หน้าแรกแกลเลอรี่

ฉาวอีกแล้ว ผู้จัดงานฟุตบอลโลก 2022 กาตาร์ ยอมรับ "แรงงาน" ถูกเอาเปรียบ

ไทยรัฐออนไลน์

7 เม.ย. 2565 15:54 น.

องค์กรสิทธิมนุษยชน แฉเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในกาตาร์ เจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 ถูกบังคับทำงานเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด

วันที่ 7 เม.ย. 65 หลังการจับสลากฟุตบอลโลก 2022 รอบแบ่งกลุ่ม ผ่านมาได้ไม่กี่วัน องค์กรสิทธิมนุษยชน ก็ออกมาแฉว่า มีแรงงานข้ามชาติกว่า 34 คนจากบริษัทรักษาความปลอดภัย 8 แห่ง ทำงานโดยไม่มีวันหยุดติดต่อกันหลายเดือน เนื่องจากนายจ้างไม่ให้วันหยุดประจำสัปดาห์ตามที่กฎหมายกาตาร์กำหนด และคนงานที่หยุดจะถูกลงโทษด้วยการหักค่าจ้างตามอำเภอใจ

ทั้งนี้ กฎหมายกาตาร์จำกัดชั่วโมงการทำงานรายสัปดาห์ไว้สูงสุด 60 ชั่วโมง ซึ่งรวมถึงการทำงานล่วงเวลาด้วย โดยคนงานมีสิทธิได้รับวันหยุดเต็มจำนวนหนึ่งวันต่อสัปดาห์ แต่ แอมเนสตี้ อ้างว่า เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 29 คนจาก 34 คนที่พวกเขาคุยด้วยเล่าว่า พวกเขาทำงาน 12 ชั่วโมงต่อวัน และมี 28 คนกล่าวว่าพวกเขาถูกปฏิเสธไม่ให้หยุดงาน ซึ่งหมายความว่ามีแรงงานหลายคนทำงาน 84 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

อย่างไรก็ตาม ผู้จัดงานฟีฟ่าและฟุตบอลโลกคณะกรรมการสูงสุดด้านการส่งมอบและมรดก (SC) ตัดสินใจไม่ต่อสัญญากับบริษัท 3 แห่งที่ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดระหว่างการแข่งขันชิงแชมป์สโมสรโลกปี 2020 และการแข่งขันอาหรับคัพปี 2021 โดยระบุว่า “การละเมิดเหล่านี้เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และนำไปสู่การบังคับใช้มาตรการต่างๆ รวมถึงการกำหนดให้ผู้รับเหมาอยู่ในรายการเฝ้าระวังหรือบัญชีดำ เพื่อป้องกันไม่ให้พวกเขารับงานของโครงการในอนาคต รวมถึงฟีฟ่าเวิลด์คัพด้วย”

นอกจากนี้ หัวหน้าฝ่ายความยุติธรรมด้านเศรษฐกิจและสังคมของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า "ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ฟุตบอลโลก ฟีฟ่าต้องมุ่งเน้นไปที่การคุมเข้มมากขึ้นเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิแรงงาน และใช้อำนาจกดดันกาตาร์ให้ดำเนินการปฏิรูปและ บังคับใช้กฎหมาย อย่างเร็วที่สุด"

ผู้จัดงานฟีฟ่าและฟุตบอลโลก ยืนยันว่า “ตั้งแต่ปี 2014 SC มุ่งมั่นที่จะปกป้องสุขภาพ ความปลอดภัย และความมั่นคงของผู้ปฏิบัติงานในโครงการฟุตบอลโลกอย่างเป็นทางการ เราควบคุมมาตรฐานสวัสดิการแรงงานที่มีผลผูกพันตามสัญญา ซึ่งได้รับการตรวจสอบและบังคับใช้อย่างขยันขันแข็ง ตามมาตรฐานสากล แต่ก็มีนายจ้างที่พยายามแหกกฎโดยไม่คำนึงถึงระเบียบหรือการตรวจสอบที่เข้มงวด เรามุ่งมั่นที่จะแก้ไขและแก้ไขการละเมิดมาตรฐานของเราผ่านกลไกการบังคับใช้ของเรา”

ทั้งนี้ ผลการตรวจสอบสวัสดิการของคนงาน ปรากฏว่ามีผู้รับเหมาที่ลงทะเบียนกับกระทรวงแรงงาน 391 แห่ง โดยมี 50 บริษัทถูกยกเลิกสัญญา และมี 7 บริษัทถูกขึ้นบัญชีดำ ส่วนคนงานได้รับเงินค่าจัดหางานคืน.