ไทยรัฐออนไลน์
"ณัยณพ ภิรมย์ภักดี" นายกสมาคมกีฬาคนพิการทางสมองแห่งประเทศไทย เผยทัพนักกีฬาผู้พิการทางสมอง ทั้งบอคเซีย และ กรีฑา พร้อมเต็มที่สำหรับ “พาราลิมปิกเกมส์ 2020” มั่นใจนักกีฬา "บอคเซีย" ทำผลงานสามารถคว้า 2 เหรียญทองเป็นอย่างน้อย ในขณะที่กรีฑามีโอกาสในหลายรายการ
วันที่ 16 ส.ค. 64 ความเคลื่อนไหวหลังจากที่ ทัพนักกีฬาพาราทีมชาติไทย กำลังเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันมหกรรมกีฬา พาราลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 16 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จะแข่งขันกันระหว่างวันที่ 24 สิงหาคม ถึง 5 กันยายน 2564 โดยมีนักกีฬาพาราไทย ได้สิทธิ์เข้าร่วมชิงชัยทั้งหมด 74 คน จาก 14 ชนิดกีฬา ประกอบด้วย เทควันโด, ยิงธนู, แบดมินตัน, วีลแชร์ฟันดาบ, ยกน้ำหนัก, ว่ายน้ำ, เทเบิลเทนนิส, กรีฑา (ลู่-ลาน,วีลแชร์เรซซิ่ง), จักรยาน, ยิงปืน, วีลแชร์เทนนิส, บอคเซีย, ฟุตบอลตาบอด และยูโด ซึ่งถือเป็นการแข่งขันพาราลิมปิกที่มีนักกีฬาไทยประสบความสำเร็จ สามารถทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมผ่านเข้าไปร่วมแข่งขันจำนวนมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา
ล่าสุด ร้อยโท ณัยณพ ภิรมย์ภักดี นายกสมาคมกีฬาคนพิการทางสมองแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า "สำหรับการแข่งขัน พาราลิมปิก เกมส์ ในครั้งนี้ สมาคมกีฬาคนพิการทางสมอง ได้ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันใน 2 ชนิดกีฬา คือ บอคเซีย และ วีลแชร์เรซซิ่ง ซึ่งเรามีความพร้อมมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา มีเวลาในการเก็บตัวฝึกซ้อมยาวนานกว่าทุกครั้ง ประกอบกับสมาคมฯ มีศูนย์ฝึกกีฬาบอคเซีย เป็นของตนเองซึ่งมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับนักกีฬาคนพิการโดยเฉพาะ จึงทำให้นักกีฬาของเราสามารถฝึกซ้อมได้อย่างเต็มที่ รวมถึงส่งผลให้เราได้นักกีฬาหน้าใหม่เกิดขึ้นมากหลายต่อหลายคนในช่วงที่ผ่านมา"
"สำหรับเป้าหมายในพาราลิมปิกเกมส์ จากการที่เราได้เก็บตัวฝึกซ้อมนักกีฬามากอย่างต่อเนื่องมาเกือบ 2 ปีเต็มและค่อนข้างมีความพร้อมกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ทำให้เราตั้งวางเป้าหมายไว้ว่าจะต้องทำผลงานคว้าเหรียญรางวัลให้ได้เทียบเท่ากับพาลิมปิกเกมส์ครั้งที่แล้ว คืออย่างน้อย 2 เหรียญทอง จาก ประเภททีมบีซี 1-2 และประเภทบุคคลในคลาสใดคลาสหนึ่ง แต่อย่างไรก็ดีก็เชื่อมั่นว่าทีมบอคเซียของเราอาจทำผลงานดีกว่าครั้งที่แล้วด้วยเช่นกัน"
"นอกเหนือจากบอคเซีย เรายังมีนักกีฬา “กรีฑา” ประเภทวีลแชร์เรสซิ่ง อย่าง ชัยวัฒน์ รัตนะ ในคลาส T34 ระยะ 100 ม. และ 800 ม. ซึ่งเป็นอีกหนึ่งชนิดกีฬาที่พยายามที่จะผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง และที่ผ่านมาเขาเองได้มีการเก็บตัวซ้อมมาตลอด ก็อาจทำให้เราจะประสบความสำเร็จในพาราลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ได้เช่นกัน สุดท้ายนี้อยากชวนแฟนกีฬาชาวไทย ร่วมเป็นกำลังใจให้กับ นักกีฬาของเราทั้งสองชนิดกีฬาด้วยครับ"
ด้าน สัมฤทธิ์ คชศิลา หัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมบอคเซียทีมชาติไทย กล่าวว่า "มาถึง ณ เวลานี้คงต้องบอกว่าเรามีความพร้อมแบบเต็มร้อย เพราะหลังจากที่เราทราบว่านักกีฬาของเราได้โควตาเมื่อปี 2019 เราก็เดินหน้าเก็บตัวฝึกซ้อมกันมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้นักกีฬาทุกคนค่อนข้างสมบูรณ์พร้อมที่ลงทำการแข่งขันในพาราลิมปิกเกมส์ ครั้งนี้อย่างเต็มที่แล้ว คู่แข่งที่น่ากลัวสำหรับนักกีฬาเราในครั้งนี้เราคงเป็น อังกฤษ, โปรตุเกส ร่วมถึง “เจ้าภาพ” ญี่ปุ่น แต่อย่างไรก็ดีคู่แข่งที่เอ่ยมาทั้งหมดนั้น เราเคยชนะทุกทีมมาหมดแล้ว ทำให้เรามั่นใจครั้งนี้เราจะสามารถทำผลงานได้ตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างแน่นอน"
ขณะที่ วัชรพล วงษา นักบอคเซียความหวังของทีมชาติไทย เจ้าของเหรียญทองประเภทบุคคล บีซี 2 พาราลิมปิกเกมส์ 2016 กล่าวว่า "สำหรับความพร้อมของตนเองในเวลานี้ถือมีความพร้อมทุกด้านแล้ว หลังจากฝึกซ้อมมาอย่างต่อเนื่องกว่า 2 ปีแล้ว และอยากที่จะลงแข่งขันแล้ว ส่วนเป้าหมายในพาราลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ ผมยังคงต้องเป้าที่ไปคว้าเหรียญในประเภททีมให้ได้เป็นสมัยที่ 3 และป้องกันแชมป์ในประเภทบุคคลให้ได้อีกสมัย และผมค่อนข้างมั่นใจจะสามารถทำผลงานของตัวเองได้ตามเป้าหมายอีกครั้งแน่นอน แต่ขอให้แฟนๆ กีฬาชาวไทยเป็นกำลังใจกับพวกเราด้วย"
สำหรับชื่อนักกีฬาบอคเซียทีมชาติไทย ทั้ง 10 คน มีดังนี้ วิษณุ ฮวดประดิษฐ์ (บีซี 1), สุบิน ทิพย์มะณี (บีซี 1), วรวุฒิ แสงอำภา (บีซี 1), วัชรพล วงษา (บีซี 2), สมบูรณ์ ไชยพานิช (บีซี 3), เอกราช แจ่มจ้อย (บีซี 3), ลดามณี กล้าหาญ (บีซี 3), พรโชค ลาภเย็น (บีซี 4), นวลจันทร์ พลศิลา (บีซี 4), ฤทธิไกร สมสนุก (บีซี 4) โดยการแข่งขันกีฬาบอคเซีย ในพาราลิมปิก เกมส์ มีชิงชัยทั้งสิ้น 7 เหรียญทอง จาก ประเภทบุคคล บีซี 1, บีซี 2, บีซี 3, บีซี 4 และ ประเภททีม บีซี 1-2, คู่ บีซี 3, คู่ บีซี 4 ซึ่งประเทศไทยส่งนักกีฬาร่วมชิงชัยลุ้นเหรียญรางวัลทุกอีเวนต์ โดยนักกีฬาทั้งหมดและเจ้าหน้าที่จะเดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ 20 สิงหาคม 2564
ทั้งนี้กีฬาบอคเซียถือเป็นกีฬาที่ประเทศไทยประสบความสำเร็จ ในการแข่งขัน พาราลิมปิก เกมส์ มาหลายสมัย โดยคว้าเหรียญรางวัลเป็นครั้งแรก ในปี 2012 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ทำได้ 2 เหรียญทอง จาก บุคคล บีซี 1 พัทธยา เทศทอง และ ประเภททีม บีซี 1-2 จากนั้น ในปี 2016 ที่นครริโอ เดอจาเนโร ประเทศบราซิล ยังประสบความสำเร็จต่อเนื่อง คว้ามาได้ 2 ทอง จาก บุคคล บีซี 2 วัชรพล วงษา และ ประเภททีม บีซี 1-2, 1 เงิน จาก บุคคล บีซี 2 วรวุฒิ แสงอำภา และ 2 ทองแดง บุคคล บีซี 4 พรโชค ลาภเย็น, คู่ บีซี 4
ซึ่งปัจจุบัน ทีมนักกีฬาบอคเซียไทย ติดอันดับโลก หลายประเภท ทั้ง ประเภททีมบอคเซีย บีซี 1-2 ทีมไทย รั้งอยู่ในอันดับ 1 ของโลก และ ประเภทคู่ บีซี 4 อยู่ในอันดับ 3 ของโลก ส่วนประเภทบุคคล วรวุฒิ แสงอำภา รั้งอันดับ 1 ของโลก คลาสบีซี 2, วัชรพล วงษา (เจ้าของเหรียญทองพาราลิมปิกเกมส์ 2016) อยู่ในอันดับ 3 ของโลก ส่วน พรโชค ลาภเย็น อยู่ในอันดับ 3 ของโลก ในประเภท บุคคลบีซี 4.