ซูม
ก่อนที่จะเขียนถึงเรื่องราวในประเด็นที่พาดหัวไว้ในวันนี้ ผมขอร่วมแรงร่วมใจกับพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่าที่กำลังสวดมนต์ภาวนาขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แต่ละคนนับถือ โปรดดลบันดาลประทานพรแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ ให้ทรงหายจากพระอาการประชวรที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน นำมาซึ่งความตกใจและห่วงใยยิ่งของปวงชนชาวไทยในขณะนี้
ขอ “พระองค์ภาฯ” ผู้ทรงเป็นที่รักและเทิดทูนยิ่งของปวงชนชาวไทย จงทรงมีพระพลานามัยที่แข็งแรงกลับมาทรงงานหลายๆประการอันทรงคุณค่าอย่างยิ่งแก่พสกนิกรในเร็ววันด้วยเทอญ
สำหรับข้อเขียนของผมที่ได้เตรียมไว้วันนี้ ยังคงเป็นเรื่องราวของ “ฟุตบอลโลก 2022” ที่กว่าต้นฉบับของผมจะได้ลงตีพิมพ์นั้น คู่ชิงแชมป์ระหว่าง “อาร์เจนตินา-ฝรั่งเศส” คงจะจบลงแล้ว
ไม่ว่าทีมใดทีมหนึ่งจะเป็นผู้ชนะก็ตาม ผมก็ขออนุญาตที่จะแสดงความยินดีล่วงหน้าไว้ ณ ที่นี้ด้วยก็แล้วกัน
ประเด็นที่จะเขียนถึงนั้นเกี่ยวกับทีม “โมร็อกโก” ที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งจนเป็นที่ชื่นชมของชาวโลกดังที่ผมเองก็เคยเขียนแสดงความชื่นชมไว้แล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน
การกลับไปถอดรหัส “โมร็อกโกโมเดล” ดูว่าทีม “สิงโตแอตลาส” สามารถกรุยทางมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร? จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
จริงๆแล้ว “สูตรสำเร็จ” สูตรหนึ่งที่โมร็อกโกนำมาใช้ก็คือ การไปขอแรงนักเตะโมร็อกโกที่ไปเล่นฟุตบอลในต่างแดนตามสโมสรต่างๆให้กลับมาช่วยประเทศของตนนั่นเอง
แต่ของโมร็อกโกนั้นทำได้ลึกซึ้งกว่าและกว้างขวางกว่า เพราะสามารถดึงนักเตะ “เชื้อชาติ” โมร็อกโกที่ไปเกิดต่างแดน โตต่างแดน และกลายเป็นนักฟุตบอลในประเทศที่พวกเขาไปเกิด...ให้กลับมารับใช้ชาติได้ด้วยจำนวนหนึ่ง
ดังจะเห็นจากบรรดาผู้เล่นของโมร็อกโกกว่าครึ่งทีมที่เป็นเด็กโมร็อกโกที่ไปเกิดและโตต่างแดน รวมทั้งเล่นฟุตบอลในต่างแดนจนมีชื่อเสียงอยู่พอสมควรแล้ว
ยกตัวอย่าง เช่น ฮาคิม ซีเย็ค มิดฟิลด์ตัวรุก หนึ่งในดาราของโมร็อกโกที่เกิดที่ เนเธอร์แลนด์ เล่นบอลในเนเธอร์แลนด์ถึงขั้นได้เล่นในทีม เอเล็กซ์ อันมีชื่อเสียง ก่อนจะโยกมาเล่นให้กับ เชลซี
รวมถึง อัชราฟ ฮาคิมี ที่เกิดในสเปนโตในสเปน เล่นบอลในสเปนก่อนย้ายไปเล่นกับ ปารีส แซงต์ แชร์กแมง ทีมดังของฝรั่งเศส...หรืออย่าง โซฟียาน อัมราบัต ที่โดดเด่นมากอีกคนก็เกิดที่เนเธอร์แลนด์โตที่เนเธอร์แลนด์ ปัจจุบันไปเล่นบอลให้เวโรนา ฯลฯ
คำถามจึงเกิดขึ้นว่าทำไมจึงมีเด็กโมร็อกโกในต่างแดนให้เลือกมากมาย เช่นนี้? ซึ่งคำตอบก็ต้องย้อนไปถึงช่วงเวลาอันยาวนานว่าด้วยการอพยพเข้าสู่ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะการไปเป็นแรงงานรับจ้างในยุโรปนั่นเอง
มีหลักฐานว่าคนโมร็อกโกเริ่มหลั่งไหลอพยพจำนวนมหาศาลจากประเทศตนไปทำงานรับจ้างในยุโรปต่างๆ ตั้งแต่ต้น ค.ศ.1960 หรือ พ.ศ.2503 เป็นต้นมา หรือเมื่อประมาณ 60 ปีเศษๆที่แล้ว
จนทุกวันนี้ประมาณการไว้ว่ามีคนโมร็อกโกไปอยู่ที่ฝรั่งเศสกว่า 1 ล้านคน ไปอยู่สเปนกว่า 760,000 คน ไปอยู่ อิตาลี กว่า 400,000 คน ไปอยู่ เนเธอร์แลนด์ กว่า 360,000 คน และไปอยู่เบลเยียมประมาณ 300,000 คน
ไปรวมตัวเป็นชุมชนใหญ่อยู่ในแต่ละประเทศที่ว่านี้
เด็กที่เกิดที่โน่นต่างก็เติบโตไปพร้อมๆกับเด็กของประเทศนั้นๆ ชอบเล่นกีฬาเหมือนเด็กในประเทศนั้น จึงมีเด็กโมร็อกโกจำนวนมากที่ได้เล่นบอลอาชีพของประเทศต่างๆ
แม้แต่โค้ช วะลิด เรกรากุย ก็เป็นเด็กลูกชาวโมร็อกโกอพยพในฝรั่งเศส เติบโตมาเล่นบอลให้กับหลายๆสโมสรของฝรั่งเศส...ก่อนจะกลับไปเตะให้ทีมชาติโมร็อกโกถึง 45 ครั้ง และกลับไปเป็นโค้ชคนปัจจุบัน
ไทยเราเองก็เคยใช้สูตรไปตามหาเด็กไทยที่เกิดเมืองนอก และเล่นบอลเมืองนอก ให้กลับมาช่วยชาติได้หลายคน
แต่เผอิญของเรายังไม่กล้าแกร่งเท่าของโมร็อกโก เพราะเล่นฟุตบอลสโมสรเล็กๆเท่านั้น...ทีมฟุตบอลไทย หรือทีม “ช้างศึก” ของเราจึงยังลุ่มๆดอนๆอย่างที่เห็นอยู่ในขณะนี้
ก็อย่าไปคิดอะไรมากเลยครับ ขอให้สู้ต่อไปหาโมเดลใหม่ๆกันต่อไป... ฟุตบอลโลกน่าจะยังแข่งกันไปอีกนาน อย่าเพิ่งท้อแท้นะครับ มาดามแป้ง!
แฮ่ม! ถือโอกาสฝากความหวังไว้กับมาดามแป้งซะเลย เพราะ ฝากมาแล้วหลายคน ปรากฏว่าไปไม่รอดทั้งนั้น รวมทั้ง “คนนั้น” ด้วย!
“ซูม”