หน้าแรกแกลเลอรี่

ประวัติศาสตร์กีฬาโลก ไทยจัด 3 ศึกใหญ่ ฝ่าโควิด

ไทยรัฐฉบับพิมพ์

10 ม.ค. 2564 05:01 น.

หลายการแข่งขันกีฬาในระดับนานาชาติ ต้องยอมหลีกทางให้กับโควิด-19 กันไป ในช่วงที่ผ่านมา

แต่กับแบดมินตันดูเหมือนจะไม่ยอมแพ้ กำลังสู้กับไวรัสอันตราย ต้องการผ่าทางตันนี้ไปให้ได้ เลยปรับรูปแบบการแข่งขันใหม่ ฝ่าวิกฤติโควิด เพื่อให้วงการเดินหน้าได้ต่อไป

และแน่นอนว่าด้วยความฉลาดของมนุษย์ที่มีสัญชาตญาณในการฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการ เป็นทุน คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล กรรมการคณะกรรมการโอลิมปิกสากล รองประธานสหพันธ์แบดมินตันโลก และนายกสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ ได้ออกไอเดียล้ำค่า และเสนอต่อสหพันธ์ฯทันที

เพื่อจัดแบดมินตัน 3 รายการใหญ่ ด้วยมาตรการป้องกันโควิด-19 แบบปลอดภัยที่สุด ก่อนที่จะดึง 3 รายการประวัติศาสตร์มาจัดในประเทศไทย ที่อิมแพ็ค อารีนา เมืองทองธานี ได้ในเวลาต่อมา

โดยจะเริ่มจากโยเน็กซ์ ไทยแลนด์ โอเพ่น เวิลด์ทัวร์ 1000 ชิงเงินรางวัลรวม 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ วันที่ 12-17 มกราคม ต่อด้วยโตโยต้า ไทยแลนด์ โอเพ่น เวิลด์ทัวร์ 1000 ชิงเงินรางวัลรวม 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ วันที่ 19-24 มกราคม และเอชเอสบีซี บีดับเบิลยูเอฟ เวิลด์ทัวร์ ไฟนอล ชิงเงินรางวัลรวม 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ วันที่ 27-31 มกราคม

พร้อมๆกับเปิดตัวระบบบับเบิล มาตรการป้องกันโควิด-19 ที่เข้มงวด มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของไทยเข้ามาช่วยดูแลให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ ระบบบับเบิลเป็นมาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด นักกีฬาและเจ้าหน้าที่ทีมทุกคน ทุกชาติ ต้องผ่านการตรวจเชื้อโควิดก่อนเดินทางออกจากประเทศต้นทาง เมื่อเดินทางมาถึงไทยต้องแสดงใบรับรองแพทย์เป็นหลักฐานว่าปลอดโควิด-19

นอกจากนี้ ทั้งหมดจะได้รับการตรวจเชื้ออีกหลายครั้งแบบถี่มากในช่วงกักตัว เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีใครติดเชื้อ

โดยบับเบิลจะเป็นลักษณะของที่พัก หรือโรงแรมใดโรงแรมหนึ่ง ที่ให้นักกีฬา เจ้าหน้าที่อยู่ร่วมกัน แต่แยกห้องพักกัน มีสถานที่ฝึกซ้อมที่มีผนังกั้น แต่ละประเทศซ้อมได้ครั้งละ 45 นาที และทำความสะอาด 15 นาที เพื่อให้ประเทศอื่นซ้อมต่อ

และเดินทางออกไปแข่งขันยังสนามที่กำหนดไว้ด้วยรถบัสประเทศละ 1 คัน แยกกันนั่ง ซึ่งปกติจะใช้ 4 สนาม แต่ครั้งนี้จะเหลือเพียง 3 สนาม เพื่อเว้นระยะห่าง และนักกีฬาเดินทางกลับมายังที่พัก โดยที่ไม่สามารถออกนอกเส้นทางได้อย่างเด็ดขาด

ดังจะเห็นได้ว่ามาตรการดังกล่าวได้ผลเป็นอย่างดี กับการตรวจพบเชื้อในนักกีฬาญี่ปุ่น เคนโตะ โมโมตะ ชายเดี่ยวมือ 1 ของโลก ก่อนเดินทางมาไทย ทำให้ทีมญี่ปุ่นจำใจต้องถอนตัวทั้งทีม

แม้จะเป็นเรื่องน่าเสียดาย แต่ก็ถือว่ากฎที่วางไว้ทำงานได้อย่างยอดเยี่ยม

อย่างไรก็ตาม แม้จะขาดมือดีไป แต่ก็ยังมีมือดังระดับโลกอีกหลายคนมาร่วมการแข่งขันครั้งนี้ รวมถึง 22 ประเทศ นำโดยไท่ ซื่อ หยิง หญิงเดี่ยวมือ 1 ของโลกจากไต้หวัน, คาโลรินา มาริน หญิงเดี่ยวมือ 6 ของโลกจากสเปน และ โจว เทียนเฉิน ชายเดี่ยวมือ 2 ของโลกจากไต้หวัน

รวมถึงของไทยก็ชั้นแนวหน้า มี “เมย์” รัชนก อินทนนท์ หญิงเดี่ยวมือ 5 ของโลก นำทัพ ร่วมด้วย “ครีม” บุศนันทน์ อึ๊งบำรุงพันธ์ หญิงเดี่ยว มือ 12 ของโลก, “หมิว” พรปวีณ์ ช่อชูวงศ์ หญิงเดี่ยวมือ 13 ของโลก, “จิว” พิทยาภรณ์ ไชยวรรณ หญิงเดี่ยวมือ 28 ของโลก

“กัน” กันตภณ หวังเจริญ ชายเดี่ยวมือ 15 ของโลก, “โอ๊ต” สิทธิคมน์ ธรรมศิลป์ ชายเดี่ยวมือ 25 ของโลก, “วิว” กุลวุฒิ วิทิตศานต์ ชายเดี่ยว มือ 29 ของโลก, “เพชร” โฆษิต เพชรประดับ ชายเดี่ยว มือ 33 ของโลก, “บาส” เดชาพล พัววรา–นุเคราะห์ กับ “ปอป้อ” ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย คู่ผสม มือ 3 ของโลก และ “กิ๊ฟ” จงกลพรรณ กิติธารากุล กับ “วิว” รวินดา ประจงใจ หญิงคู่มือ 11 ของโลก

เรียกได้ว่าเป็นงานใหญ่ประเดิมปีใหม่ที่แฟนกีฬาพลาดไม่ได้กับศึกประวัติศาสตร์ครั้งแรกในรอบ 110 ปี ของวงการแบดมินตันโลก ที่จัดใหญ่รวดเดียว 3 รายการ

ด้วยปกติ 1 ปี จะมีรายการเก็บคะแนนเวิลด์ทัวร์ 1000 เพียง 3 รายการ แยกประเทศจัด และปิดท้ายที่เวิลด์ทัวร์ ไฟนอล

แต่ไทยเราได้จัดรายการระดับ 1000 ถึง 2 รายการ รวมถึงมีเวิลด์ทัวร์ ไฟนอล ร่วมมาด้วย ซึ่งไม่มีชาติไหนเคยทำได้มาก่อน และยิ่งในสถานการณ์ที่มีไวรัส ยิ่งเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดา

ในช่วงที่โควิด-19 กลับมาระบาดอีกรอบ แฟนกีฬาชาวไทยติดตามชมและเชียร์มือท็อปของโลกและของไทยไปได้พร้อมๆกันทางหน้าจอทีวีที่บ้าน ผ่านทางทรูวิชั่นส์ ทรูโฟร์ยู และทางออนไลน์ของทรูฯ

ประวัติศาสตร์ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ และครั้งนี้ มาเกิดขึ้นในประเทศไทยด้วย

จะมีอะไรดีไปกว่านี้ คงไม่มีอีกแล้ว...

กัญจน์ ศิริวุฒิ