หน้าแรกแกลเลอรี่

‘ดาร์บี้’ แนะว่าที่กุนซือช้างศึกต้องเข้าใจคนไทย-รับความกดดันให้ได้

ไทยรัฐออนไลน์

6 เม.ย. 2560 11:45 น.

"สตีฟ ดาร์บี้" อดีตมือขวากุนซือทีมชาติไทย หล่นทรรศนะในเชิงแนะนำว่าที่กุนซือช้างศึกคนใหม่ที่เป็นชาวต่างชาติ 5 ข้อ ไว้เป็นแนวทางในการปฏิบัติตัว หากมีโอกาสย้ายมาทำงานเมืองไทยในอนาคตอันใกล้...

วันที่ 6 เม.ย. สตีฟ ดาร์บี้ อดีตกุนซือทีมชาติไทย ชุดซีเกมส์ 2011 ที่ประเทศลาว และอดีตผู้ช่วยโค้ชทีมชาติไทยชุดใหญ่ ออกโรงแสดงทรรศนะพร้อมกับฝากข้อคิดถึงกุนซือต่างชาติคนต่อไป ของทัพช้างศึก 5 ข้อใหญ่ด้วยกัน ว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไร

โดย ดาร์บี้ ซึ่งผ่านร้อนผ่านหนาวในการทำงานย่านอาเซียนมาอย่างยาวนาน และเคียงข้างเฮดโค้ชทีมชาติไทยอย่าง ไบรอัน ร็อบสัน และ ปีเตอร์ รีด เผยผ่านเว็บไซต์กีฬาชื่อดังอย่าง www.espnfcasia.com ว่า กุนซือช้างศึกคนต่อไปที่อาจเป็นชาวต่างชาติ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำจำนวน 5 ข้อ ได้แก่

1.การรู้จักเรียนรู้วัฒนธรรมของไทย เพราะสังคมไทยมีข้อควรปฏิบัติบางอย่างที่ต้องจัดการเป็นพิเศษ เช่น การไม่ควรตำหนิหรือตักเตือนผู้เล่นในที่สาธารณะ แต่ควรเป็นการส่วนตัว เพราะอาจทำให้นักเตะเกิดการ “เสียหน้า” ซึ่งจะทำให้ไม่ได้รับการสนับสนุนอีกต่อไป

2.เคารพในอำนาจของสื่อมวลชนไทย โดย ดาร์บี้ ได้บอกเอาไว้ว่า จากประสบการณ์ตรงที่สื่อมวลชนมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการทำงานเป็นอย่างมาก ซึ่งสามารถบ่งชี้ถึงความอยู่รอดในการทำงานได้เลยทีเดียว

3.ทำให้นักเตะไทยกลายเป็นผู้เล่นที่ดีที่สุดของอาเซียน อดีตมือขวากุนซือทีมชาติไทยเปรยว่า นักเตะไทยมีเทคนิคและพรสวรรค์ที่ยอดเยี่ยม รวมถึงมีการทำงานหนักทั้งในและนอกสนาม ดังนั้นโค้ชจึงต้องพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้นักเตะเหล่านั้นมีฝีเท้าพัฒนาขึ้นไปจากเดิม

4.จัดการกับความคาดหวังที่เกินจริง โดย ดาร์บี้ ได้ยกตัวอย่างการทำงานของ ซิโก้ ที่ถึงแม้จะช่วยให้ทีมชาติไทยกลับมาครองแชมป์ซีเกมส์อีกครั้ง, แชมป์ซูซูกิ คัพ อีก 2 สมัย และเป็นชาติเดียวในอาเซียนที่ผ่านมาเข้าสู่รอบคัดเลือก รอบสุดท้ายฟุตบอลโลก แต่กลับต้องกระเด็นออกจากตำแหน่ง เพราะผลการแข่งขันที่ไม่เป็นใจแค่ไม่กี่นัด

5.นำสตาฟฟ์ของตัวเองเข้ามาร่วมทีม ดาร์บี้ ชี้ว่า โค้ชใหม่ควรนำเอาผู้ช่วยทีมชาติที่มีความซื่อสัตย์และความไว้วางใจ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีม โดยอ้างอิงจากประสบการณ์ตรงก่อนหน้านี้ ที่สตาฟฟ์บางรายซึ่งถูกแต่งตั้งโดยสมาคมฯ ไม่สามารถช่วยงานได้อย่างเต็มที่ แถมยังทำให้การทำงานยุ่งยากขึ้นไปอีกด้วย.