หน้าแรกแกลเลอรี่

หลังม่านประวัติศาสตร์

พาวเวอร์บอมบ์

11 ก.พ. 2564 06:30 น.

มีเรื่องน่ายินดีเกิดขึ้นในวงการแบดมินตันของไทย เมื่อการแข่งขันแบดมินตัน 3 รายการใหญ่ในไทยที่ผ่านมา ฝ่าด่านไวรัสโควิด-19 แข่งขันเสร็จสิ้นประสบความสำเร็จไปด้วยดี

แต่ยังมีเรื่องที่ทำให้คนไทยยิ้มกว้างไปกว่านั้น คือ ความสำเร็จของ “บาส” เดชาพล พัววรานุเคราะห์ และ “ปอป้อ” ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย ที่เหมาแชมป์ประเภทคู่ผสม 3 ศึกใหญ่ได้แบบเรียบวุธ ไม่ว่าจะเป็นศึกซูเปอร์ เวิลด์ทัวร์ 1000 รายการ “โยเน็กซ์ ไทยแลนด์ โอเพ่น” และ “โตโยต้า ไทยแลนด์ โอเพ่น” ปิดท้ายด้วย “เวิลด์ทัวร์ ไฟนอลส์ 2020” เป็นการคว้าแชมป์ระดับ 1000 ครั้งแรกของทั้งคู่ และเป็นหนแรกของนักตบขนไก่ไทยที่ได้แชมป์ เวิลด์ทัวร์ ไฟนอลส์ มาครองอีกด้วย

เมื่อไม่กี่วันมานี้ ผมได้นำบทความนี้ตีพิมพ์ลงในคอลัมน์ “เรียงหน้าชน” บนหน้าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ แบบบางช่วงบางตอน แต่ ณ ที่แห่งนี้ไม่มีเรื่องของเนื้อที่มาเป็นข้อจำกัด ผมเลยอยากจะนำบทความฉบับเต็มมาให้ได้อ่านกัน

ความสำเร็จของนักตบลูกขนไก่ไทยในครั้งนี้ กว่าจะได้มาไม่ใช่เรื่องง่าย

เราจะพาไปดูหลังฉากการทำงานของทีม “เอสซีจี แบดมินตัน อะคาเดมี” ซึ่งเป็นผู้ดูแลนักกีฬาทั้งสอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมตัวช่วงระยะเวลา 9 เดือนที่ไม่มีการแข่งขัน

“โค้ชโอม” เทศนา พันธ์วิศวาส หัวหน้าผู้ฝึกสอน บอกเล่าถึงการทำงานว่า ช่วงที่แบดมินตันแข่งขันไม่ได้เพราะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมระยะเวลา 9 เดือน เป็นช่วงเวลาที่ต้องใช้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุดในการพัฒนาให้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การกีฬากับนักกีฬา เพื่อนำไปต่อยอดให้เขารู้และเข้าใจไปกับเรา มีการศึกษาแนวทางการเล่นของคู่ต่อสู้ จำลองสถานการณ์เกมให้คล้ายกับสถานการณ์ในสนามให้ได้มากที่สุด เพื่อลบจุดอ่อน และอัปเกรดจุดแข็ง ถือว่าเวลา 9 เดือนที่ผ่านมาใช้ไปอย่างคุ้มค่ามาก

“เมื่อเรารู้ว่าจะไม่ได้แข่งอีกนาน ก็ต้องใช้เวลาที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการแก้ไขและพัฒนาจุดต่างๆ ที่แทบจะไม่ค่อยมีเวลาได้ทำ เพราะในช่วงเวลาปกติต้องออกทัวร์แข่งตลอด ถือว่าทั้งสองคนมีพัฒนาการที่ดีมากๆ ทั้งในเรื่องของร่างกายและเทคนิค เมื่อร่างกายดีก็สามารถควบคุมสมรรถนะในการเรื่องเทคนิคและทักษะได้อย่างดีเยี่ยม ก่อนแข่งขันตั้งเป้าอยู่แล้วว่าจะต้องคว้าให้ได้ทั้ง 3 แชมป์ แม้ว่าตอนนั้นทีมจีนและญี่ปุ่นยังไม่ถอนตัว ก็ยังเชื่อมั่นว่าทำได้ เพราะการพัฒนาขึ้นมาของบาสกับปอป้อ”

จุดแข็งอีกอย่างที่โค้ชโอมชื่นชมคู่หูนักตบขนไก่ คือ ระเบียบวินัย ทั้งคู่รู้ดีว่าหน้าที่ของตัวเองคืออะไร แม้ว่าช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก ซึ่งเราจำเป็นต้องปรับรูปแบบการฝึกซ้อมให้สอดคล้องตามมาตรการป้องกันแพร่ระบาดของรัฐ โดยปล่อยนักกีฬากลับบ้าน ไม่สามารถพักที่แคมป์ของเอสซีจี อะคาเดมีได้ หลังจากมาตรการเริ่มผ่อนคลาย ทั้งคู่ก็ไม่เคยขาดซ้อม มาถึงก่อนเวลาเสมอ ซ้อมอย่างเต็มที่ แลกเปลี่ยนแนวทางกับโค้ชและทีมงานแบบเปิดเผย ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพอย่างมาก นอกจากนั้นหลังการฝึกซ้อมจะให้นักกีฬาทุกคนประเมินตัวเองในแต่ละวัน ประเมินโค้ชและทีมงาน เพื่อให้รู้ถึงจุดบกพร่องที่จะเอาไปแก้ไขในวันถัดไป ซึ่งโค้ชเองก็จะประเมินนักกีฬาเช่นกัน

ด้าน ศ.ดร.เจริญ กระบวนรัตน์ หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญวิทยาศาสตร์การกีฬา เอสซีจี แบดมินตัน อะคาเดมี กล่าวว่า ช่วง 9 เดือนถือเป็นโอกาสทอง เราทำงานกันอย่างหนัก มีทั้งภาคทฤษฎี ปฏิบัติ และเรื่องสภาพจิตใจ สิ่งสำคัญที่ทำให้ทั้งคู่ประสบความสำเร็จ คือ ระเบียบวินัย การทำทุกอย่างตามโปรแกรมที่วางไว้อย่างเคร่งครัด โดยโค้ชโอมจะเป็นคนวางแผนการเล่น อยากเสริมด้านไหนให้นักกีฬา เราก็จะกำหนดโปรแกรมการฝึกซ้อมตามนั้น เช่น วางแผนเล่นเร็ว เล่นลูกดาด เราก็จะวางโปรแกรมซ้อมเรื่องความเร็ว นอกจากนี้การปรับเรื่องการใช้พลังงานในการเล่น เป็นสิ่งที่นักกีฬาต้องได้รับการเรียนรู้ ..และเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ทั้งคู่ฟื้นสภาพร่างกายได้เร็วและประสบความสำเร็จ โดยการรักษาสมดุลการใช้พลังงานอย่างไรเวลาเหนื่อย ซึ่งจะเห็นว่าแม้จะแข่งขันเกือบทุกวัน และเล่น 3 เกมเกือบทุกแมตช์ แต่ทั้งคู่ก็ยังไม่มีอาการล้าให้เห็น

ศ.ดร.เจริญ กล่าวอีกว่า การซ้อมของเอสซีจี แบดมินตัน อะคาเดมี จะไม่เน้นไปที่เวลาในการซ้อมที่ต้องนานหรือเยอะกว่าคนอื่น แต่เน้นที่คุณภาพและวัตถุประสงค์ของการฝึกซ้อมแต่ละครั้งเป็นหลักว่าตอบโจทย์และเป้าหมายที่เราวางไว้หรือไม่ โดยให้ความสำคัญและคำนึงถึงสมรรถภาพทางกลไกของร่างกายกับความสมดุล

ในการฝึกซ้อม ที่สำคัญจะต้องมีรูปแบบวิธีการฝึกซ้อมที่เหมาะกับตัวเอง ไม่ใช่ไปเอารูปแบบการซ้อมของคนอื่นมาใช้กับนักกีฬา เปรียบเสมือนกับช่างที่ตัดเย็บเสื้อผ้าให้นักกีฬาสวมใส่ ต้องตัดเย็บและออกแบบให้เหมาะกับขนาดรูปร่างทรวงทรงของคนใส่ เพราะคนที่สวมใส่ คือ นักกีฬาของเรา ไม่ใช่ไปเที่ยวลอกเลียบแบบการฝึกของนักกีฬาคนอื่นที่เห็นว่าเก่งมาให้นักกีฬาตนเองทำการซ้อม ซึ่งมันไม่ใช่ตัวของเขาเอง และที่สำคัญต้องพัฒนาทักษะการคิด วิธีคิดที่มีเหตุผลและอยู่บนความเป็นจริง.. เช่น.ถ้าป้อ/บาส...อยากจะชนะหรือเป็นแชมป์โลกหรือเอาชนะคู่ปรับ จะต้องทำอย่างไร และที่ผ่านมาเราแพ้เขาอะไร เป็นต้น เพราะถ้าเราแบบเดิมๆ หรือลอกเลียนคนอื่นมาซ้อม เราก็คงไม่มีทางที่จะเอาชนะได้

“เรื่องสำคัญที่ผมสอนนักกีฬาทุกคนอยู่เสมอ คือ เรื่องสมาธิและการควบคุมสภาพจิตใจซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและมีความสำคัญอย่างยิ่ง เราไม่เคยสร้างความกดดันด้วยการคาดหวังกับพวกเขาว่าต้องชนะ ...เพราะนักกีฬาทุกคนจะมีความกดดัน สะสมตั้งแต่ก่อนลงสนาม และจะกดดันมากยิ่งในระหว่างเกมการแข่งขัน ผมจะบอกกับป้อและบาสเสมอว่า...เกมกดดันไม่เป็นไร นั่นคือธรรมชาติของการแข่งขัน แต่เราจะต้องไม่กดดันตัวเอง ไม่ต้องคิดถึงผลการแข่งขัน ให้คิดถึงรูปแบบวิธีการเล่นที่ฝึกซ้อมวางแผนกันมา และให้มีสมาธิอยู่กับเกม คะแนนต่อคะแนน ไม่ชะล่าใจเมื่อนำ ...ไม่ท้อใจเมื่อเป็นฝ่ายไล่ตาม ไม่คำนึงถึงผลการแข่งขันที่ยังไม่เกิดขึ้นถ้ายังไม่จบเกม...รับฟังโค้ชแนะนำระหว่างเกมการแข่งขัน เพราะผลการแข่งขันอยู่ที่วิธีการเล่น...ไม่ได้อยู่ที่การคาดหวัง...ที่สำคัญ คือ เราได้ใช้ทักษะความสามารถของเราที่ฝึกซ้อมมาอย่างเต็มที่และถึงที่สุดของความสามารถหรือไม่ในทุกๆ ครั้งเรามีโอกาสได้แสดงความสามารถในเกมการแข่งขัน...ผลงานครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า เราก้าวข้ามตรงนั้นมาได้แล้ว ทั้งคู่สอบผ่านเรื่องสภาพจิตใจตัวเองได้แบบเหลือเชื่อ และทั้งโอม บาส ปอป้อ ที่ทำหน้าที่ของแต่ละคนเป็นทีมเวิร์กที่ดีมาก”

วีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการ Enterprise Brand Management Office “เอสซีจี” กล่าวว่า ต้องขอชื่นชมนักกีฬา รวมทั้งทีมผู้ฝึกสอน ทีมวิทยาศาสตร์การกีฬา ที่เสียสละทุ่มเทในการพัฒนาด้านต่างๆ สามารถทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ช่วยสร้างชื่อเสียงให้ประเทศ ความภาคภูมิใจและความสุขให้คนไทยทั้งประเทศได้

“เอสซีจีเชื่อมั่นในตัวนักกีฬาไทยที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก สามารถยืนเป็นหนึ่งในระดับโลกได้ หากมีความมุ่งมั่น ทุ่มเท ฝึกซ้อมและมีวินัยในตัวเองก็ต้องเป็นมืออาชีพด้วย ความสำเร็จที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่พิสูจน์ให้เห็นว่า แนวทางวิทยาศาสตร์การกีฬาควบคู่กับทักษะแบดมินตันที่ทำมาถูกต้อง แต่ต้องพัฒนาต่อไป ทีมงานยังต้องทำงานหนักมากขึ้น เพราะชาติอื่นก็ต้องแก้ไขและพัฒนาเพื่อเอาชนะเรา รวมถึงต้องมีการพัฒนานักกีฬารุ่นใหม่ๆ ให้มีความต่อเนื่องด้วย”

ขณะที่บาสและปอป้อกล่าวว่า ความสำเร็จครั้งนี้เป็นความประทับใจที่สุดในชีวิตนักแบดมินตัน และมีผลมาจากการทำงานหนักตลอดหลายปีที่ผ่านมา

“ยอมรับว่ามีความกดดัน และมีหลายครั้งที่สติหลุดระหว่างแข่งขันไปบ้าง แต่มีบาสที่คอยเตือนและให้กำลังใจ ทำให้กลับมาได้ถูกเวลา การต้องไปอยู่ในบับเบิ้ลก่อนและตลอดการแข่งขันไม่ได้ทำให้รู้สึกอึดอัดอะไร เพราะไม่แตกต่างกับการอยู่ในแคมป์เอสซีจี เรียกว่าชินและถือเป็นเรื่องที่ดีในการเตรียมพร้อมแข่งขัน” ปอป้อกล่าว

บาสบอกว่า ฝันหลังจากนี้ของทั้งคู่ คือ การไปลุ้นเหรียญในโอลิมปิกเกมส์ เชื่อว่าโตเกียว 2020 ที่ประเทศญี่ปุ่น ที่เลื่อนมาแข่งขันในปีนี้ จะไม่เลื่อนหรือยกเลิกแน่นอน เพราะเจ้าภาพก็อยากจัด นักกีฬาก็อยากแข่ง ที่ผ่านมาตัวเองยังไม่เคยไปโอลิมปิกมาก่อน แต่ปอป้อไปมาแล้ว ก็เล่าประสบการณ์และให้คำแนะนำมาหลายอย่าง

“หลังจากนี้ก็ยังคงต้องทำงานหนักกันต่อไป เพื่อประสบความสำเร็จตามความฝันและรายการอื่นๆ ที่ลงแข่งให้ได้” บาสกล่าว

ขณะที่โค้ชโอมทิ้งท้ายว่า ถึงแม้จะดูว่าบาส-ปอป้อ ตัวโค้ชและทีมงานเองประสบความสำเร็จอย่างมากแล้ว แต่ตัวเองกลับมองว่ายังเรียกว่าความสำเร็จไม่ได้ ยังมีงานอีกเยอะมากที่ต้องทำ มีเรื่องใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยรู้ และจะต้องเรียนรู้ให้มากขึ้น รวมทั้งสร้างนักกีฬารุ่นใหม่ตามแนวทางที่ถูกต้องด้วย

จนถึงวันที่ไปถึงจุดนั้นได้แล้ว ถึงจะเรียกว่าความสำเร็จ ซึ่งก็ต้องทุ่มเทกันต่อไป.

**พาวเวอร์บอมบ์**