ไทยรัฐฉบับพิมพ์
หลังจากทราบวงรอบการจัดมหกรรมกีฬาซีเกมส์ จากสหพันธ์กีฬาซีเกมส์ ว่าไทยเราจะต้องรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพอีกครั้งในปี 2025 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ก็เดินหน้าเตรียมการในด้านต่างๆมาอย่างต่อเนื่อง
และล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการประชุมครั้งที่ 39/2565 เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 ได้มีมติเห็นชอบให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 ในปี พ.ศ.2568 (ค.ศ.2025) และกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 13 ปี พ.ศ.2568 (ค.ศ.2025) ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เสนอมาเป็นที่เรียบร้อย
มีการวางกรอบวงเงินค่าใช้จ่ายสำหรับเกมการแข่งขันครั้งนี้ไว้ที่ 2,055 ล้านบาท
แยกเป็นจากงบประมาณ 1,683 ล้านบาท, รายรับจากฝ่ายสิทธิประโยชน์ 200 ล้านบาท, ค่าจำหน่ายบัตรเข้าชมการแข่งขัน 20 ล้านบาท, ค่าลงทะเบียนเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ของนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ 134 ล้านบาท และค่าลงทะเบียนเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ 16 ล้านบาท
ในส่วนของจังหวัดเจ้าภาพยังอยู่ระหว่างการคัดเลือก ซึ่งต้องดำเนินการให้เสร็จล่วงหน้า เพื่อจังหวัดนั้นจะได้มีเวลาเตรียมความพร้อมในช่วงเวลาที่เหลืออีก 3 ปี
อีกทั้งเพื่อที่ฝ่ายไทยจะได้ส่งเรื่องไปให้สหพันธ์ซีเกมส์ทราบ และเพื่อไปยืนยันในครั้งที่จะไปรับธงจัดการแข่งขันต่อจากกัมพูชา ที่จะเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 5-17 พฤษภาคม ปีหน้า 2023 ที่กรุงพนมเปญ
สำหรับจังหวัดที่แสดงความสนใจต้องการ เป็นจังหวัดหลักในการจัดกีฬาซีเกมส์ครั้งนี้มีมากมายทีเดียว
ถ้าจำได้ ออกตัวเป็นจังหวัดแรกเลยสำหรับ อุบลราชธานี ที่มีการแถลงข่าวเป็นเรื่องเป็นราว แน่วแน่มาหลายปีแล้ว
ต่อจากนั้นก็มีทยอยมาเรื่อยๆไม่ว่าจะเป็น จังหวัดเชียงใหม่จะใช้สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี, จังหวัดชลบุรีจะใช้ศูนย์ฝึกภาคตะวันออก, จังหวัดนครราชสีมาจะใช้สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา
ยังมีจังหวัดภูเก็ต ใช้สนามกีฬาสุระกุล, จังหวัดสงขลาใช้สนามกีฬาติณสูลานท์, กลุ่มจังหวัดอันดามัน ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดกระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล รวมถึงกรุงเทพมหานคร จะใช้ ราชมังคลากีฬาสถานและสนามศุภชลาศัยก็อยู่ในข่ายขอลุ้นด้วย
ขณะที่ในส่วนของหลักเกณฑ์การคัดเลือกจังหวัดเจ้าภาพ ทาง “บิ๊กก้อง” ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท. ระบุว่า กกท.จะมีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือก และจะเปิดโอกาสให้จังหวัดต่างๆที่สนใจ ยื่นข้อมูลสมัครอย่างเป็นทางการ เพื่อที่จะได้รู้ว่าจังหวัดใดมีความพร้อมในด้านต่างๆ และมีแนวทางการเตรียมการเป็นอย่างไร
โดยคุณสมบัติและหลักเกณฑ์เบื้องต้นที่วางเอาไว้ กกท.จะเน้นให้มีการใช้สิ่งที่จังหวัดนั้นๆมีอยู่ แล้วนำมาปรับปรุงให้ดีขึ้น เพื่อใช้ใหม่ให้เกิด ประโยชน์สูงสุด โดยไม่ส่งเสริมให้สร้างสนามกีฬาแห่งใหม่
ในข้อนี้ถือว่าเป็นไปตามมาตรฐานสากลในการจัดกีฬาในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวทางของ คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) ที่เน้นสิ่งที่มีอยู่ สนามกีฬาที่มีอยู่แล้วในการจัดกีฬาของประเทศต่างๆไม่ใช้งบประมาณที่มากมายเกินตัว
อีกเรื่องที่ กกท. เน้นหนักคือ จะไม่จัดการแข่งขันแบบกระจายไปหลายเมือง หลายจังหวัด มากเกินไป ตัวอย่างมีให้เห็นแล้วในซีเกมส์ครั้งล่าสุด ที่ประเทศเวียดนาม ที่กระจายไปหลายเมือง สร้างความยากลำบากให้นักกีฬา เจ้าหน้าที่ ที่เข้าร่วมเป็นอย่างมาก
แน่นอนว่าการกระจายออกไปทำให้บริหารจัดการยาก และใช้งบประมาณที่ไม่น้อยเลย
ผู้ว่าการ กกท.ยังกล่าวย้ำอีกด้วยว่า นอกจากมาตรฐานในการคัดเลือกจังหวัดเจ้าภาพที่ กกท. ต้องการให้ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่ และแข่งขันไม่กระจัดกระจายแล้ว ในเรื่องของการบรรจุชนิดกีฬา ก็ยังยืนยันว่าไทยจะมุ่งเน้นแต่กีฬาสากลเป็นหลัก
เพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้เป็นที่ยอมรับ และสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับกีฬาซีเกมส์ หลังจากถูกมองว่า กีฬาของชาวอาเซียนดูไม่ทันสมัย ล้าหลัง เป็นกีฬาท้องถิ่น ที่มุ่งหวังกันแต่จำนวนเหรียญรางวัล ไม่สามารถต่อยอดไปสู่เกมการแข่งขันที่ใหญ่ขึ้น อย่างเอเชียนเกมส์ และโอลิมปิกเกมส์ได้
ทั้งหมดนี้เป็นความคืบหน้าในการเตรียมการจัดกีฬาซีเกมส์ หนที่ 7 ในประวัติศาสตร์ของประเทศ ไทย จากที่ก่อนหน้านี้เคยรับหน้าที่จัดกีฬาแหลมทอง มา 3 ครั้ง และซีเกมส์ 3 ครั้ง
โดยผู้ว่าฯก้องศักดขีดเส้นไว้เรียบร้อย เดือนพฤศจิกายนนี้ ขั้นตอนต่างๆจะดำเนินการเสร็จสิ้นจะประกาศชื่อจังหวัดเจ้าภาพซีเกมส์ 2025
ได้ในช่วงนั้น...
กัญจน์ ศิริวุฒิ เรื่อง