ไทยรัฐฉบับพิมพ์
ถ้าคุณยังไม่เคยรู้ว่าวงการกีฬาเจ็ตสกีของไทยกำลังสร้างชื่อเสียงและขยายอิทธิพลทางการกีฬาไปทั่วโลก ทำงานพัฒนากีฬาด้านซอฟต์เพาเวอร์ ได้อย่างเหลือเชื่อ ข้อมูลในวันนี้นับว่าน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง!
กีฬาเจ็ตสกีตั้งเป้า “นำเข้า” เงินรายได้ให้ชาติรวมกับการสร้างเงินหมุนเวียนทางเศรษฐกิจกว่า 4,000 ล้านบาทต่อปี ยังไม่รวมมูลค่าสื่อประชาสัมพันธ์ที่ประเทศไทยได้รับ คิดขั้นต่ำต้องมีระดับ 2,000-3,000 ล้านบาท
พร้อมกันนั้นก็ทำงานพัฒนาความเชื่อถือลิขสิทธิ์กีฬาไทย จนรายการไฮไลต์ฯส่งออกอากาศสถานีโทรทัศน์ทั่วโลกกว่า 121 ชาติ (ส่วนใหญ่สถานีโทรทัศน์ต่างประเทศรับเฉพาะรายการลิขสิทธิ์ของฝรั่ง) เติบโตสู่ฐานการรับชมกว่า 800 ล้านครัวเรือน
สิ่งสำคัญคือ นำไปสู่การขยายตลาด การถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียมไปทั่วโลก เป็นครั้งแรกของลิขสิทธิ์กีฬาไทยในทัวร์นาเมนต์ปลายปีนี้ ที่เมืองพัทยา ซึ่งจะสร้างฐานการรับชมเติบโตเพิ่มขึ้นอีกมากกว่า 100 ล้านครัวเรือน จึงนับเป็นงานกีฬาไทย ที่ออกไปแข่งขันบนเวทีโลกสำเร็จ สร้างประโยชน์ชาติมหาศาล
หลายคนคงเริ่มมีคำถามในใจว่า กีฬาเจ็ตสกีทำได้อย่างไร!?
ใช่แล้วครับ บทสรุปความสำเร็จคือศักยภาพของการพัฒนากีฬาด้านทรัพย์สินทางปัญญา (Intel lectual Property-IP) และการมุ่งพัฒนางานกีฬาด้านซอฟต์เพาเวอร์
โดย “ซอฟต์เพาเวอร์” (Soft Power) อาจจะเป็นคำที่ได้ยินกันบ่อยขึ้นในช่วงนี้ แม้อาจแปลตรงๆว่าพลังอ่อนนุ่ม
แต่ความหมายที่แท้จริงคือ พลังที่ไม่ได้ใช้อำนาจบังคับ (Hard Power) เป็นการขยาย อิทธิพล และการเปลี่ยนแปลงความคิด การสร้างกระแสความนิยม
ชาติที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในการสร้างซอฟต์เพาเวอร์ ในด้านวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมบันเทิงก็คือเกาหลีใต้ ทุกท่านคงจะร้องอ๋อกับความหมายซอฟต์เพาเวอร์ได้ชัดเจนขึ้น
ส่วน “ซอฟต์เพาเวอร์ในด้านกีฬา” คนมักจะลืมพูดถึงกัน ทั้งๆที่มันก็อยู่รอบๆตัวเรานี่เอง
“ซอฟต์เพาเวอร์กีฬา” ที่จะยกตัวอย่างให้เห็นได้ชัดๆ ก็เช่น ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก แห่งเกาะอังกฤษ ที่สร้าง FC ความคลั่งไคล้ไปทั่วโลก
และถ้าพูดถึงกีฬาสร้างใหม่ ที่เห็นความสำเร็จที่ผ่านมาสั้นๆ ก็เช่น K-1 ที่สร้างบัวขาว อันโด่งดังไปทั่วโลก
กลับมาที่วงการเจ็ตสกีไทย วันนี้กีฬาเจ็ตสกีไทย ขึ้นเป็นผู้นำโลกและเป็นเจ้าของ “ทัวร์นาเมนต์เจ็ตสกีเก็บคะแนนชิงแชมป์โลก” จึงมีโอกาสสร้างแฟนกีฬาในตลาดโลก เป็นการพลิกจากกีฬาเล็กๆ ขึ้นสร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทยได้อย่างยิ่งใหญ่
สิ่งแรกที่ทำได้เกินเป้าหมายที่วางไว้คือการสร้างเครือข่ายรับชมให้มาก เช่นตอนนี้ ครอบคลุมกว่า 800 ล้านครัวเรือนทั่วโลก มีเป้าหมายการสร้างแฟนกีฬาอยู่ที่ 350 ล้านคน ภายในปี 2567
ตั้งแต่คร่ำหวอดในวงการกีฬาเกือบ 30 ปี ต้องยอมรับว่า โครงการส่งทัวร์นาเมนต์กีฬาไทยไปสร้างความยิ่งใหญ่บนเวทีโลกครั้งนี้ เป็นความสำเร็จที่จับต้องได้อย่างน่าชื่นชม
เรียกว่าเป็นแนวคิดการพัฒนากีฬาอีกด้านที่ล้ำสมัย ตามนโยบายสร้างซอฟต์เพาเวอร์ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมถึงการกีฬาแห่งประเทศไทย โดย “บิ๊กก้อง” ดร.ก้องศักด ยอดมณี
งานนี้เรียกว่าเป็นโครงการ “ต้นแบบซอฟต์เพาเวอร์กีฬา”
ที่ร่วมกันสร้างความก้าวหน้าอย่างแท้จริง!!!
“ว.ภาวดี”