หน้าแรกแกลเลอรี่

ติดกับดัก..อิสรภาพทางกีฬา!!

บี บางปะกง

23 ส.ค. 2564 06:09 น.

เป็นประเด็นที่น่าคิดและน่านำเสนออย่างยิ่ง หลังจากที่ล่าสุด “เดรค” ปริเขต สืบสหการ ที่กำลังเริ่มต้นบทบาทใหม่ในฐานะ “ประธานองค์กรวิเคราะห์ปัญหาและจุดอ่อน เพื่อการพัฒนาบริหารกีฬาไทย” 

โดยเขาเป็นผู้ที่ผลักดันแผนสร้างแบรนด์กีฬาเจ็ตสกีไทย ขึ้นเป็น “ผู้นำโลก” สำเร็จในเวลานี้ เล่าให้ฟังจากประสบการณ์ 26 ปีของเขา 

“เดรค” บอกผมว่า คนที่อยู่ในส่วนบริหารวงการกีฬาไทยไม่น้อย ตามโลกไม่ทัน 

เพราะติดกับดักอิสรภาพทางกีฬา!! ลองอ่านกันดูนะครับ

-----------------------------------------------

สวัสดีครับ คุณบี บางปะกง

ผมเขียนมาหาคุณบี วันนี้ เป็นเรื่องจากสิ่งที่ผมได้สัมผัสจริง และต้องขอย้ำว่า นี่เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผม ซึ่งได้ทำงานพัฒนากีฬาหลายๆ ประเภทกีฬา มาเกือบ 30 ปีแล้ว 

สิ่งไหนที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาวงการกีฬาไทยที่เรารัก ก็อยากนำมาต่อยอด ผมจึงกำลังเริ่มต้นทำงานองค์กรวิเคราะห์ปัญหาและจุดอ่อนเพื่อการพัฒนากีฬาไทย อีกบทบาทหนึ่งด้วย ส่วนสิ่งที่จะพูดคุยหารือกันวันนี้จะถูกผิดประการใด เรามาร่วมกันวิเคราะห์นะครับ

ผมคิดว่าคนที่อยู่ในระบบบริหารกีฬาของไทยไม่น้อย “ติดกับดักอิสรภาพทางกีฬาของฝรั่งที่วางเอาไว้” จึงอาจเป็นเห็นผลสำคัญที่เราต้องทำงานตามฝรั่ง แบบไม่รู้ตัว หรือกึ่งอัตโนมัติ ทำให้ขับเคลื่อนความสำเร็จ แค่แบบผู้ตาม!

1. หลายคนถามผมว่า “กีฬาไทยจะพัฒนาขึ้นเป็นผู้นำกีฬาโลกไปทำไม? ตามฝรั่งก็ดีอยู่แล้ว ไม่เหนื่อย”  

ชัดเจนว่า ผู้บริหารกีฬาที่ถามและคิดแบบนี้ จริงๆ จะไม่มีวันบริหารกีฬาไทยให้ก้าวหน้าได้ เพราะไม่ได้คิดถึงมาตรฐานโลกเลย

2. “คนยังไม่ค่อยเข้าใจว่าการกีฬา ก็คือ การล่าอาณานิคมรูปแบบหนึ่ง” แต่ฝรั่งเขาไม่บอกเราตรงๆ เขาใช้กฎ กติกา และรูปแบบลิขสิทธิ์มาคุมแทน 

ลองพิจารณาดูครับว่ามีกีฬาอาชีพกี่ชนิด? ที่คนไทยเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ทัวร์นาเมนต์โลก (ยกเว้นมวยไทยนะครับ) ตัวอย่างเช่น เราอาจภูมิใจว่าเราซื้อแฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อชื่อดังมา แต่เรื่องจริงคือถ้าเราไม่อยู่ใต้แบรนด์เขา เราก็ยังเป็น “ร้านโชห่วย” ยังไม่เคยสร้างแบรนด์ไทยไปแข่งขันกับเขาได้ จึงอ่อนแอแน่ๆ

3. เน้นน้ำหนักทำงานพัฒนาด้านนักกีฬาอย่างเดียว ไม่เน้นพัฒนาทัวร์นาเมนต์กีฬาไทย ให้อยู่ในระดับสากล ไม่ว่าเพราะอะไร (นาน ไม่มีงบ) ก็ต้องให้น้ำหนักพัฒนาไปคู่กัน เมื่อทัวร์นาเมนต์ดี นักกีฬาก็ดี เป็นการสร้างความยั่งยืน

4. “ยังแยกไม่ออกเลยว่าอะไรคือเป้าหมายกีฬาเป็นเลิศ และกีฬาอาชีพ” เราทราบดีว่า สุดยอดของกีฬาเป็นเลิศนั้น คือ โอลิมปิก นับเป็นสุดยอดของความภาคภูมิใจ แต่เป้าหมายของกีฬาอาชีพ คือ คนละเรื่อง! ชื่อก็บอกตรงๆ ว่า การสร้างอาชีพ สร้างเงินหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ 

นอกจากนั้น ด้านรูปแบบการบริหารงานบิดเบี้ยวอีก ว่าต้องเป็นสมาคมกีฬา มันไม่ใช่นะครับ!! มองให้กระจ่าง ใครๆ ก็ทราบว่า กีฬาฟุตบอลนานาชาติ เขาบริหารกันแบบธุรกิจ เป็นบริษัท เป็นการระดมทุนกันแล้ว โธ่.. วิสัยทัศน์.. ??? (หรือไง ผมยังไม่อยากเจาะประเด็นไปมากกว่านี้) 

5. “ชอบตามก้นฝรั่ง ฝรั่งทำอะไรก็ดีไปหมด ยอมจนไม่เห็นคุณค่าศักดิ์ศรีคนไทย” 

ลองสังเกตให้ดีครับ เรื่องนี้ดูไม่ยาก ถ้าได้เห็นการทำงานของคนเช่นนี้แล้ว 

โปรดรู้ว่า คนเช่นนี้จะเป็นผู้นำการพัฒนากีฬาไทยไปเวทีโลกได้ยาก 

ปริเขต สืบสหการ

-----------------------------------

ยอมรับว่า “เดรค” ปริเขต วิเคราะห์ปัญหาได้ขยี้ใจผมมาก 

ตลอดชีวิตที่ผมเป็นผู้สื่อข่าวกีฬามาร่วม 3 ทศวรรษ นี่เป็นหนึ่งในเรื่องที่โดนใจ และสะท้อนวงการกีฬาไทย ที่ไม่พัฒนาเท่าที่ควร ที่ผมได้เคยสัมผัสมาเช่นกัน 

ครั้งนี้ผมจึงจะไม่ฝากถึงแค่เป็นข้อคิดของพี่น้องคนไทย ท่านเจ้ากระทรวงฯ แม่ทัพการกีฬา 

แต่ขอฝากถึงท่านนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา และท่านรองนายกสายกีฬา “บิ๊กป้อม” ประวิตร วงษ์สุวรรณ 

เมื่อรุ่นน้องเซนต์คาเบรียลของท่านวิเคราะห์มาแบบนี้ 

ท่านเห็นว่าอย่างไร?


- บี บางปะกง -