีกติกา ก็จะเป็นบ้านเมืองที่น่าอยู่
โพสต์ที่สองระบุว่า “ถูกต้อง” สำคัญกว่า “ถูกใจ” เมื่อวานเขียนเรื่องบ้านเมืองต้องมีกฎ กติกา และผมก็เชื่อตั้งแต่ตัดสินใจเขียน ว่าจะต้องมีปรากฏการณ์ “ทัวร์ลง” เพราะคงไม่ถูกใจกองเชียร์พรรคก้าวไกล
แต่ผมก็ยังตัดสินใจเขียน ไม่ได้วิตกอะไร เพราะความงดงามของระบอบประชาธิปไตย คือการให้มีคนเห็นต่าง เหมือนที่เคยมีคนกล่าวว่า เราคงไม่สามารถเห็นด้วยกับเรื่องที่ท่านกล่าวทุกเรื่อง แต่เรายินดีที่จะรับฟังสิ่งที่ท่านต้องการพูดทุกเรื่อง เสียดายที่คนจำนวนมากพวกนี้ไม่รับฟังเสียงที่แตกต่างจากสิ่งที่เขาอยากได้ยิน
ส่วนเรื่องที่เกิดขึ้นกับคุณพิธา จนถึงขั้นถูกศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม ผมมองว่าเป็น “ความตั้งใจ” ของคุณพิธาด้วยซ้ำ “ต้นเหตุ” มาจากเรื่องเล็กๆ แค่คุณพิธาถือหุ้นไอทีวี ที่แม้ไม่มีสถานีโทรทัศน์ แต่บริษัทก็ยังทำหน้าที่เป็นสื่อ รับงานประชาสัมพันธ์ แต่คุณพิธาและทีมกฎหมายของพรรค ก็ยังเลือกที่จะไม่โอนหุ้น หรือจะทำอะไรก็ได้ที่ตัวเองไม่เป็นผู้ถือหุ้น แต่ก็ยังหน้าตาเฉยแจ้ง กกต. ว่ายังถือหุ้น ทั้งๆ ที่คุณธนาธรหัวหน้าพรรคคนก่อนเมื่อครั้งใช้ชื่อ “พรรคอนาคตใหม่” ก็โดนศาลตัดสินกรณีแบบนี้มาแล้ว “เพราะกติกานี้ใช้มาตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2562”
ผมว่านี่เป็นความตั้งใจของพรรคเพื่อให้เกิดเรื่องแบบนี้ เพื่อสามารถใช้คำว่า “ถูกรังแก” เพราะแม้จะเชื่อว่าจะได้รับคะแนนเลือกตั้งสูง แต่ก็มั่นใจว่าไม่มีทางที่จะตั้งรัฐบาลพรรคเดียว ทางออกที่เลือกจึงเป็นแบบนี้ เพราะเชื่อว่า “กองเชียร์” ที่เรียกว่า “ด้อมส้ม” พร้อมที่จะออกมาร่วมขบวนการที่จะออกมาเรียกร้องความยุติธรรม
การลงเลือกตั้งโดยไม่รู้ว่าตัวเอง “ขาดคุณสมบัติ” ผมเชื่อว่าคนมีการศึกษาจากฮาวาร์ดและเอ็มไอที ไม่มีทางไม่รู้ ผมจึงเชื่อว่านี่เป็น “ความตั้งใจ” เราจึงได้ยินแต่เสียงร้องขอความเป็นธรรม “แต่ไม่เคยยินพิธาบอกว่าเป็นความผิดของตัวเอง” ที่ยังเลือกถือหุ้น และยังเห็นปฏิกิริยาจากกองเชียร์ ที่ขับรถทัวร์ “ลงแขก” ทุกคนที่มองว่า “ฝ่ายตรงข้าม” ทั้ง สส. พรรคอื่น สว. กระทั่ง “คนนอก” อย่างลูกชายผู้ว่าฯ ชัชชาติ ก็โดนมาแล้ว
นี่คงถูกใจพิธาและทีม ที่ “กองเชียร์” ไม่สนใจอะไรนอกจากเชื่อสิ่งที่ “เขาบอก”
ส่วนตัวผมมองว่าพิธาแม้จะเสียใจที่ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่เขาก็คงมีแผน หรืออาจจะมองว่าอีกสี่ปีจะเป็นโอกาสทองของเขา ที่อาจจะเป็นพรรคเดียวที่สามารถตั้งรัฐบาลหลังชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลาย เพราะ “กองเชียร์” แบบไม่ลืมหูลืมตาและหาความรู้ของเขาในวันนี้ หลายคนยังอายุ 15-16 ที่หมายถึงอีก 4 ปีจะมีสิทธิ์เลือกตั้ง
พิธาจึงเลือกเล่นบท “ถูกรังแก” ในสิ่งที่เขาทำโดย “ไม่เคยยอมรับว่าทั้งหมดเป็นความผิดของเขา” เพราะรู้ดีว่า “ผิด” ตามรัฐธรรมนูญ 2 มาตราคือ มาตรา 101 (6) ขาดคุณสมบัติ สส. และมาตรา 98 (3) ถือหุ้นสื่อ
ขณะที่กองเชียร์ที่เป็นเด็กๆ จะท่องคาถาอย่างหนึ่งเมื่อถูกผู้ใหญ่โต้แย้ง คือ “คนแก่กลัวการเปลี่ยนแปลง” ก็อยากจะบอกว่าไม่จริง เพราะผู้ใหญ่ต่างก็ผ่าน “การเปลี่ยนแปลง” คนอายุเกิน 70 ก็เคยผ่านยุคกรุงเทพฯ มีถนนไม่กี่สาย ยังนั่งรถราง คนอายุ 60 ก็เคยผ่าน 14 ตุลา และ 6 ตุลา คนอายุ 50 ก็เคยผ่านยุคการปิดไฟห้ามสถานีโทรทัศน์ออกอากาศเพื่อประหยัดหลังงานช่วง 18.00-20.00 น. และผ่านการ “ปฏิวัติ” มาแล้วหลายครั้ง
การบอกว่าผู้ใหญ่กลัวการเปลี่ยนแปลง จึงไม่จริง และผู้ใหญ่ก็ไม่ได้กลัวการเปลี่ยนแปลงอย่างที่เด็กๆ คิดและใช้เป็นวาจาด่าว่าผู้ใหญ่ แต่สิ่งที่ผู้ใหญ่ รวมทั้งผมกลัวก็คือ การทำให้ “ความถูกต้อง” แพ้ “ความถูกใจ” โดยเฉพาะจากกองเชียร์ที่ไม่เคยศึกษาหาความรู้ แต่ใช้วาจาและนำทัวร์ไปลงคนเห็นต่าง อย่างดาราคนหนึ่งออกปากชื่นชมที่ “ลุงตู่” สร้าง “ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์” หรือเครื่องโทคาแมค ที่จะเป็นแหล่งพลังงานสะอาดในอนาคต ทันทีที่คนแรกออกความเห็นประมาณว่า เพิ่งรู้ว่าไทยสร้างดวงอาทิตย์ นึกว่าเป็นธรรมชาติที่มีมานาน จากนั้นบรรดากองเชียร์ก็ออกทัวร์เฮฮา เพราะ “ไม่รู้” ว่า “ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์” คืออะไร
ผมไม่กลัวทัวร์ลง เพราะผมยังยืนยัน นอกจากกฎ กติกา บ้านเมืองนี้จะต้องไม่ให้ “ความถูกใจ” ใหญ่กว่า “ความถูกต้อง” ครับ.