ไทยรัฐออนไลน์
หลังเกิดการปฏิวัติในประเทศเมียนมา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก็เกิดแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ภายใน เพราะประชาชนทุกวงการ ต่างออกมารวมตัวกันเรียกร้องประชาธิปไตย รวมถึงเสียงเรียกร้องเสรีภาพในครั้งนี้ ยังเกิดแรงสั่นสะเทือนไปสู่ประชมคมโลกด้วย
ขณะที่คนดังและผู้ที่มีชื่อเสียงในเมียนมา เมื่อมีโอกาสได้แสดงออกถึงความตั้งใจ และการเรียกร้องจากสายตาประชาคมโลก ก็พยายามอย่างเต็มที่ในการแสดงบทบาทของตัวเอง เพื่อการเป็นตัวแทนของประชาชนด้วยเช่นกัน
ไม่เว้นแม้แต่ เธต ทาร์ ธูซาร์ นักแบดมินตันสาววัย 22 ปี หนึ่งในสามความหวังของทัพนักกีฬาจากเมียนมา ที่สามารถคว้าตั๋วลุยศึกโอลิมปิก “โตเกียวเกมส์ 2020” ได้สำเร็จ
นักแบดมินตันสาวจากย่างกุ้งรายนี้ เกิดและเติบโตที่เมืองไทย เริ่มจับแร็กเก็ตครั้งแรกเมื่ออายุ 7 ขวบ เพราะพ่อและแม่ก็เคยเป็นนักตบลูกขนไก่มาก่อน ซึ่งหลังย้ายกลับไปที่เมียนมาไม่กี่ปี เธอเริ่มต้นติดทีมชาติตั้งแต่วัยเพียง 14 ปีเท่านั้น โดยลงแข่งขันในศึกซีเกมส์ 2013 แต่ด้วยความอ่อนประสบการณ์ ทำให้ต้องจอดป้ายเพียงแค่รอบแรกเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้น ธูซาร์ ก็เดินหน้าเก็บเกี่ยวประสบการณ์อย่างต่อเนื่อง กระทั่ง 5 ปีให้หลัง เธอก็สามารถคว้าแชมป์อาชีพ รายการแรกในชีวิตได้สำเร็จ ในศึก "อียิปต์ อินเตอร์เนชั่นแนล 2018" ที่กรุงไคโร
เมื่อไฟจุดติด ธูซาร์ ก็เดินหน้ากวาดแชมป์ทั้งในระดับ BWF International Challenge และ BWF International Series รวมถึง BWF Future Series ได้อย่างต่อเนื่อง สรุปแล้วในรอบ 2 ปี (2018-2020) กวาดแชมป์ไปได้ถึง 8 รายการ กับอีก 3 รองแชมป์
จนเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ในที่สุดความฝันของ เธต ทาร์ ธูซาร์ ก็เป็นความจริง เมื่อสหพันธ์แบดมินตันโลก หรือ บีดับเบิลยูเอฟ (BWF) ประกาศมอบตั๋วอย่างเป็นทางการ เพื่อลงแข่งขันโอลิมปิกครั้งแรกในชีวิต
“ความฝันที่ฉันรอคอยมาหลายปี ในที่สุดก็เป็นจริงแล้ว เมื่อได้รับสิทธิ์ให้ลงแข่งขันโอลิมปิก ฉันจะพยายามทำผลงานให้ดีที่สุด ในฐานะตัวแทนของชาวเมียนมาทุกคน” นักแบดสาววัย 22 ปี กล่าวกับสื่อท้องถิ่น
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าความฝันครั้งนี้ จะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างที่หลายคนคิด เพราะในความเป็นจริง เธต ทาร์ ธูซาร์ ไม่ได้ลงแข่งขันเป็นเวลาถึง 16 เดือนแล้ว นับตั้งแต่มีการรัฐประหารขึ้นในประเทศ และอันดับโลกก็หยุดอยู่ที่ 61 ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2020
ธูซาร์ ยอมรับว่าความสำเร็จในครั้งนี้ จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไร้การสนับสนุนจากสหพันธ์แบดมินตันเมียนมา โค้ช และครอบครัว ที่พยายามหาทางให้เธอ ได้ฝึกฝนตัวเองอยู่ตลอด แม้ในยามที่ไร้แมตช์แข่งขัน
สาวน้อยนักแบดรายนี้ ได้รับความช่วยเหลือจากคนใกล้ชิด ให้ซ้อมได้ที่สโมสรส่วนตัวของเพื่อนพ่อ เป็นระยะเวลากว่า 10 เดือน และมีคู่ซ้อมเปลี่ยนหน้ามาให้ได้ร่วมประลองฝีมืออยู่เสมอ โดยที่มี ไถ่ ซื่อ หยิง นักแบดมินตันสาวมือ 1 โลกชาวไต้หวัน เป็นไอดอลและแบบอย่างให้เดินตาม
อย่างไรก็ตาม การได้ทำตามความฝันบนเวทีโอลิมปิก กลับเป็นเหมือนทุกข์ลาภของ ธูซาร์ ก็ว่าได้ เมื่อเธอโดนตั้งแง่จากเพื่อนร่วมชาติ ว่าเปลี่ยนอุดมการณ์ เพียงเพราะผลประโยชน์ส่วนตัว ใช้ชื่อประเทศชาติบังหน้าไปร่วมโอลิมปิก โดยลืมการเรียกร้องประชาธิปไตยไปแล้ว
ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ “วิน เทต อู” นักว่ายน้ำวัย 26 ปี ประกาศตัดสินใจทิ้งฝันของตัวเอง ด้วยการสละตั๋วโอลิมปิกที่เฝ้ารอมาตั้งชีวิต เพียงเพราะต้องการแสดงต่อต้านการรัฐประหารในบ้านเกิด
เทต อู กล่าวว่า เขาจะไม่ยอมเป็นส่วนหนึ่งของขบวนพาเหรดในโอลิมปิก ภายใต้ธงชาติที่เปื้อนเลือดของประชาชน แถมยังทิ้งท้ายด้วยว่า อาจจะถึงเวลาแล้ว ที่ต้องกล่าวคำอำลาให้กับความฝันที่เฝ้ารอตลอด 2 ทศวรรษ
ด้านโซเชียลมีเดีย ก็เริ่มพ่นพิษใส่ ธูซาร์ อย่างหนัก เมื่อเธอยืนยันว่าจะไปแข่งขันโอลิมปิก 2020 ที่ญี่ปุ่น แต่กลับเป็นสิ่งที่ขัดใจผู้ต่อต้านรัฐบาลทหาร และต้องการให้ทุกภาคส่วน ร่วมยืนหยัดพร้อมกันไป โดยไม่มีใครแตกแถว
“ฉันจะไม่เชียร์คุณอีกต่อไป หากคุณเลือกที่จะไม่เข้าร่วมขบวนการต่อต้าน”, “เราชาวเมียนมา ไม่ได้รู้สึกภูมิใจตัวคุณแล้ว”, “ตอนนี้เราไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น นอกจากการขับไล่เผด็จการออกจากอำนาจ”....
นี่คือส่วนหนึ่งในข้อความทางโซเชียลมีเดีย ที่ตัดสินใจขับไล่เธอออกจากแนวร่วม เพียงเพราะ ธูซาร์ ยังถือตั๋วโอลิมปิกอยู่ในมือ
ข้อความดังกล่าว ดูจะโหดร้ายกับผู้หญิงตัวเล็กๆ ในวัย 22 ปีอยู่ไม่น้อย เพราะถ้ามองย้อนกลับไปเมื่อราว 16 เดือนก่อน เธต ทาร์ ธูซาร์ ก็คือคนแรกๆ ที่ออกมาร่วมต่อต้านการยึดอำนาจของ อ่อง ซาน ซูจี ทั้งการลงถนนเพื่อประท้วง หรือการใช้โซเชียลมีเดียส่วนตัว ในการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์
ขณะที่การเดินทางไปยังญี่ปุ่น ในวันที่ 22 กรกฎาคมนี้ ธูซาร์ เอง ก็ได้รับการจับตามองจากหลายฝ่ายเช่นกันว่า เธอจะมีเซอร์ไพรส์อะไร ในระหว่างการแข่งขันหรือเปล่า เพื่อแสดงออกถึงการต่อต้านเผด็จการ
เพราะเมื่อราว 2 เดือนก่อน “ธูซาร์ วินท์ ลวิน” มิสยูนิเวิร์สของเมียนมา ก็ได้ใช้โอกาสสำคัญบนเวทีประกวดนางงามจักรวาล ในการร่วมแสดงออก เพื่อเรียกร้องให้ชาวต่างชาติ ยื่นมือช่วยเหลือเพื่อปลดปล่อยบ้านเกิดของตัวเอง ให้กลับมาสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด
แน่นอนว่าในโอลิมปิก มีข้อบัญญัติที่ชัดเจน เกี่ยวกับการห้ามแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ ตามกฎบัตรข้อที่ 50 ซึ่งว่าด้วยการห้ามแสดงข้อความ หรือโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ เกี่ยวกับการเมือง ศาสนา หรือเชื้อชาติ ตามสถานที่ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันโอลิมปิก
แต่อย่างไรก็ตาม กฎระเบียบทุกอย่าง ย่อมมีข้อยกเว้นเสมอ หากการแสดงออกนั้นส่งผลดีกับคนวงกว้าง...
อย่างเช่นในกรณีของ ทีมฟุตบอลหญิงสหราชอาณาจักร ที่ยืนยันว่าจะคุกเข่าก่อนเกม เพื่อต่อต้านการเหยียดผิวตามแคมเปญ "Black Lives Matter" ซึ่งเป็นแสดงออกในทิศทางบวก เพื่อให้สังคมเกิดความเท่าเทียม
นอกจากนี้ หลายฝ่ายยังคงจับตามองด้วยว่า เธต ทาร์ ธูซาร์ จะเป็นนักกีฬาจากแดนเจดีย์ทอง ที่ขอยื่นเรื่องลี้ภัยหรือไม่ หลังจบการแข่งขันโอลิมปิก 2020 เช่นเดียวกับเพื่อนร่วมชาติบางราย
เพราะถ้าย้อนกลับไป เมื่อราวเดือนเศษ “พเย เลียน อ่อง” ผู้รักษาประตูทีมชาติเมียนมา ก็เพิ่งยื่นเรื่องขอลี้ภัยในแดนปลาดิบ หลังจากที่เจ้าตัวชูสามนิ้ว ก่อนเกมฟุตบอลโลก 2022 รอบคัดเลือก ที่พบกับทีมชาติญี่ปุ่น
หลังจากการกระทำดังกล่าว นายทวารวัย 26 ปีรู้ดีว่า การกลับสู่มาตุภูมิในครั้งนี้ ชีวิตคงไม่เหมือนเดิมแน่ ทำให้แสดงความตั้งใจที่จะขอลี้ภัยชั่วคราว เพื่อรอให้สถานการณ์ในเมียนมาสงบลง ก่อนเดินทางกลับสู่อ้อมกอดของแผ่นดินแม่อีกครั้ง
ดูเหมือนว่า “เธต ทาร์ ธูซาร์" จะถูกตัดสินจากคนในชาติเร็วเกินไป เพียงเพราะสถานะของเธอในนี้ ทั้งที่หลายคนคงลืมไปแล้วว่า นี่คือผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ที่เป็นความภาคภูมิใจของคนทั้งชาติ ในการออกไปประกาศศักดาบนเวทีโลก
และที่สำคัญ “เธต ทาร์ ธูซาร์" น่าจะเป็นเพียงไม่กี่คนในชั่วโมงนี้ ที่สามารถคืนความสุขและรอยยิ้มให้กับเพื่อนร่วมชาติได้ ในยามที่หลายคนกำลังสิ้นหวังและท้อแท้ กับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ของเมียนมา ในปัจจุบัน.
เรื่อง : สุภาพบุรุษพุงตึง
ภาพจาก : IG _thethtarthuzar_