ไทยรัฐออนไลน์
ย้อนรอยเหตุการณ์ "ริโอ 2016" (ประเทศบราซิล) ถึง "โตเกียว 2020" (ประเทศญี่ปุ่น) สองการประท้วงจากประชาชนต่างวาระบนความปรารถนาเดียวกัน
วันที่ 8 ก.ค. 64 ย้อนรอยเหตุการณ์ "ริโอ 2016" (ประเทศบราซิล) ถึง "โตเกียว 2020" (ประเทศญี่ปุ่น) สองการประท้วงจากประชาชนที่แม้จะต่างวาระต่างสถานที่แต่อยู่บนความปรารถนาเดียวกันนั่นคือ เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประชาชนบนพื้นฐานของความถูกต้อง และนี่คือการไล่เรียงย้อนรอยเหตุการณ์ของทั้งสองเหตุการณ์นี้อีกครั้ง
เริ่มต้นที่ "ริโอ 2016" ณ ประเทศบราซิล นี่คือเหตุการณ์การประท้วงที่ขึ้นอาจชื่อว่าอื้อฉาวเลยก็ว่าได้เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ไม่พอใจกับการที่รัฐบาลถลุงงบประมาณมหาศาลไปกับการจัดแข่งมหกรรมกีฬาโอลิมปิกมากเกินไป โดยเฉพาะสนามกอล์ฟที่ต้องสร้างโดยใช้พื้นที่ราวๆ 100-200 ไร่ ทั้งๆ ที่ประเทศกำลังประสบปัญหาหลายด้าน โดยเฉพาะประชาชนที่ยากไร้และยังไม่ได้ถูกแก้ไขด้วยแนวทางที่ควรจะเป็น
นั่นทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ประชาชนพยายามขัดขวางขบวนคบเพลิงอยู่หลายครั้งในแต่ละเส้นทาง ทั้งการสาดน้ำ, การพยายามขโมยคบเพลิง, การขว้างปาสิ่งของเพื่อปั่นป่วนซึ่งเหตุการณ์ทวีความรุนแรงมากขึ้นจนบานปลายกลายเป็นเหตุจราจลทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจำเป็นต้องใช้กำลังเพื่อเข้าสลายกลุ่มผู้ประท้วงให้ยุติโดยเร็วที่สุด
นอกจากนี้บางแห่งยังมีการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ประท้วงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจนเกิดความโกลาหลถึงขั้นที่เจ้าหน้าที่ฯ ต้องใช้แก๊สน้ำตารวมถึงกระสุนยางในการระงับเหตุ แต่อย่างไรก็ตามท้ายที่สุดแล้วขบวนวิ่งคบเพลิงที่เจออุปสรรคมาตลอดเส้นทางก็เดินสู่จุดหมายได้สำเร็จ
ขณะที่ "โตเกียว 2020" ณ ประเทศญี่ปุ่น อาจไม่รุนแรงเท่าที่ ริโอ 2016 แต่ก็มีกลุ่มผู้ประท้วงออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกหรือเลื่อนมหกรรมครั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ "โควิด-19" ที่กลับมาระบาดอีกระลอกหลังจำนวนผู้ติดเชื้อสูงขึ้นจนแตะหลัก 2,000 คนในวันนี้ พร้อมกับค่าเฉลี่ยในรอบหนึ่งสัปดาห์ที่เฉียด 1,700 คน
ประชาชนบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับการขบวนวิ่งคบเพลิงเพราะหวั่นว่าจะเกิดการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ออกมาพยายามขัดขวางขบวนวิ่งคบเพลิง ซึ่งมีทั้งการสาดน้ำ, การใช้ปืนฉีดน้ำเข้าไปคบเพลิง รวมถึงการพยายามเข้าไปแย่งคบเพลิงอันเป็นสัญลักษณ์ของโอลิมปิก เรียกได้ว่าเกิดความโกลาหลขึ้นมาเนืองๆ
นั่นจึงทำให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเข้ามาระงับเหตุการณ์ที่อาจจะบานปลายไปมากกว่านี้ โดยมีรายงานว่าผู้ประท้วงบางคนถูกจับจากข้อหาพยายามขัดขวางการวิ่งคบเพลิงในครั้งนี้ ซึ่งจากผลกระทบที่เจอดังกล่าวทำให้มีการยกเลิกเส้นทางวิ่งในเส้นทางสาธารณะในกรุงโตเกียวและเหลือไว้เพียงแค่เส้นทางที่หมู่เกาะโอกาซาวาระเท่านั้น ขณะที่พิธีจุดคบเพลิงในพิธีเปิดโอลิมปิก วันที่ 23 กรกฎาคม จะใช้การถ่ายทอดสดแทนและจะจำกัดผู้เข้าร่วมที่สำคัญจริงๆ เท่านั้น.