บี บางปะกง
ไปไม่ถึงดวงดาว..อย่างน่าเสียดายที่สุด!!
สำหรับ “แต้ว” สุดาพร สีสอนดี ที่ตกเป็นฝ่ายพ่ายคะแนน “เคลลี แอนน์ ฮาร์ริงตัน” คู่ปรับเก่าจากไอร์แลนด์ 2-3 พลาดเข้าไปชิงเหรียญทองแบบฉิวเฉียด
แม้จะดู “ขัดใจ” กับการตัดสินของกรรมการโดยเฉพาะ 2 ยกหลัง ที่ผมมองว่าเราชกได้น้ำได้เนื้อกว่าคู่ต่อสู้ แต่สุดท้ายแพ้ก็คือ..แพ้ เรายอมรับมันได้อยู่แล้ว
เพียงแต่มาตรฐานการให้คะแนนของมวยสากลสมัครเล่นระดับโอลิมปิกอย่างนี้ มันน่าจะมีบรรทัดฐานที่ยอมรับได้มากกว่านี้หน่อย
ไม่ใช่อะไรหรอก..ผมสงสาร ‘นักมวย’ น่ะครับ เขาสู้อุตส่าห์ทุ่มเทฟิตซ้อมกันมาเป็นแรมปี
สุดท้ายมาถูกตัดสินแพ้-ชนะ ด้วยคำว่า“ดุลยพินิจ” อย่างนี้ร่ำไป..มันก็เก๊กซิมน่ะซิ!!
อย่างไรก็ตามถึงคราวนี้จะผิดหวัง...แต่ต้องขอชมเชยสปิริตของนักชกไทยแลนด์ อย่าง “แต้ว” ที่ยอมรับความพ่ายแพ้โดยไม่โทษโน่นโทษนี่
จริงๆ แล้วการก้าวมาคว้าเหรียญทองแดงโอลิมปิกเกมส์ได้เป็นครั้งแรกของกำปั้นสาวบ้านเรา ก็ถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการกีฬาไทยแล้วล่ะ
ต้องปรบมือดังๆให้ ‘สุดาพร สีสอนดี’ กับความพ่ายแพ้ที่ชนะใจคนดูทั้งประเทศ
เหรียญรางวัลในโอลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 ไม่ว่าเป็นสีไหน? ก็ล้วนแต่ทรงคุณค่าทางจิตใจทั้งนั้น
ยิ่งถ้าได้มาเจาะลึกถึงที่มาที่ไปของกระบวนการผลิต ‘เหรียญโตเกียวเกมส์’ ที่มอบเป็นรางวัลแห่งชัยชนะของนักกีฬาด้วยแล้ว
รับรองทุกคนจะต้องยกนิ้วให้ไอเดียของเจ้าภาพ
ซึ่ง เหรียญรางวัล (medals) ของมหกรรมกีฬา ‘โอลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020’ ในครั้งนี้ มีที่มาที่ไปแบบไหน อย่างไร?
ผมได้นำข้อมูลจากเพจ Running Insider ที่ได้เรียบเรียงเรื่องนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจ มาให้แฟนๆ ‘ไทยรัฐสปอร์ต’ ได้ทราบกันพอสังเขป ดังนี้นะครับ
‘เหรียญโตเกียวโอลิมปิก 2020’ ที่พวกเราได้เห็นกันทางหน้าจอทีวีตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา จัดว่าโดดเด่นสะดุดตาสมกับเป็นงาน ’Made in Japan’ จริงๆ
นี่คือผลงานการออกแบบโดย มร.จุนนิชิ คาวานิชิ (Junichi Kawanishi) ดีไซเนอร์ ชาวโอซากา จากสตูดิโอ “signsplan”
โดย เหรียญทอง มีน้ำหนัก 556 กรัม ส่วนเหรียญเงินหนัก 550 กรัม และเหรียญทองแดง หนัก 450 กรัม
วัสดุที่นำมาใช้สร้างเหรียญโตเกียวเกมส์ในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากแคมเปญรับชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จากชาวญี่ปุ่นทั่วประเทศ อาทิ สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ ที่เสียแล้ว กว่า 78,895 ตัน
นำมาเข้ากระบวนการเปลี่ยนขยะแผงวงจร ชิ้นส่วนเล็กๆ กลายมาเป็นเหรียญตราที่มีคุณค่า ซึ่งต้องถือว่าเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่ฝ่ายจัดการแข่งขัน โอลิมปิกเกมส์ 2020 จะพยายามออกมาเตือนนักกีฬา ว่าอย่ากัดเหรียญรางวัลที่ได้รับมาแล้วโพสต์ถ่ายรูปซึ่งเป็นท่ายอดฮิต
เนื่องจากวัสดุที่ทำนั้นมาจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย..นั่นเอง!!
หากย้อนถึงประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา 125 ปีของโอลิมปิก ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่เจ้าภาพนำวัสดุรีไซเคิลมาใช้สร้างเหรียญรางวัล
ซึ่งปรากฏว่าได้ผลตอบรับที่ดีเยี่ยมตั้งแต่ริเริ่มโครงการจนถึงวันเปิดตัวเหรียญเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2019
ขนาดของเหรียญทุกเหรียญเท่ากันหมด มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 85 มิลลิเมตร
ส่วนที่หนาที่สุด 12.1 มิลลิเมตร และส่วนที่บางที่สุด 7 มิลลิเมตร
เหรียญรางวัลของผู้ชนะ 3 อันดับแรก จะมาพร้อมกับกล่องไม้แกะสลักที่ดูประณีตพิถีพิถัน
สายคล้องเหรียญมีลวดลายแพตเทิร์น ที่เรียกว่า “ichimatsu moyo” อิชิมัสซึ โมโย่ ซึ่งเป็นลวดลายโบราณที่ใช้กับชุดกิโมโน ซึ่งเมื่อย้อนกลับไปที่โอลิมปิก ริโอ ประเทศบราซิล เหรียญรางวัลมีกล่องไม้ใส่ให้เช่นกัน
ในการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิกครั้งนี้ มีการมอบเหรียญทอง 339 เหรียญ ขณะที่กีฬาพาราลิมปิกมอบเหรียญทอง 540 เหรียญ
โดยเหรียญด้านหนึ่งมีมิติสัญลักษณ์ความหมาย ประกอบไปด้วย หน้าสุดเป็นรูป “เทพีไนกี้” เทพีแห่งชัยชนะตามเทพปกรณัมกรีก
ซึ่งภาพเทพีไนกี้ลักษณะนี้ เมื่อสืบค้นพบว่า เริ่มใช้ภาพสัญลักษณ์นี้ มาตั้งแต่เอเธนส์โอลิมปิกปี 2004 ครั้งที่ประเทศกรีซเป็นเจ้าภาพ ท่าทางลักษณะเดิมถูกใช้ต่อเนื่องมาแล้ว 5 สมัยของโอลิมปิก
รองลงมาภาพพื้นหลัง เป็นภาพสนามกีฬา“พานาธิเนอิก” (Panathenaic Stadium) ที่เคยจัดแข่งขันโอลิมปิกสากล ครั้งแรกในปี ค.ศ 1896 ปฐมบทกีฬาแห่งมนุษยชาติเกิดขึ้น ณ สนามแห่งนี้
ปัจจุบันภาพสเตเดียมในกรุงเอเธนส์ดังกล่าว ถูกใช้เป็นพื้นหลังเหรียญโอลิมปิกมาแล้ว 5 ครั้งเช่นกัน
ส่วนมุมซ้ายมือบนเหรียญ เป็นภาพวิหารพาร์เธนอน (Parthenon) วิหารบนเนินเขาอะโครโพลิส (Acropolis) ในเมืองเอเธนส์
มหาวิหารหินอ่อนแห่งนี้ สร้างขึ้นครั้งแรกเมื่อ 447 ปี ก่อนคริสตกาล เพื่อบูชาเทพีอะธีนา เทพีแห่งสติปัญญา เทพที่ได้รับความเคารพสูงสุดในห้วงเวลานั้น
โดย “ยูเนสโก” ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เพื่อสะท้อนถึงอารยธรรมโบราณที่ทรงคุณค่า ผ่านกาลเวลาและสงคราม รองรับความเชื่อทางศาสนาต่างๆในแต่ละยุค
ภาพวิหารพาร์เธนอน ปรากฏครั้งแรก บนเหรียญทองเหรียญแรกของโอลิมปิกมาแล้ว ซึ่งเป็นเหรียญต้นแบบเลยก็ว่าได้
จะเห็นได้ว่า 3 ชุดสัญลักษณ์นี้ ถูกใช้สืบทอดกันมา เพื่อบอกเล่าประวัติศาสตร์การแข่งกีฬาโอลิมปิกที่มีต้นทางมาจากกรีกโบราณ
สำหรับ เหรียญโตเกียวโอลิมปิก 2020 ทุกเหรียญ ที่แจกในปี 2021 นี้ จึงเปี่ยมไปด้วยความหมายมากมาย
ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ ยุคก่อนคริสตกาล ไปจนถึงนวัตกรรมสมัยใหม่เพื่อสิ่งแวดล้อมของโลกเราในวันนี้และวันข้างหน้า
แม้โอลิมปิกครั้งนี้จะแตกต่างจากโอลิมปิกครั้งก่อนๆ เพราะจัดขึ้นท่ามกลางความทุกข์ยากของผู้คนทั่วทั้งโลกในมหันตภัยไวรัสโควิด-19
สุดท้ายแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น และกำลังจะผ่านพ้นไป
มันล้วนแต่เป็น “ประวัติศาสตร์” ที่จะถูกบันทึกไว้ในความทรงจำของทุกผู้ทุกคนที่ได้สัมผัสไปตลอดกาล
เช่นเดียวกับเรื่องราวของ...’เหรียญโตเกียวเกมส์’...ที่ถูกคล้องคอ (ด้วยตัวเอง) ให้กับยอดนักกีฬา
ที่ได้ขึ้นโพเดียมอย่างสง่าผ่าเผยทุกคน!
บี บางปะกง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง