หน้าแรกแกลเลอรี่

'บุญเลิศ' ตั้งเป้า! ทัพไทยซิวทองติดมือ ศึกเดฟลิมปิกฯ ครั้งที่ 23

ไทยรัฐออนไลน์

12 พ.ค. 2560 21:30 น.

ทัพนักกีฬาคนหูหนวกทีมชาติไทย เตรียมเข้าร่วมการแข่งขันรายการ มหกรรมกีฬาเดฟลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 23 ระหว่างวันที่ 18-30 กรกฎาคม 2560 ณ เมืองแซมซัน ประเทศตุรกี โดยทางนายกสมาคมกีฬาคนหูหนวกฯ มั่นใจมีเหรียญทองติดมือแน่...


มหกรรมกีฬาเดฟลิมปิกเกมส์ นั้นเป็นมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่และมีความสำคัญเทียบเท่ามหกรรมกีฬาโอลิมปิก และมหกรรมกีฬาพาราลิมปิก โดยมีกำหนดจัดการแข่งขันทุกๆ 4 ปี ตามข้อกำหนดของ ICSD มีประเทศสมาชิกเข้าร่วมการแข่งขันกว่า 100 ประเทศ จำนวนนักกีฬาคนหูหนวกและเจ้าหน้าที่อาสาสมัครกว่า 3,000 คน และมีการประชาสัมพันธ์ไปยังสื่อต่างๆ ตามมาตรฐานสากลโลก ทั้งนี้ สมาคมกีฬาคนหูหนวกแห่งประเทศไทยได้พิจารณาคัดเลือกนักกีฬาคนหูหนวกเข้าร่วมการแข่งขันในมหกรรมกีฬาดังกล่าว โดยมุ่งเน้นในการสร้างผลงานสู่ความเป็นเลิศและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย ตามแผนยุทธศาสตร์ของทางสมาคมฯ ที่จะสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ในระดับโลกและพัฒนา กิจกรรมกีฬาของคนหูหนวกในประเทศไทยอย่างยั่งยืนต่อไป ครั้งนี้ได้จัดส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันทั้งสิ้น 6 ประเภท ดังนี้ 1.กีฬาโบว์ลิ่ง (ประเภทเดี่ยว/คู่) ชาย 2 คน 2.กีฬาแบดมินตัน (ประเภทเดี่ยว/คู่) ชาย 2 คน 3.กีฬาเทเบิลเทนนิส (ประเภทเดี่ยว/คู่) ชาย 2 คน 4.กีฬาเทควันโด (ประเภทต่อสู้) ชาย 1 คน 5.กีฬาคาราเต้ (ประเภทท่ารำ) ชาย 1 คน 6.กีฬากรีฑา (ประเภทระยะลู่/ลาน) ชาย 3 คน

นายบุญเลิศ ฆนาพรวรกาญจน์ นายกสมาคมกีฬาคนหูหนวกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า "สมาคมกีฬาคนหูหนวกแห่งประเทศไทย มีนักกีฬาคนหูหนวกที่ลงทะเบียนฝึกซ้อมจำนวน 21 ประเภท และกำลังพัฒนากีฬาอีก 5 ประเภท ได้แก่ ฟุตซอล ฟุตบอล แบดมินตัน โบว์ลิ่ง วอลเลย์บอลชายหาด ส่วนที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ วอลเลย์บอล แบดมินตัน และบาสเกตบอล ในปีนี้ไทยกำลังเตรียมพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตซอลคนหูหนวกชิงแชมป์โลก รุ่นอายุ 18 ปี ครั้งที่ 1 โดยใช้งบจากภาครัฐและเอกชนกว่า 20 ล้านบาท ทั้งนี้อยากให้ภาครัฐและภาคเอกชนร่วมสนับสนุน คนพิการเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านกีฬาสู่ความเป็นเลิศ และบรรลุเป้าหมายในการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาระดับโลก"

"สมาพันธ์กีฬาคนหูหนวกโลกให้เหตุผลว่า นักกีฬาคนหูหนวกนั้นร่างกายเป็นปกติทุกอย่าง ยกเว้นหูที่ไม่ได้ยิน ซึ่งจุดนี้เป็นข้อเสียเปรียบเพียงอย่างเดียวสำหรับคนหูไม่ได้ยิน มหกรรมการแข่งขันกีฬาเดฟลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่นักกีฬาคนหูหนวกทีมชาติไทยได้ร่วมแข่งขันกีฬาและสื่อสารกันด้วยมือกับนักกีฬาคนหูหนวกชาติอื่นๆ ไม่ใช่ จัดการแข่งขันเพราะมีความสามารถทางร่ายกายด้อยกว่าคนปกติ ดังนั้น กฎ กติกา จึงต้องบังคับใช้เหมือนกันกับนักกีฬาคนปกติทุกประการ ซึ่งเราหวังที่จะคว้าเหรียญทองติดมือมาให้ได้ แม้รู้ว่าไม่ง่ายนักก็ตาม ยังไงก็ขอให้ชาวไทยทุกคนส่งกำลังใจให้นักกีฬาด้วยนะครับ"

ด้าน ศิริวัฒน์​ มาตยานุมัติ นักกีฬาแบดมินตันกล่าวว่า "ตอนนี้ความพร้อมของตนก็อยู่ที่ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์แล้ว ส่วนที่ยังต้องปรับปรุงอีกในตอนนี้คือเรื่องของน้ำหนักที่ยังเกินไปนิดหน่อย และการแข่งขันครั้งนี้ตนก็อายุ 34 ปีแล้ว ถือเป็นการแข่งทิ้งทวนทัวร์นาเมนต์นี้ก็ว่าได้ ก็หวังที่คว้าเหรียญทองให้ได้สักครั้ง หลังจากที่เคยคว้าเหรียญทองในประเภทเดี่ยวระดับเอเชียมาแล้ว"